พช.นครพนม รุกคืบขับเคลื่อน “โคก หนอง นา สถานพินิจฯ นครพนม”

วันที่ 2 กันยายน 2564  ณ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม นายสุธี สระบัว ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครพนม เป็นประธานกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ปลูกพืชสมุนไพร พืชผักไม้ผล การห่มดิน พื้นที่เรียนรู้ตามโครงการ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังเพิ่มพลังใจเยาวชนเมืองศรีโคตรบูรณ์” โดยมีประธานผู้พิพากษาสมทบ คณะท่านผู้พิพากษาสมทบ ผู้บริหารหน่วยงานราชการจังหวัดนครพนม ได้แก่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม สำนักงานประมงจังหวัดนครพนม สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครพนม สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครพนม ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครพนม และเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรม

ในการนี้ นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นางวรนุช กรุงเกตุ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นายหาญ ศรีหาวงษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน และนักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และนายประดิษฐ์ หนองอุดม วิทยากรจิตอาสาพัฒนาชุมชน เข้าร่วมสนับสนุนกิจกรรมฯ พร้อมทั้งนำผู้เข้าร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคีฯ ดำเนินกิจกรรมตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ พร้อมร่วมร้องเพลงเลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช และเพลงป่า 5 ระดับ โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยความครึกครื้น ทั้งนี้ ยังได้มอบพืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และพืชผักสวนครัว เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ขนุน แคบ้าน หน่อกล้วย กระชาย ลิ้นจี่ ฯลฯ จากการร่วมด้วยช่วยกันของเครือข่ายครัวเรือนต้นแบบ “โคก หนอง นา พช.” ทั้ง 12 อำเภอ

นายสุธี สระบัว ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครพนม กล่าวว่า โครงการ “โคก หนอง นาแห่งน้ำใจและความหวัง เพิ่มพลังใจเยาวชนเมืองศรีโคตรบูรณ์” สืบเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทาน “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตของคนไทยในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว หมู่บ้าน ชุมชน จนถึงประเทศ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมโลกในยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างเป็นสุข ทรงอธิบายขยายความต่อมาว่า ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อมาพระราชทาน “ทฤษฎีใหม่” ในด้านการเกษตร เพื่อเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นรูปธรรมและเข้าใจง่าย โดยจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการจัดการน้ำและดิน การเตรียมพื้นที่ดินสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี การจำแนกที่ดินเป็นแปลงเล็ก ๆ เพื่อเพาะปลูกพืชที่หลากหลาย ซึ่งทุกสิ่งที่กล่าวมาจะทำให้เกษตรกรมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ คือ การพออยู่ พอกิน ในครัวเรือน   ดังนั้น ทฤษฎีใหม่จึงเป็นรูปแบบการเพาะปลูกของเกษตรกรรายย่อยเพื่อแก้ปัญหาความยากจน สร้างความมั่นคงด้านอาหารในระดับครัวเรือนให้พึ่งตนเองได้ก่อน ต่อจากนั้นจึงพัฒนาไปสู่การรวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่การสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่ต่อไป และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10  ที่ทรงสืบสาน รักษาและต่อยอด การประยุกต์ทฤษฎีใหม่ สู่ โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับฐานะของราษฎรได้มั่นคงยั่งยืน

นายสมชาย วิยะรันดร์ ประธานผู้พิพากษาสมทบ ประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครพนม ได้ดำเนินการจัดโครงการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้เด็กและเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมบำบัดหรือกิจกรรมทางเลือกในช่วงชั้นระหว่างการพิจารณาคดีเนื่องจากเด็ก และเยาวชน จำเป็นต้องมีการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูที่ครบองค์ประกอบ ครอบคลุมปัญหาด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านร่างกาย อารมณ์ บุคลิกภาพ กระบวนการคิด ทักษะการแก้ไขปัญหา และการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว เพื่อให้เด็กและเยาวชนเกิดภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตและไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำหรือมีปัญหาพฤติกรรมที่รุนแรงมากกว่าเดิม การจัดทำโครงการฯ ครั้งนี้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม ได้น้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ซับซ้อนและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ มาเพิ่มทักษะทางการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยสามารถบริหารจัดการพื้นที่สำหรับทำการเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีเครือข่ายคอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนและให้ความรู้ในด้านเกษตรกรรม ช่วยให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถ่องแท้ และเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนเองได้ลงมือแก้ไข รวมทั้งมองเห็นโอกาสในการประกอบสัมมาชีพ

“โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง เพิ่มพลังใจเยาวชนเมืองศรีโคตรบูรณ์” พื้นที่ขนาด 1 ไร่ 2 งาน โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีแก่เด็กและเยาวชนด้านพฤตินิสัย การเรียนและอาชีพภายใต้กระบวนการยุติธรรม ซึ่งนายสุธี สระบัว ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครพนม ได้เล็งเห็นประโยชน์สูงสุดอันจะเกิดแก่เด็กและเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจ โดยการประยุกต์ทฤษฎีใหม่ แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา เป็นการสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก สามารถดำเนินการได้ในทุกเงื่อนไขของพื้นที่ในระหว่างดำเนินการ จะมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพื้นฐานแนวความคิด ฝึกวินัย ลงมือปฏิบัติ แก้ปัญหาจริง เพื่อให้เด็กและเยาวชนผู้เข้ารับการอบรม มีทักษะชีวิต สามารถพึ่งพาตนเองได้ เห็นคุณค่าในตนเอง ดำรงชีวิตได้อย่างพออยู่พอกิน สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง และครอบครัวได้ เมื่อออกไปภายนอกและช่วยเหลือผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อน เติบโตเป็นพลเมืองดี มีภูมิคุ้มกันไม่หวนกลับไปกระทำผิดอีก โดยการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการจัดการน้ำและดิน การเตรียมพื้นดินสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี การจำแนกที่ดินเป็นแปลงเล็ก ๆ เพื่อเพาะปลูกพืชที่หลากหลาย ทำให้เกษตรกรมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ คือ พออยู่ พอกิน ในครัวเรือน ประโยชน์เพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ที่ถูกต้อง เป็นทั้งความรู้ และภูมิคุ้มกันที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ด้วยทรงน้อมนำหลักแนวพระราชดำริของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สู่การปฏิบัติเพื่อความสุขของทุกคนทุกฝ่ายร่วมกัน เพื่อสร้างพื้นที่เล็ก ๆให้กลายเป็นพื้นที่แหล่งอาหาร พื้นที่ทำงาน ร่วมแรง ร่วมใจ พื้นที่แห่งความสามัคคี ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)เห็นชัดแล้วว่า ทางรอด คือ ต้องพึ่งตนเองให้ได้ ภายใต้ความพอเพียง พออยู่พอกิน มีความสงบการแสวงหาทรัพย์สินมากมายก็ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นอาหารได้ ถ้าไม่มีคนขายให้เรากิน “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิคือของจริง” ไม่ผิดแม้แต่น้อย ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องหันกลับมาสร้างแหล่งอาหารเพื่อให้มีใช้มีกินตลอดไป

Leave a Reply