กมธ.ศาสนาฯสภาฯถวายความรู้ พระสังฆาธิการนนทบุรี พร้อมผลักดันคลอด กม.อุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธ

วันที่ 18 ธ.ค. 2563 เวลา 13.00 น. ที่วัดบัวขวัญพระอารามหลวง จ.นนทบุรี พระราชนันทมุนี เจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี เจ้าอาวาสวัดวัดบัวขวัญพระอารามหลวง เป็นประธานการประชุมคณะสงฆ์ระดับเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ จังหวัดนนทบุรี ในการนี้มีคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมถวายแนวคิดและความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีวัด รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ รวมถึงชี้แจงถึงอำนาจหน้าที่ในกรอบของคณะกรรมาธิการฯ

นายนพดล แก้วสุพัฒน์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ ได้กล่าวว่า ที่ได้มาร่วมการสัมนาในครั้งนี้ ตนรู้สึกดีใจเพราะปัจจุบันคณะกรรมาธิการฯ ได้ทำงานในหลายมิติที่จะช่วยสนับสนุนงานพระพุทธศาสนา หากพระคุณเจ้ามีเรื่องที่จะนำเสนอให้กรรมาธิการซึ่งอยู่ในอำนาจนิติบัญญัติ ก็สามารถยื่นเรื่องมาที่คณะกรรมาธิการฯได้ สำหรับการทำงานของกรรมาธิการฯล่าสุดได้นำเสนอกฎหมายจำนวน 4 ฉบับ แก่นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประกอบด้วย 1.) ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมพุทธศาสนิกชนในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. …. 2.) ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา พ.ศ. ….3.) ร่างพระราชบัญญัติธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย พ.ศ. ….4.) ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเดินทางไปพุทธสังเวชนียสถาน พ.ศ. ….

นายสัมพันธ์ เสริมชีพ อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ กล่าวถึง การจัดทำบัญชีวัด ซึ่งยังมีข้อจำกัดในการจัดทำบัญชีวัดในหลายประการที่พระภิกษุสงฆ์ที่มีพรรษามากแล้ว จึงยากที่จะเข้าใจ อีกทั้งมีกฎหมายที่ส่งผลโดยตรงกับคณะสงฆ์ โดยยังขาดความรู้และความเข้าใจในกฎหมายที่มีการพัฒนาและบัญญัติอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาจึงทำให้การบังคับใช้กฎหมายกับพระสงฆ์ที่ยังไม่ทราบถึงตัวบทกฎหมาย เป็นโทษกับพระสงฆ์โดยตรง ซึ่งรัฐบาลควรมาสนับสนุนให้ความรู้กับคณะสงฆ์ด้วย

นายนิยม เวชกามา ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ กล่าวว่า ในข้อกฎหมายที่บังคับใช้และกระทบกับพระภิกษุสงฆ์ควรได้รับการพิจารณา ซึ่งบางครั้งยังขัดกับพระธรรมวินัยที่พระสงฆ์อยู่ในกรอบพระธรรมวินัยอยู่แล้ว แต่ฝ่ายบ้านเมืองยังขาดความรู้ความเข้าใจในหลักพระธรรมวินัย ซึ่งบรรพบุรุษผู้นำบ้านเมืองในอดีตได้นำหลักและแก่นของพระพุทธศาสนามาเป็นหลักของบ้านเมืองจนนำมาสู่ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีของไทย ส่งผลให้เป็น 1 ใน 3 ของสถาบันหลักของชาติ อันมีสีของธงไตรรงค์ที่มีสีขาวสื่อถึงศาสนาโดยมีพุทธศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ปวงชนชาวไทยนับถือมากที่สุดกว่า 95%

ม.ล.สัญชัย ทองแถม ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า บูรพกษัตริย์ไทยทุกพระองค์ล้วนเป็นพุทธมามกะ อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก และได้กล่าวตอนหนึ่งในวันขึ้นครองราชว่าขอมอบตัวแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า กับได้รับการจัดการให้ความคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป ทั้งนี้การตรากฎหมายต่างๆ ควรยึดตามหลักของพระพุทธศาสนาและหลักของกฎหมายบ้านเมืองควรไปในทิศทางเดียวกัน

นายณพลเดช มณีลังกา อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ เสนอให้ควรมีการจัดสัมนาและให้ความรู้กับพระสงฆ์ในแง่ของการจัดทำบัญชีและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระสงฆ์อีกทั้งควรมีการทำงานร่วมกันระหว่างพุทธบริษัทสี่ โดยเฉพาะฝ่ายฆราวาส ควรเข้ามามีบทบาทในการทำงานและผสานรอยรั่ว ซึ่งในงานบางอย่างพระสงฆ์ที่มีกรอบพระธรรมวินัยไม่สามารถทำได้ด้วยตนเองหรือไม่เหมาะแก่สมณสารูป จึงควรจัดให้มีสภาองค์กรชาวพุทธที่มาทำหน้าที่นี้ ทั้งการตรากฎหมายต่างๆ ควรทำประชามติให้เป็นที่รู้กันและก่อนบังคับใช้กฎหมายควรมีระยะเวลาที่จะบังคับใช้ เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายได้ทราบและทำความเข้าใจดังเป็นระเบียบปฏิบัติในนนานาอารยประเทศที่พัฒนาแล้ว

Leave a Reply