กระทรวงมหาดไทยยกระดับต่อต้านการทุจริต “โปร่งใส ตรวจสอบได้”

วันที่ 28 ส.ค. 66  เวลา 08.30 น. ที่ ห้องกรุงเทพ บอลล์รูม โรงแรมเดอะ รอยัลซิตี้ เขตบางพลัด  กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบของกระทรวงมหาดไทย และบรรยายพิเศษ “มท. กับการขับเคลื่อนยกระดับต่อต้านการทุจริต” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะวิทยากร เจ้าหน้าที่ และผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 230 คน ร่วมรับฟัง

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “การต่อต้านการทุจริต” เป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดและต่อเนื่อง เพราะเป็นการบ่อนทำลายระบบราชการ ทำลายประเทศชาติ และทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายอย่างชัดเจนว่า ข้าราชการทุกคนต้องทำงานโดยยึดหลัก “ธรรมาภิบาล” หรือ Good Governance เพื่อทำให้เกิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เกิดระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ถูกต้องตามขั้นตอนระเบียบกฎหมาย และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนด โดยที่ผ่านมานั้นต้องขอชื่นชมพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวมหาดไทยทุกท่าน ที่ได้ร่วมกันนำเอาสิ่งที่ดีจากการแลกเปลี่ยนมุมมองในแต่ละปีกลับไปยกระดับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานของพวกเรา จนเรียกได้ว่ากลไกมหาดไทยทุกระดับมีความเข้มงวดในเรื่องของการทำงานเพื่อไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น ทั้งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกฎหมาย และการทุจริตอื่น ๆ เพราะพวกเราทุกคนเล็งเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า หากเกิดการทุจริตขึ้น เฉกเช่นที่เห็นในสื่อต่าง ๆ ว่ามีการทุจริตภาครัฐเกิดขึ้นจำนวนมากและมีบางกรณีที่มีสาเหตุเกิดมาจากหน่วยงานเอกชน “ผลกระทบที่เกิดขึ้น” ส่งผลโดยตรงกับพี่น้องประชาชนผู้เสียภาษีอากร ส่งผลต่อพี่น้องประชาชนผู้ใช้บริการ ที่ไม่ได้กระทบแค่เรื่องงบประมาณตัวเงินเท่านั้น แต่มันรวมถึงเรื่องเวลาที่อาจจะทำให้พี่น้องประชาชนต้องเสียประโยชน์อีกด้วย จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันระดมความคิด ประมวลรวบรวมคำแนะนำ และข้อเสนอแนะร่วมกับผู้เข้าร่วมสัมมนาและคณะวิทยากร เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในหน่วยงานของเรา ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเรื่องการทำงานให้ทันเวลา ทั้งในเรื่องการใช้บริการและการรับประโยชน์ต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชน

“วันนี้พวกเราได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีองค์ความรู้และปฏิบัติงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งข้อคิดและประสบการณ์จากการทำงานที่ผ่านมาจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการร่วมแลกเปลี่ยนนำไปสู่การยกระดับการทำงานของกระทรวงมหาดไทย รวมไปถึงทุกองค์กรของประเทศไทย ซึ่งการสัมมนาที่ดีต้องเป็นการสื่อสารแบบ 2 ฝ่าย (Two-way Communication) ที่ทุกคนต้องช่วยกันคิดพิจารณา เอาประสบการณ์จากการทำงาน และนำเอาสิ่งที่สงสัย มาแลกเปลี่ยนแนวทางป้องกันการทุจริตร่วมกัน และอีกประการที่สำคัญ ต้องมีหัวใจนักปราชญ์ (สุ จิ ปุ ลิ ) ที่ไม่เพียงแค่เข้าร่วม แต่ต้อง “มุ่งมั่น ตั้งใจ” ทั้งการฟัง คิด จด เพื่อนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในพัฒนาและยกระดับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมไปถึงการทำสิ่งที่ดี ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐมีประสิทธิภาพด้วย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า กระทรวงมหาดไทย มีการทำงานร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายมากมาย โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวกับการปราบปรามทุจริต ทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) รวมถึงภาคีเครือข่ายองค์กรภาคเอกชน เพื่อทำให้พวกเราได้ “มีทีม” ในการประกาศสงครามกับการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ และยังเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ ส่งเสริมให้คนในหน่วยงานปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลอย่างสม่ำเสมอ จึงถือเป็นการ Change for Good ให้กับหน่วยงานของเรา นอกจากนี้ ภาคประชาชนก็เป็นอีกหนึ่งภาคีเครือข่ายสำคัญ ที่จะเป็นหลักประกันว่า การทำงานของเรามีความโปร่งใส มีหลักธรรมาภิบาลและประพฤติโดยชอบ ซึ่งปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นในภาครัฐนั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการป้องกันการทุจริต รวมถึงการศึกษาระเบียบกฎหมายและดำเนินการตามอย่างเคร่งครัด

“ขอขอบคุณภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะวิทยากรจากสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งวันนี้มาเป็นวิทยากรให้กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อสนับสนุนให้พวกเราทำงานได้อย่างปลอดภัยและสบายใจ ขอให้การสัมมนาครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และขอให้พวกเรามีความสุขกับการมาใช้ชีวิตร่วมกัน ได้กลับไปทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผน ช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น ความศรัทธานับถือของประชาชน ว่าพวกเราชาวมหาดไทยไม่ข้องเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ มุ่งมั่นทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีธรรมาภิบาล ซึ่งยังผลประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน และเป็นความสุขทางใจของพวกเราที่ได้ทำหน้าที่ในฐานะ “ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ที่ได้ทำสิ่งที่ดี ก่อเกิดประโยชน์อันมหาศาลและไพบูลย์ต่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

นางสาวภัทรีพันธุ์ พัดใส ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต มท. กล่าวว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรในสังกัดมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการขับเคลื่อน STRONG-องค์กรพอเพียงต้านทุจริต และสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากองค์กรต้นแบบไปขยายผลการดำเนินงานในหน่วยงาน มุ่งการรวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในการส่งเสริมคุณธรรม ดูแลองค์กรให้มีการปฏิบัติงานอย่างโปร่งใส ปลอดจากสินบนและการทุจริต นอกจากนี้การสัมมนาในครั้งนี้จะมีการทบทวน วิเคราะห์ ถอดบทเรียนผลการดำเนินงานการประเมินความเสี่ยงการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในปี 2566 และเตรียมความพร้อม ในการประเมินความเสี่ยงการทุจริต ในปี 2567 รวมทั้งสรุปบทเรียนและแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA) ของกระทรวงมหาดไทย

“การสัมมนาในครั้งนี้ กำหนดจัดขึ้น 2 วัน ในวันที่ 28 – 29 สิงหาคม 2566 สำหรับกิจกรรมในวันแรก ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. ทีมวิทยากรสำนักงาน ป.ป.ช. และผู้แทนหน่วยงานที่เป็นต้นแบบการดำเนินการขับเคลื่อน STRONG-องค์กรพอเพียงต้านทุจริต โดยช่วงเช้า เป็นการอภิปรายให้ความรู้ในหัวข้อ “STRONG-องค์กรพอเพียงต้านทุจริต แนวคิดสู่ความโปร่งใส ไร้สินบน” และการเสวนาในหัวข้อ “ถอดบทเรียนการขยายผลชมรม STRONG-องค์กรพอเพียงต้านทุจริต” และในช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยจัดทำโครงการ/กิจกรรม เพื่อขับเคลื่อนชมรม STRONG-องค์กรพอเพียงต้านทุจริต และกิจกรรมในวันที่สอง ได้รับเกียรติจากทีมวิทยากรสำนักงาน ป.ป.ท. อภิปรายให้ความรู้ ถอดบทเรียนการประเมินความเสี่ยงการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และบรรยายทบทวนและถอดบทเรียนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) มีผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ประกอบด้วย บุคลากรของส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค รวมถึงกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา จำนวน 230 คน” นางสาวภัทรีพันธุ์ พัดใส ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต มท. กล่าว

Leave a Reply