แนะแนวพัฒนาพุทธอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จัดการศึกษา-เผยแผ่ให้เป็นระบบ

“ผอ.สันติศึกษา มจร” เสนอให้พัฒนาพุทธในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นหนึ่งกลุ่มยุทธศาสตร์ ตอบโจทย์การศึกษาและการเผยแผ่อย่างเป็นระบบ

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ที่วิทยาลัยสงฆ์นครพนม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ได้รับนิมนต์ให้ไปเป็นองค์ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” แก่ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตของวิทยาลัยสงฆ์นครพนม มจร และมหาวิทยาลัยนครพนม นำโดย ดร.วรวุฒิ อินทนนท์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์

พระมหาหรรษา กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการพัฒนาการศึกษาและการเกิดแผ่พระพุทธศาสนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างเป็นระบบ และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ครอบคลุมทุกมิติ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดทำแผนเป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ (Cluster) เพราะจะทำให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา ศิลปะ ประเพณี และวัฒนธรรมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

“แกนนำหลักที่มีศักยภาพในการดำเนินการเรื่องนี้ได้ คือ วิทยาลัยสงฆ์เลย วิทยาเขตหนองคาย วิทยาลัยสงฆ์นครพนม และวิทยาเขตอุบลราชธานี โดยให้คณาจารย์ประสานพลังในการศึกษา วิจัย และจัดทำกลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกัน เพราะทุกแห่งตั้งอยู่ติดกับลุ่มน้ำโขง จะทำให้เข้าใจวิถีชีวิตและความเป็นของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้” พระมหาหรรษากล่าวเสริม

ดร.วรวุฒิ กล่าวสนับสนุนว่า “เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ส่วนตัวขอเพิ่มว่า นอกจาก มจร แล้ว อยากจะให้ดึงเอามหาวิทยาลัยต่างๆ ในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มาร่วมศึกษา วิจัย และจัดทำแผนยุทธศาสตร์เฉพาะในกลุ่มที่อาศัยอยู่ติดลุ่มน้ำด้วย เพื่อจะได้เชื่อมิติทางเศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง และสังคม ที่สัมพันธ์กับวิถีศาสนาและวัฒนธรรม”

ขณะที่พระครูสิริเจติยานุกิจ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์นครพนม มจร ที่เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมครั้งนี้ สรุปตอนหนึ่งว่า “ในแต่ละปีนั้น มีประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ทั้งไทยและลาวจำนวนมาก เดินทางมากราบสักการะพระธาตุพนม ในฐานะเป็นศูนย์ร่วมใจ นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเรื่องพญานาค และมีวัฒนธรรมไหลเรือไฟที่ดีงามของคนในท้องถิ่น หากมีการจัดแผนพัฒนาเป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ได้ จะทำให้เห็นทิศทางในการพัฒนาพระพุทธศาสนา สังคม การศึกษา และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นเอกภาพและเป็นมากขึ้น”

Leave a Reply