“วินิตศึกษา” โรงเรียน “ลูกพระพุทธเจ้า” ล้ำหน้าเซ็นต์ MOU กับ “ธรรมศาสตร์” มุ่งร่วมมือทางวิชาการและป้อนนักเรียนเข้าสู่มหาวิทยาลัย

วันที่ 23 พฤษภาคม 2567  เวลา 13.30 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับโรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี ในฐานะ ผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการ และผู้อำนวยการโรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ ฯ กับ รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมลงนาม ซึ่งมี รศ.โรจน์ คุณเอนก รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ส.อภิสรา เกษอินทร์ นายอำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักเรียนจากโรงเรียนวินิตศึกษา ฯ  ร่วมเป็นสักขีพยาน

พระเทพเสนาบดี  กล่าวว่า ในนามโรงเรียนวินิตศึกษา ขอขอบคุณผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ได้ร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงร่วม หรือ MOU กับโรงเรียนวินิตศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มาจากต่างจังหวัด การทำ MOU วันนี้จุดประสงค์หลักก็เพื่อพัฒนาลูก ๆ วินิตศึกษาให้มีคุณภาพ เพื่อเตรียมตัวรองรับเข้าสู่ความเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งวันนี้มากันหลายร้อยคน อยากให้มาดูสถานที่ อยากให้มาเห็นคณาจารย์ นักศึกษาที่นี่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ

“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต นักเรียนที่นั่งอยู่ในที่นี่ทุกคน อยากมาเรียนที่นี่ แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อาจรับได้ไม่หมด ความจริงโรงเรียนวินิตศึกษากับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราเป็นสีเดียวกันคือ เหลืองแดง ต่อจากนี้จะร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนาเหลืองแดงวินิตศึกษา สู่ เหลืองแดง เส้นเลือดใหญ่ คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กว่าจะถึงตอนนั้นได้ ลูก ๆ วินิตศึกษาต้องใช้ธรรมะของพระพุทธเจ้าคือ สุ จิ ปุ ลิ ที่เป็นหัวใจนักปราชญ์  ต้องเรียน ย้ำ ซ้ำ ทวน ให้เชี่ยวชาญ ต้องหมั่นขยันเรียน มีความอดทน และรู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่ มันจึงจะสำเร็จได้..”

ในขณะที่ รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล เปิดเผยว่า วันนี้มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ทำงานร่วมกันกับโรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อจากนี้จะทำงานร่วมกันด้านวิชาการ จะมีการแปลกเปลี่ยนครูอาจารย์ ศึกษาดูงาน ซึ่งทางคณะเราพร้อมอยู่แล้ว ทั้งบุคลากร และอุปกรณ์ ห้องทดลอง งานลักษณะนี้เราทำกับภาคีเครือข่าย เช่น โรงเรียนพระปริยัติธรรม ภายใต้มูลนิธิของสมเด็จพระเทพ ฯ อยู่แล้ว อาจารย์ของเราจึงมีความพร้อม

“โรงเรียนวินิตศึกษาเป็นโรงเรียนแห่งที่ 2 ที่ร่วมลงนาม MOU กับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนหน้านั่นมีโรงเรียนสวนกุหลาบรังสิต จังหวัดปทุมธานี ร่วมลงนามกับเราแล้ว และมีอีกหลายแห่งที่มีความประสงค์ของลงนาม MOU กับเรา ซึ่งเรากำลังดูรายละเอียดข้อตกลง เพราะการลงนาม มันต้องพร้อมก่อนทั้งอาจารย์ สื่อการสอน และห้องทดลอง ตอนนี้นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค มีทั้งหมดประมาณ 4,000 คน ถือว่าเยอะพอสมควร แต่อนาคตอาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากประชากรของเราเกิดน้อย แต่ ณ ตอนนี้ยังมีเยอะอยู่..”

สำหรับโรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นโรงเรียนสหศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สังกัด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ประเภทสามัญศึกษา และเป็นโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ มี 2 ระดับชั้นคือ มัธยมศึกษาตอนต้น และ มัธยมศึกษาตอนปลาย ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณ 5,000 คน และมีคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และบุคลากรรวมทั้งสิ้น 250 คน ปัจจุบันมี พระเทพเสนาบดี  เจ้าอาวาสวัดกวิศรารามราชวรวิหาร และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี เป็นผู้อำนวยการ ผู้จัดการ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียน

ส่วนคำว่า “ลูกพระพุทธเจ้า” เป็นคำที่ “สมเด็จเกี่ยว” สมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  ท่านพูดไว้ในคราวไปเปิดการสัมมนาโรงเรียนการกุศลของวัด ณ โรงเรียนวินิตศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์ อ.เมือง จ.ลพบุรี เมื่อวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2552 ว่า  “โรงเรียนการกุศลของวัดเป็นโรงเรียนของพระพุทธเจ้า นักเรียนทุกคนจึงเป็นลูกของพระพุทธเจ้า มีพระเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ที่นำคำสอนสู่นักเรียน ยิ่งนักเรียนมีความเข้าเรื่องหลักธรรม นำหลักธรรมของพระพุทธศาสนามากใช้เท่าไร จะนำมาซึ่งความมั่นคงของสถาบันหลักทั้ง 3 สถาบัน ไม่เฉพาะแต่สถาบันพระพุทธศาสนาเท่านั้น ทำอย่างไรโรงเรียนการกุศลของวัดที่มีอยู่เกือบ 100 แห่ง จะประสานการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้แนวความคิดที่ว่า โรงเรียนการกุศลของวัด เป็นโรงเรียนของพระพุทธเจ้า”

Leave a Reply