‘ทวี’ชี้รธน.ปัจจุบันเปิดช่อง ‘ฆราวาสปกครองพระสงฆ์’

‘ทวี’ชี้รธน.ปัจจุบันเปิดช่อง ‘ฆราวาสปกครองพระสงฆ์’ ยันเสนอแก้แน่ แยกพระออกจากผู้วิกลจริต มาตราผู้ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง
วันที่ 10 สิงหาคม 2562 นายสุพจน์ อาวาส โฆษกพรรคประชาชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา มีการจัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง “พระพุทธศาสนากับความมั่นคงของชาติในสังคมยุค 5G” ณ หอประชุม พุทธวิชชาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย พระสุธีวีรบัญฑิต หรือ ดร.มหาโชว์ ทัสสนีโย,พล.ท.ภรดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ,พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อดีตเลขา ศอ.บต และเลขาธิการพรรประชาชาติ,ดร.โฆสิต สุวินิจจิต ประธานบริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด และนายณคร มาฉิม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ดำเนินการเสวนา

พ.ต.อ.ทวีฯ กล่าวว่า ศาสนาพุทธในประเทศไทยได้พัฒนายืนยงมากับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติ “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก” คำว่า “พุทธมามกะ “ หมายถึง ผู้ประกาศว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา ส่วน “ศาสนูปถัมภก” หมายถึง ผู้ทะนุบำรุงศาสนา จากข้อมูลที่มีการสำรวจพบว่าคนไทยประมาณ 92-94%นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาประมาณ 4-5% นับถือศาสนาอิสลาม และที่เหลือนับถือศาสนาอื่นๆ โดยทั้งประเทศมีวัดในพระพุทธศาสนาประมาณ 39,276 วัด มีพระสงฆ์ ประมาณ 349,659รูป (ข้อมูล พ.ศ. 2557)

ในเรื่องความมั่นคงของพระพุทธศาสนา มีประเด็นที่ฝากเพื่ออาจเป็นหัวข้อในการแลกเปลี่ยนหรือเสวนาในโอกาสต่อไป คือ

ประเด็นแรก เป็นภิกษุ สามเณร เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน คือ ตามมาตรา 96 ที่บัญญัติบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. มี 4 ประเภท คือ
(1) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
(4) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ”

การที่ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ “พระภิกษุ สามเณร “ ในพุทธศาสนา ที่มีฐานะเป็นที่เคารพกราบไหว้ และเป็นผู้นำทางจิต ใจ ของผู้นับถือศาสนาพุทธ เป็นบุคคลต้องห้ามใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ให้อยู่ในมาตราเดียวกับ คนที่นักโทษ หรือคนติดคุก และคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือคนบ้า นั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ไม่เหมาะสม และควรจะแยกเป็นมาตราต่างหาก หรือ จัดให้อยู่ในมาตราพระพุทธศาสนา และหากให้เหตุผลถึงการห้ามใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ด้วยยิ่งดี ประการที่สอง รัฐบาล คสช ได้เปิดโอกาสให้ ฆราวาสปกครองพระสงฆ์

ตามรัฐธรรมนูญ 60 ได้บัญญัติเกี่ยวกับพุทธศาสนาไว้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มาตรา 67 ว่า ” รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น” ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือ มาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทําลาย พระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดําเนินมาตรการ หรือกลไกดังกล่าวด้วย

ที่บัญญัติว่า “รัฐ…ต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด ..” นั้นเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงศาสนาพุทธมาก ว่า มาตรการและกลไกของรัฐ จะกลายเป็นเครื่องมือของรัฐและฆราวาส หรือรัฐเองก็อาจจะถูกยืมมือเข้าไปจัดการ แทรกแซง หรือควบคุมกิจการของพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ หรือแม้แต่ ทรัพย์สินส่วนพระพุทธศาสนาได้โดยง่ายอาจจะถึงขั้นออกกฎหมาย “ฆราวาสปกครองพระ” ก็เป็นได้ ทั้งนี้ เพราะเพียงแค่สงสัยว่ามีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ก็ใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าไปจัดการกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ระดับพระราชาคณะ หรือแม้แต่สมเด็จพระราชาคณะได้แล้ว

ประการที่สาม ความมั่นคงของศาสนาพุทธจะต้องอยู่ที่คุณภาพของบุคคล ว่าถือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า หลักธรรม เพียงใด ไม่ใช่เป็นคนพุทธเพียงกรอกข้อมูลทำบัตรประชาชน และที่สำคัญความสามัคคีของพุทธบริษัท 4 ประกอบไปด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นสิ่งสำคัญให้เกิดความมั่นคงในศาสนาพุทธและประเทศ

ประการที่สี่ ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ เช่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่เกิดที่ศาสนาแต่เกิดจากตัวบุคคล เช่นจังหวัดสตูล มีประชาชนนับถือศาสนาพุทและอิสลามใกล้เคียงกับจังหวัดยะลา ก็อยู่กันอย่างปกติสุข และศาสนาเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสันติภาพ กรณี การสร้างความมั่นคงของชาติด้วยการใช้คุณค่าของศาสนาเป็นกลไกสร้างความสามัคคี ที่ประกอบด้วย การใช้หลักธรรมคำสอน การปฏิบัติพิธีกรรม และสถาบันที่เป็นศาสนสถาน ศาสนบุคคลและศาสนวัตถุ โดยรัฐให้การส่งเสริมสนับสนุนในการจัดกิจกรรมและงบประมาณในการดำเนินการของศาสนาพุทธ รวมถึงการอยู่ร่วมกันที่มีความแตกต่างทางศาสนาด้วย

ประการที่ห้า ต้องใช้ทั้งวิกฤตและโอกาส ให้เป็นประโยชน์ที่นำคุณค่าของพุทธศาสนาช่วยสร้างความมั่นคงให้ประเทศ วิกฤตคือสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงวัยที่มักจะสนใจในการการประพฤติและปฏิบัติทางศาสนามากขึ้น ส่วนโอกาสคือเทคโนโลยีที่พัฒนาแบบรวดเร็วจะต้องใช้ในการให้ความรู้และการศึกษาทางศาสนาพุทธเพื่อเป็นรากฐานด้านคุณธรรมการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าในการกำหนดทิศทางบนเส้นทางที่ถูกต้องไม่นำชีวิตไปสู่ความวิบัติหายนะจากกิเลสต่างๆ

ประการสุดท้าย ศาสนา และวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าต้องส่งเสริม สนับสนุน

ขณะที่นายนคร ระบุว่า จะรับข้อเสนอจากการเสวนาครั้งนี้ ไปสร้างกลไกในการคุ้มครองปกป้องพระพุทธศาสนาให้เข้มแข็งทั้งในนอกสภา

Leave a Reply