“พระธรรมวชิรสุนทร” หารือ “เสมา1” จับมือร่วมพัฒนา “ลพบุรีเป็นหนึ่ง” สู่เป้าหมาย “เรียนดี มีความสุข”

วันที่ 13 พ.ย. 67  เมื่อวันจันทร์ที่ 11 ที่ผ่านมา  ณ ห้องราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ พระธรรมวชิรสุนทร เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี เจ้าอาวาสวัดกวิศรารามราชวรวิหาร และผู้รับใบอนุญาต โรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ ได้นำคณะผู้บริหารจังหวัดลพบุรี ประกอบด้วย นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ตลอดจนศึกษาธิการจังหวัดลพบุรี ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่ลพบุรี ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดลพบุรี ผู้อำนวยการ สกร.จังหวัดลพบุรี และท้องถิ่นจังหวัดลพบุรี  ร่วมประชุมหารือถึงการพัฒนาเครือข่ายทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดลพบุรี กับ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  โดยมี นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการ สช. และคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุม

พระธรรมวชิรสุนทร เผยว่า  “ท่านรัฐมนตรีมีความประสงค์อยากเห็นจังหวัดลพบุรีเป็นหนึ่ง จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ตามนโยบายเรียนดีมีความสุข ของท่าน หมายความว่า ครอบครัวก็มีความสุข ครูก็มีความสุข และเด็กก็มีความสุข รวมทั้งมีคุณภาพด้วย และทั้งรัฐมนตรีมีเป้าหมายอยากให้พัฒนาเครือข่ายจับมือแล้วเดินไปด้วยกัน ซึ่งจังหวัดลพบุรีเรากันอยู่แล้ว โดยเฉพาะโรงเรียนวินิตศึกษา ตอนนี้กำลังติวเข้มด้านวิชาการ มีโรงเรียนเครือข่ายซึ่งเป็นโรงเรียนการกุศลในพระพุทธศาสนาเข้าร่วมกว่า 70 โรงเรียน มีนักเรียนเข้าร่วมประมาณ 3 พันคน โดยโรงเรียนวินิตศึกษาเป็นแม่ข่าย จัดหาวิทยากรให้ ซึ่งกันปรึกษาหาเรือกันในวันนี้มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมาร่วมด้วย ซึ่งท่านดูโรงเรียนในจังหวัดในภาพรวมทั้งหมดทั้งโรงเรียนสังกัด สพฐ ท้องถิ่น หรือแม้กระทั้งเอกชน  หลังจากกลับไปจะร่วมประชุมปรึกษาทิศทางการทำงานกันอีกครั้ง เพื่อให้จังหวัดเป็นจังหวัดเป็นหนึ่ง จับมือแล้วเดินไปด้วยกัน สู่เป้าหมายเรียนดีมีความสุข ของท่านรัฐมนตรี ”

ด้าน รมว.ศธ. ได้ฝากที่ประชุมถึงการสร้างเครือข่ายทางการศึกษาอย่างเข้มแข็งและมีคุณภาพ ตามแนวทางนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เน้นย้ำการสร้างความสุขในสถานศึกษา ทั้งด้านอาหารกลางวันต้องมีคุณภาพและอิ่มท้อง ด้านสุขาที่ดี สะอาด แห้ง หอม อุปกรณ์ทางการเรียน, DLTV มีความพร้อม ถ้าหากใช้งานไม่ได้ โดยเฉพาะในโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนขยายโอกาสสามารถขอความช่วยเหลืออาชีวศึกษาจังหวัด ซึ่งเป็นเครือข่ายการศึกษา ให้เข้ามาช่วยซ่อมแซม เป็นต้น รวมทั้ง การพัฒนาครูให้เป็น coach ช่วยอำนวยการสอน (facilitator) ให้กับนักเรียน พร้อมจัดให้มีการ PLC แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา “Anywhere Anytime” เพื่อพัฒนาการศึกษาในแง่มุมต่างๆ อย่างเป็นระบบ

”การสร้างเครือข่ายการพัฒนา ต้องทำเป็นแนวตั้งและแนวนอน แนวตั้งคือ โรงเรียนประถมศึกษาก็ช่วยดูโรงเรียนประถม ส่วนโรงเรียนมัธยมศึกษา ก็ช่วยดูในระดับเดียวกัน จากนั้นก็เชื่อมโยงโรงเรียนประถมกับมัธยมกับอาชีวศึกษาและ สกร. เป็นต้น โดยวิทยาลัยอาชีวะ จะต้องดูมัธยมศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนขยายโอกาส สำหรับเด็กที่ขาดความพร้อม อาชีวะเข้ามาสอนเสริมหรือช่วยส่งเสริมทักษะอาชีพ นี่คือการสร้างมิติเครือข่ายทางการศึกษาให้เกิดขึ้น“ รมว.ศธ.กล่าว

Leave a Reply