บทพิสูจน์พุทธสันติวิธี! ศาลฎีกาตัดสินยืนคุก 4 ปี “เจนภพ” ขับชน 2 นิสิตสันติศึกษา “มจร”

ศาลฎีกาตัดสินยืน! คุก 4 ปี “เจนภพ” ขับชน 2 นิสิตสันติศึกษา “มจร” ผอ.หลักสูตรชี้ 4 ปีบทพิสูจน์การต่อสู้ด้วยพุทธสันติวิธี ฝ่ายจำเลย “โต้ง-เบนซ์”

วันที่ 3 มิ.ย. 2563 ตามที่ศาลจังหวัดพระนคศรีอยุธยาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่อัยการอยุธยาโจทก์ นายไพบูลย์ ถาวร กับพวกรวม 4 คน เป็นโจทก์ร่วม นายเจนภพ วีรพร จำเลย ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขับรถเบนซ์ รุ่นซีแอลเค สีดำ ทะเบียน ษง 3333 กรุงเทพมหานคร พุ่งชนท้ายรถเก๋งฟอร์ด เฟียสต้า ทะเบียน ฆย 6911 จนเกิดไฟไหม้ ทำให้นายกฤษณะ ถาวร (โต้ง) อายุ 32 ปี และ น.ส.ธันฐภัทร์ ฮ้อแสงชัย (เบนซ์) ซึ่งทั้ง 2 คนเป็นนิสิตปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกไฟคลอกเสียชีวิต 2 ศพ เหตุเกิดบนถนนพหลโยธิน กม.53 หมู่ 8 ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2559 โดยตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ โดยพิพากษาจำคุกนายเจนภพเป็นเวลา 4 ปี

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 3 และ 4 ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพิ่มโทษจำคุกจำเลย ต่อมา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2562 ลงโทษจำคุกจำเลย โดยแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้เพิ่มโทษตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 3 และ 4 อุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยฐานเสพเมทแอมเฟตามีนขับรถ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ลงโทษจำคุก 6 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้บางส่วน เหลือลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี ไม่รอลงอาญา

ศาลฎีกาพิเคราะห์ว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2559 จำเลยขับรถเบนซ์ ทะเบียน ษง 3333 กรุงเทพมหานคร ลงมาจากโทลเวย์อุตราภิมุข มาบนถนนพหลโยธิน ถึงบริเวณกม. 52+4000 แล้วชนกับรถฟอร์ด ทำให้ผู้โดยสาร ผู้ขับขี่ ถึงแก่ความตาย เห็นว่า แม้จำเลยขอลงโทษสถานเบา ให้เหตุผลว่าจบการศึกษาปริญญาโทจากต่างประเทศ เป็นกรรมการบริษัทต่างๆ ทำประโยชน์แก่สังคม บวชให้ผู้ตายนาน 2 เดือน 3 สัปดาห์ ไม่เป็นเหตุบรรเทาโทษ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเหมาะสมแล้ว พิพากษายืนเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าวว่า สำหรับคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวสันติศึกษา มจร โดยตรง เพราะโต้งนั้นก่อนวันเกิดเหตุสอบจบหลักสูตรปริญญาโท สาขาสันติศึกษาเป็นเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการนำวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ไปเข้าเล่ม เพื่อส่งบัณฑิตวิทยาลัย ขณะที่เบนซ์นั้นกำลังเตรียมตัวเดินไปจาริกบุญ ณ ดินแดนแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย ตามความฝัน

“วันที่ 13 มีนาคม 2559 นั้นยังเป็นวันเกิดของโต้ง ในขณะขับรถฟอร์ดเดินทางไปที่ มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา แต่ถูกรถเบนซ์ของนายเจนภพพุ่งชน จนเป็นให้รถพลิกคว่ำไฟครอกให้ทั้งคู่เสียชีวิตคารถของตัวเอง ขณะที่เอกสารวิทยานิพนธ์ปลิวว่อนออกจากตัวรถอีกส่วนหนึ่งถูกไฟไหม้ คนหนึ่งมิได้รับปริญญาโทตามที่ตั้งใจ ส่วนอีกคนหนึ่งไม่สามารถเดินทางไปกราบพุทธองค์ ณ แดนพุทธภูมิตามมุ่งหวัง สุดท้าย พระอาจารย์ และครอบครัวสันติศึกษา ได้นำกระดูกของเธอไปฝัง ณ สังเวชนียสถาน ประเทศอินเดียแทน” ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าวและว่า

พ่อแม่และญาติๆ จึงนำคดีขึ้นสู่ศาลสถิตย์ยุติธรรม แม้ฝ่ายจำเลยพยายามที่จะประนีประนอมทุกวิถีทาง แต่ฝ่ายโจทก์ไม่ยินยอมเพราะมุ่งจะให้คดีนี้เป็นเยี่ยงอย่างแก่กลุ่มคนที่เมาขาดสติและยังฝืนขับรถบนถนนจนเป็นเหตุให้คนอื่นเสียชีวิต ทนายความที่มีบทบาทสำคัญคือนายวิเชียร ชุบไธสง ได้ทำหน้าที่ว่าความให้อย่างกล้าหาญ โดยนำพยานเอกสาร พยานบุคคล และพยานแวดล้อมต่างๆ มานำเสนอให้ผู้พิพากษาได้พิจารณา ตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงศาลฏีกา จนในที่สุดเป็นเหตุให้ศาลฏีกาตัดสินจำคุก จำเลย 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา

พระมหาหรรษา กล่าวต่อว่า กระบวนการทางศาลถือได้ว่ากระบวนการสันติวิธีประการหนึ่ง อันเป็นกระบวนการจัดการข้อพิพาททางเลือก ที่โจทก์และจำเลยจะใช้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง แม้คดีนี้จะกินเวลา 4 ปี แต่ถ้ามุ่งเยียวยาจิตใจโจทก์ และใช้คุกเป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาเพื่อให้จำเลยได้เกิดการตระหนักรู้ดูตนเอง ก็อาจจะคุ้มค่าในสายตาของโจทก์ได้

ทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้ง และรุนแรง แทนที่เราจะใช้วิธีการตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพื่อชำระแค้นให้สาแก่ใจ เรายังมีกระบวนการจัดการข้อพิพาททางเลือกให้เราใช้สอยได้เช่นกัน เริ่มจากการเจรจากันเอง การไกล่เกลี่ย อนุญาโตตุลาการ และการใช้กระบวนการทางศาล

กระบวนการแก้แค้นโดยใช้ความรุนแรงโต้ตอบ มิอาจทำให้ปัญหาจบสิ้น มิหน่ำซ้ำจะยิ่งเติมเชื้อความรุนแรงให้เพิ่มมากขึ้น จองเวรกันมิรู้จักจบสิ้น แต่การใช้กระบวนการจัดการข้อพิพาททางเลือกโดยสันติวิธีนั้น อาจจะต้องใช้เวลาในการจัดการดำเนินการ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง แนวทางนี้จะแก้ปัญหาได้ยั่งยืนกว่า ท้าทายต่อการใช้ภูมิปัญญาและภูมิธรรมมากกว่า

“แม้การดำเนินการจะช้าและนาน แต่ทรงความหมายต่อคุณค่าของการเป็นมนุษย์ที่มีภูมิธรรมมากกว่าสัตว์เดรัจฉานที่พอเจอปัญหามักจะแยกเขี้ยวและใช้กำลังห่ำหั่นกัน จนบาดเจ็บล้มตายกันไปข้างหนึ่ง” ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าวในที่สุด

Leave a Reply