ในหลวง -พระราชินี เสด็จ “วัดสระเกศ”

วันที่ 22 เมษายน 2565 เวลา ๑๗.๕๑  น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง)

เนื่องในโอกาสที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดงาน “ ใต้ร่มพระบารมี ๒๔๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ” ณ วัดสระเกศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการ ประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ

สำหรับ ประวัติวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร  มีดังนี้

วัดสระเกศ เดิมมีชื่อว่า “วัดสะแก” เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เกี่ยวข้องกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยา      มหากษัตริย์ศึก ไปราชการสงครามที่กรุงกัมพูชา ทรงทราบข่าวว่า กรุงธนบุรีเกิดจลาจล   จึงยกทัพกลับมาถึงบริเวณวัดสะแก ทรงเห็นว่า เป็นสถานที่ต้องตามหลักพิชัยสงครามจึงเสด็จเข้าโขลนทวาร ประกอบพิธีมูรธาภิเษกบริเวณสระน้ำที่วัดสะแก ก่อนเสด็จไปปราบจลาจลในกรุงธนบุรี ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ผ่านพิภพเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์  ภายหลังเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ทรงเปลี่ยนนาม “วัดสะแก” เป็น  “วัดสระเกศ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติให้ต้องตามสถานที่ที่พระองค์ประกอบพิธีสรงมูรธาภิเษก  ในปัจจุบัน สระที่นำน้ำขึ้นมาทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีมูรธาภิเษกนั้น พระองค์     โปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาการเปรียญครอบเอาไว้

ใกล้กับศาลาการเปรียญที่ประทับสรงมูรธาภิเษก ยังมีพระตำหนักรัชกาลที่ ๑ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระตำหนักเดิมที่ประทับครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก มาถวายวัดสระเกศ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้ข้างพลับพลา ที่ประทับสรงมูรธาภิเษกนั้น

พระตำหนักรัชกาลที่ ๑ หลังเดิมเป็นเรือนไม้  ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนจากเรือนไม้เป็นตึกก่ออิฐถือปูน ในคราว ที่บูรณะวัดสระเกศทั้งพระอาราม โปรดเกล้าฯ นำฝาปะกนกั้นห้องบรรทมรัชกาลที่ ๑  มากั้นไว้ภายในพระตำหนักหลังนี้ตามเดิม ภายในห้องยังมีเตียงสำหรับบรรทมของรัชกาลที่ ๑ อยู่ด้วย

พระประธานภายในพระอุโบสถวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงปราบดาภิเษก ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ทรงย้ายพระนครมาตั้งอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกต ขณะก่อสร้าง                         วัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่นั้น ได้ทรงปรารภถึงระฆังของวัดสะแก ซึ่งเป็นวัดที่พระองค์ประกอบพิธีสรงมูรธาภิเษกว่า มีเสียงดังไพเราะมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายระฆังจากวัดสะแกไปแขวนไว้ที่หอระฆังวัดพระแก้ว และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างระฆัง     ขึ้นแทน ระฆังที่โปรดให้สร้างขึ้นแทนยังอยู่บนหอระฆังวัดสระเกศจนถึงปัจจุบัน

ต่อมา โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองรอบวัดสะแก พระราชทานชื่อว่า “คลองมหานาค และ คลองโอ่งอ่าง ” จึงทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสะแกไปพร้อมกัน โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถวัดสะแกขึ้นใหม่ โดยใช้เชลยชาวเขมรถึงหนึ่งหมื่นคนในการก่อสร้าง        เมื่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ปรากฏว่า ฐานชุกชีสูงกว่าเดิมมาก ทำให้พระประธาน    องค์เดิมที่สร้างด้วยศิลาสลักปางสมาธินั้นดูเล็กไป ไม่สมกับขนาดของพระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระประธานองค์ใหม่ขึ้น โดยใช้ปูนปั้นพอกครอบองค์พระประธานองค์เดิม ให้คงเป็นปางสมาธิเช่นเดิม แล้วลงรักปิดทอง

พระอุโบสถวัดสระเกศ จึงเป็นพระอุโบสถที่มีพระประธานซ้อนกันอยู่สององค์   ด้วยไม่ได้มีการพระราชทานพระนามมาแต่เดิม พระประธานประจำพระอุโบสถ วัดสระเกศ คนทั่วไปคงเรียกว่า “หลวงพ่อพระประธาน” สืบมา

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  (เกี่ยว อุปเสโณ) เล่าว่า เคยทูลถามเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) ว่า ทำไมพระประธานวัดสระเกศ จึงไม่มี  พระนาม เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ตรัสว่า คงเห็นว่า พระประธานพระอุโบสถ  วัดสระเกศ เป็นพระประธานที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างด้วยพระองค์เอง และไม่ได้ถวายพระนามเอาไว้ จึงไม่มีใดผู้ถวายพระนาม คงเรียกกัน สืบมาว่า “หลวงพ่อพระประธาน”

ส่วนเศวตรฉัตรพระประธานประจำพระอุโบสถวัดสระเกศนั้น เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) บอกว่า ได้ยินจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช   (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) ทรงเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓    ทรงรับสั่งให้สร้างถวาย เมื่อคราวเสด็จทอดผ้าพระกฐินปีหนึ่ง โดยพระองค์ สด็จทางชลมารค ขึ้นที่ท่าน้ำด้านหน้าพระวิหารพระอัฏฐารส ทรงบวงสรวงพระอัฏฐารส    ซึ่งพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากวัดพิหารทอง เมืองพิษณุโลก จากนั้น จึงเสด็จ เข้าพระอุโบสถถวายผ้าพระกฐิน

พัทธสีมาพระอุโบสถวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

พัทธสีมาพระอุโบสถวัดสระเกศนั้น มีความแปลกกว่าที่อื่น เพราะว่า เป็นเสมาคู่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เล่าว่า วัดสระเกศเป็นวัดที่มีการ ผูกพัทธสีมา ทั้งตามแบบพระพุทธศาสนาเถรวาทและพระพุทธศาสนาแบบมหายาน         พระอุปัชฌาย์ที่ให้พระไตรสรณคมน์ในพิธีบรรพชาอุปสมบทภายในพัทธสีมาพระอุโบสถวัดสระเกศ จึงต้องให้พระไตรสรณคมณ์ทั้ง ๒ แบบ คือ ทั้งแบบบาลี และ แบบสันสกฤต สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยวินัยกรรมบัญญัติไว้ว่า การบรรพชาอุปสมบทจะสำเร็จได้อย่างสมบูรณ์นั้น     ผู้บรรพชาอุปสมบทต้องมีความเข้าใจในพระไตรสรณคมน์อย่างแจ้งชัด เป็นเบื้องต้นเสียก่อน

เหตุเพราะแต่เดิมมา ชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนาทั้ง ๒ แบบ  คือ ทั้งแบบมหายาน และแบบเถรวาท มหายานใช้ภาษาสันสกฤตบันทึกและเผยแผ่คำสอน ส่วน       เถรวาทใช้ภาษาบาลีบันทึกและเผยแผ่คำสอน ทั้งภาษาสันสกฤตและภาษาบาลีมีวิธี       ออกเสียงที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นการป้องกันการเปล่งวาจาในการเข้าถึงพระรัตนตรัย มิให้คลาดเคลื่อน อันจะเป็นเหตุให้การบรรพชาอุปสมบทมั่นคงเข้า บูรพาจารย์ของสำนักวัดสระเกศจึงกำหนดให้เปล่งวาจาถึงพระไตรสรณคมน์ทั้งสองแบบ  คือ ทั้งแบบสันสกฤตและแบบบาลี ควบคู่กันไป

แม้ในปัจจุบันสำนักต่างๆได้ตัดทอนการให้พระไตรสรณคมน์แบบสันสกฤตออก  เนื่องจากเห็นว่า การให้พระไตรสรณคมน์ทั้ง ๒ แบบ ยาวเกินไป คงไว้เฉพาะแบบบาลีเพียงอย่างเดียว

แต่วิธีบรรพชาอุปสมบทภายในพัทธสีมาพระอุโบสถวัดสระเกศ ยังคงให้   พระไตรสรณคมน์ทั้งสองแบบ อันเป็นการรักษาตันติประเพณีแบบแผนการบรรพชาอุปสมบทแบบเดิมให้สืบต่อตามแนวทางของบูรพาจารย์ที่ได้นำพาปฏิบัติไว้

โพธิ์ลังกาหน้าพระอุโบสถวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

 พระศรีมหาโพธิ์ หรือต้นอัสสัตถพฤกษ์ เป็นต้นไม้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับนั่งตรัสรู้ เหตุที่เรียกต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่วัดสระเกศว่า โพธิ์ลังกา สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดเกล้าฯ ส่งพระอาจารย์ดีกับพระอาจารย์เทพจากวัดสระเกศ ให้เป็นสมณทูตจากสยามประเทศ ไปสืบศาสนาที่ลังกา ได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์ลังกา กลับมาด้วย ทรงโปรดเกล้าฯ      ให้ปลูกไว้ที่วัดสระเกศต้นหนึ่ง วัดสุทัศน์ต้นหนึ่ง และวัดมหาธาตุต้นหนึ่ง นับเป็นต้น  พระศรีมหาโพธิ์เพียงไม่กี่ต้นในประเทศไทย ที่สืบสายตรงจากต้นพระศรีมหาโพธิ์    ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้

ตามประวัติ หลังจากที่พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่งสมณทูตออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๙ สายแล้ว ราว พ.ศ. ๒๕๐ โปรดเกล้าฯให้ พระนางสังฆมิตตาเถรี อัญเชิญหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไปปลูกที่ลังกา นับเป็นพันธุ์หน่อพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๒ จากต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ กาลต่อมา กษัตริย์ลังกา ได้ถวายหน่อพระศรีมหาโพธิ์ แด่ พระอาจารย์ดี และพระอาจารย์เทพ เพื่อนำมาถวายรัชกาลที่ ๒   เมื่อคราวได้รับแต่งตั้งเป็นสมณทูตนำพระไตรปิฎกไปคืนลังกา และรัชกาลที่ ๒                โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกไว้ที่หน้าพระอุโบสถวัดสระเกศ โดยเสด็จไปทรงปลูกด้วยพระองค์เอง จึงนับเป็นพันธุ์หน่อพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ ๓ จากต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

หอพระไตรปิฎกวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

หอพระไตรปิฎกวัดสระเกศ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมหอพระไตรปิฎกนิยมสร้างอยู่กลางน้ำ เพื่อป้องกันสัตว์ทั้งหลายกัดทำลายพระคัมภีร์หอพระไตรปิฎกวัดสระเกศก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน เป็นหอพระไตรปิฎกเก่าแก่ที่มีมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งจัดงานความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสนั้น   ประเทศไทยได้ใช้บานประตูหอพระไตรปิฎกวัดสระเกศไปร่วมแสดง เนื่องจากหอพระไตรปิฎกหลังนี้มีลักษณะผสมผสานศิลปะสมัยอยุธยาในยุคที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส ตั้งแต่ยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นมา จนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

การซ่อมบำรุงหอพระไตรปิฎกที่วัดสระเกศ มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาล ที่ ๓  และซ่อมใหญ่อีกครั้งในสมัยรัชกาล ที่ ๙ ยังคงไว้ซึ่งลักษณะคตินิยมแบบดั้งเดิม คือ “การซ่อมสร้าง ไม่ใช่การรื้อสร้าง” มีการขยายฐานรอบนอกเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ หอพระไตรปิฎกมีสองชั้น คือ เรือนชั้นใน และเรือนชั้นนอก เรือนชั้นในเป็นศิลปะแบบอย่างอยุธยา ส่วนเรือนชั้นนอกเป็นเรือนไทย แบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯให้นำเครื่องไม้ประกอบจากหอมณเฑียรธรรมในพระบรมมหาราชวังมาเป็นเครื่องประกอบในการซ่อม มีเรื่องเล่าถึงมูลเหตุแห่งการนำเครื่องไม้ประกอบมาจากหอมณเฑียรธรรมว่า รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯให้สร้างหอมณเฑียรธรรม ๒ หลัง ไว้ในพระบรมมหาราชวัง นัยว่า หลังหนึ่งเพื่อเก็บตำราพิชัยสงคราม ตำราโหราศาสตร์ และบันทึกจดหมายเหตุเกี่ยวกับบ้านเมือง ส่วนอีก                 หลังหนึ่งให้เป็นที่เก็บเฉพาะพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา แต่หอมณเฑียรธรรมหลังหนึ่งมีเสาตกน้ำมัน จึงโปรดให้รื้อ นำมาเป็นเครื่องไม้ประกอบซ่อม หอพระไตรปิฎกที่วัดสระเกศ อีกหลังหนึ่ง ในวันฉลองหอมณเฑียรธรรมนั้น เกิดเณรเล่นดอกไม้ไฟตกใส่ไหม้หมดทั้งหลัง

พระตำหนักรัชกาลที่ ๑ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

พระตำหนักรัชกาลที่ ๑ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้นำเอาพระตำหนักหลังเดิมซึ่งเป็นเรือนไม้จากพระราชวังเดิมเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก มาสร้างไว้ข้างพลับพลาที่ประทับสรงมูรธาภิเษกที่วัดสระเกศ ต่อมา รัชกาลที่ ๓  โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนจากเรือนไม้เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนในคราวที่บูรณะวัดสระเกศ   ทั้งพระอาราม เนื่องจากเกรงว่า พระตำหนักซึ่งเป็นเรือนไม้ได้ทรุดโทรมเสียหายไปตามกาลเวลา ในครั้งนี้ โปรดเกล้าฯ ให้นำฝาปะกนซึ่งกั้นห้องบรรทมของรัชกาลที่ ๑ มากั้นไว้ภายในพระตำหนักหลังนี้ตามเดิม อีกทั้ง โปรดเกล้าฯ ให้นำเตียงบรรทมของรัชกาลที่ ๑ มาไว้ในคราวเดียวกันนี้ด้วย..

Leave a Reply