“วัด ประชารัฐ สร้างสุข” อำเภอเมืองกาญจนบุรี หนุน “ผู้นำนักเรียนและภาคีเครือข่าย” ขับเคลื่อนงานจิตอาสาร่วมพัฒนาวัด 

วันที่ 23 พ.ค. 66  วานนี้  ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า “ประชาชนมีคุณภาพ สภาพแวดล้อมดี” เป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ที่สำคัญของจังหวัดกาญจนบุรี ที่มีพันธกิจในการมุ่งพัฒนาทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม และคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั่วถึง และยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกระทรวงมหาดไทยที่ว่า “ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนเข้มแข็ง เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน บนฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการมุ่งเสริมสร้างพลังการมีส่วนร่วมของ “ทีมงาน” ทั้งทีมทางการ คือ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ตลอดจนองคาพยพของภาครัฐ ทั้งท้องที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทีมจิตอาสา อันได้แก่ ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคผู้นำวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า “ต้องพัฒนาพี่น้องประชาชนเพื่อให้พี่น้องประชาชนร่วมพัฒนาพื้นที่เพื่อให้พื้นที่ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดังเจตนารมณ์ที่จังหวัดกาญจนบุรีได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์กับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ที่มุ่งทำให้พื้นที่ได้รับการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ทั้ง 17 ข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเป้าหมายข้อที่ 17 การสร้างพลังหุ้นส่วน (Partnership) ตามธรรมชาติ ตามวิถีชีวิตของคนไทย ตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยพลัง “บวร” คือ บ้าน วัด ราชการ และโรงเรียน เพื่อทำให้สิ่งดี ๆ ที่เกิดจากการระดมสรรพกำลังในพื้นที่ได้รับการถ่ายทอดสู่เด็ก เยาวชน ลูกหลาน ของคนกาญจนบุรี ให้เห็นสิ่งที่ดีและเป็นต้นแบบให้พวกเขาสามารถเติบโตมาเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ใช้ความรู้ ความสามารถ เพื่อทำให้กาญจนบุรีเป็นเมืองแห่งความสุขที่ทำให้ประชาชนมีความสุข

“จังหวัดกาญจนบุรี ได้นำแนวทางตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อน “โครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม โดยมุ่งปลุกพลังความรู้รักสามัคคี ความเอื้ออาทร มุ่งพัฒนาวัดและชุมชนเป็นศูนย์การเรียนรู้ การพัฒนาจิตใจ สู่การจัดการสิ่งแวดล้อมของวัดและชุมชนอย่างยั่งยืน สร้างสัปปายะสู่วัด ด้วยหลักพุทธธรรม วิถี 5ส บนฐานชีวิตใหม่ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม โดยหนึ่งในแนวทางการสร้างวัดให้เป็นสัปปายะสถาน หรือการมีสภาพที่เกื้อหนุนต่อการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้ได้ผลดีนั้น คือ “การพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพ” ของวัดและชุมชนให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม “การพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้” ของวัดและชุมชนด้วยวิถีวัฒนธรรมเชิงพุทธ และ “พัฒนาพื้นที่ จิตใจ และปัญญา” ของวัดและชุมชนตามแนวพระพุทธศาสนา ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรี ได้รับเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระเทพปริยัติโสภณ เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี เจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม พระอารามหลวง ผู้เป็นหลักชัยนำพระสังฆาธิการ เจ้าคณะผู้ปกครองระดับต่าง ๆ ตั้งแต่รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส ได้เมตตาร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ตลอดจนข้าราชการ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ลุกขึ้นมาทำให้วัดวาอารามต่าง ๆ ในพื้นที่ ได้เป็นพื้นที่แห่งความสุขของประชาชน คือ เป็นแหล่งรวมสรรพวิชาเฉกเช่นวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่เมื่อครั้งบรรพบุรุษที่เรียกกันว่า “ครู คลัง ช่าง หมอ” เพื่อทำให้ประชาชนทุกช่วงวัยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางการหลอมรวมพลังกาย พลังใจของประชาชน” ร้อยโท ทศพลฯ กล่าว

ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวต่ออีกว่า จากแนวทางการขับเคลื่อนงาน “โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข” ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาของจังหวัดกาญจนบุรี ในวันนี้ จังหวัดกาญจนบุรีได้มอบหมายให้อำเภอเมืองกาญจนบุรี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองกาญจนบุรี ได้นำข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี กว่า 100 คน ได้แก่ สภานักเรียนและคณะนักเรียนวัดกาญจนบุรีเก่า “อุดมราษฎร์วิทยา”, กองพันทหารราบที่ 29, คณะกรรมการพัฒนาสตรี, คณะทำงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี, กลุ่มสตรีและผู้สูงอายุ ได้ร่วมกันดำเนินโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ณ วัดป่าเลไลยก์ ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยกิจกรรมที่ทุกคนได้ร่วมกันทำในวันนี้ คือ การร่วมกันกวาด ถู ทำความสะอาดภายในและภายนอกอุโบสถ ร่วมกันล้างห้องน้ำวัด ร่วมกันทำความสะอาด เก็บ กวาด เศษใบไม้ เก็บและคัดแยกขยะ บริเวณลานวัด เพื่อให้เกิดความรัก ความหวงแหน อนุรักษ์ และส่งเสริมไว้ซึ่งโบราณสถานและวัด อันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรม มรดกทางปัญญาของท้องถิ่นให้คงอยู่ เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ให้แก่นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ตลอดจนส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้กับประชาชนในพื้นที่และจังหวัดกาญจนบุรี และเพื่อสร้างความสามัคคีในชุมชนและประชาชนทุกภาคส่วนทำกิจกรรมร่วมกันบูรณาการร่วมกัน ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ที่เป็นการเริ่มต้นไปสู่ “ความยั่งยืน” นั่นคือ การเชิญชวนน้อง ๆ ผู้นำนักเรียน และกลุ่มนักเรียนระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดกาญจนบุรีเก่า “อุดมราษฎร์วิทยา” มาร่วมทำกิจกรรมกับผู้ใหญ่ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เรื่องการเป็นผู้มีจิตอาสา จิตสาธารณะแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังชีวิตวิถีไทย ทั้งเรื่องของหลักสัมมาคารวะ หลักการเคารพผู้อาวุโสกว่า หลักคิด ริเริ่มเป็น “ผู้นำที่ดี” มีความตระหนักและมีจิตสำนึกที่จะช่วยกันรักษาความสะอาด รวมทั้งเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยหลักการ “เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” อันจะทำให้น้อง ๆ กลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์และถึงพร้อมด้วยจรรยามารยาท ธรรมเนียมปฏิบัติตามหลักวิถีไทยและต่อยอดสู่การเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทยอย่างมีคุณภาพ

“จังหวัดกาญจนบุรีจะได้นำกิจกรรมในวันนี้เป็นตัวอย่างถ่ายทอดไปยังนายอำเภออีก 12 อำเภอ เพื่อส่งเสริมบทบาทของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ให้ลุกขึ้นมาเป็น “ผู้นำเด็กและเยาวชนที่ดี” ในการร่วมกับผู้ใหญ่ และหน่วยงานต่าง ๆ เสริมสร้างสิ่งที่ดีในชุมชน/หมู่บ้านของตนเอง โดยใช้ “วัด” หรือ “โบสถ์คริสต์” หรือ “มัสยิด” และศาสนสถานต่าง ๆ เป็นพื้นที่เป้าหมายในการร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม ตามเจตนารมณ์ของโครงการบ้าน วัด ประชา รัฐ สร้างสุข และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้ร่วมลงนามกับ UN ประจำประเทศไทย และกระทรวงมหาดไทย เพื่อทำให้สุดท้ายปลายน้ำ นั่นคือ ลูกหลานชาวกาญจนบุรีจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สภาพแวดล้อมที่ดี สังคมดี และคนเมืองกาญจน์ทุกคนจะมี “คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”” ร้อยโท ทศพลฯ กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply