“มจร” จัดพิธีบำเพ็ญกุศลถวาย “สมเด็จเกี่ยว” ผู้เปล่งอมตวาจา “เราตายได้ แต่พระพุทธศาสนาตายไม่ได้”

วันที่  11 สิงหาคม 2565  โครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ มจร จัดพิธีบำเพ็ญกุศลบังสุกุลอุทิศถวายเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม อดีตผู้ก่อตั้งสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ อดีตประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ รูปที่ 1 และอดีตเลขาธิการ มจร เนื่องในวันคล้ายวันมรณภาพ ปีที่ 9 ในวันที่ 10 สิงหาคม 2565 โดยมี พระธรรมวัชรบัณฑิต,ศ.ดร. อธิการบดี เป็นประธานในพิธี การนี้ ได้เป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารเพล แด่ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และพระนิสิต มจร จำนวน 10,000 บาท เพื่ออุทิศถวายเจ้าประคุณสมเด็จ ณ อาคารหอฉัน ชั้น 2 มจร อยุธยา ดำเนินการโดย พระโสภณวชิราภรณ์,ดร. อัคคมหาบัณฑิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน พร้อมด้วยคณะกรรมการโครงการฯ ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ วิทยาลัยพระธรรมทูต และกองวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานอธิการบดี

สมเด็จพระพุฒาจารย์ ในช่วงที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ถูกมรสุมทางการเมืองและการคณะสงฆ์พัดแรงถือว่า เป็นพระผู้ใหญ่ผู้เดียวที่คอยเป็นกำแพงปกป้องคุ้มครองภัย โดยมีทีมงานอย่าง พระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต (ปัจจุบัน : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) พระมหาจำนงค์ ชุตินฺธโร (ศ.พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ) คอยสนับสนุนการทำงาน

สมเด็จพระพุฒาจารย์เกี่ยวข้องกับ มจร โดยสังเขปดังนี้ ในปี พ.ศ. 2500 สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้เป็นอาจารย์สอนภาษาบาลีที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปีต่อมาได้เลื่อนเป็นหัวหน้าแผนกบาลีธรรม และเป็นอาจารย์สอนพระสูตร และประธานหัวหน้าแผนกคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2502 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดี และหัวหน้าแผนกธรรมวิจัย ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ในปี พ.ศ. 2506 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับเลือกเป็นอนุกรรมการมหาเถรสมาคม ในปี พ.ศ. 2507 ได้รับเลือกเป็น เลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 9 (เขตปกครองจังหวัด ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด) ในปี พ.ศ. 2508 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9 และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช

เป็นพระมหาเถระผู้วางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ

ในปี พ.ศ. 2513 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับเลือกเป็นกรรมการร่างหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา และเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เริ่มต้นงานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์ ในปี พ.ศ. 2498 ได้ไปร่วมประชุมฉัฏฐสังคีติ ณ ประเทศพม่า

ในปี พ.ศ. 2505 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปดูการศาสนาและเพื่อศาสนสัมพันธ์ที่เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2510 ได้เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปสังเกตการณ์ การศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลาว ศรีลังกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ในปี พ.ศ. 2512 เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูต

ในปี พ.ศ. 2515 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ไปสังเกตการณ์การศึกษาทางพระพุทธศาสนาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2525 ได้รับตำแหน่งรองประธานสภาสงฆ์แห่งโลก

วาทกรรม “อมตวาจา”  “เ ร า ต า ย ไ ด้ แ ต่ พ ร ะ พุ ท ธ ศ า ส น า ต า ย ไ ม่ ไ ด้”

แม้ธาตุขันธ์จะดับสูญ แต่ดอกบัวดอกแล้วดอกเล่าที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ ส่งออกไปปลูกยังดินแดนที่ปราศจากพระพุทธศาสนา เริ่มเบ่งบานตามปณิธานอันยิ่งใหญ่แห่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่อุทิศตนเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตราบลมหายใจสุดท้าย บัดนี้ มีวัดไทยกว่า 500 วัด ตั้งมั่นกระจายอยู่ทั่วทุกมุมของโลก เป็นไปตามคำกล่าวของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่ว่า “ดอกบัวจะบานกลางหิมะ”

น้อมรำลึกปฏิปทา พระมหาเถระผู้อยู่ในประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก พระผู้ปิดทองหลังพระ ผู้บุกเบิกพระธรรมทูตไทยในต่างแดน จนกลายเป็นตำนานในการเปิดโลกพระพุทธศาสนาในต่างแดน .. (เพจพัดยศสมณศักดิ์พระสงฆ์ไทย)

 

Leave a Reply