วันที่ 4 เมษายน 2568 จังหวัดอุบลราชธานี ผนึก 9 ภาคีเครือข่ายจัดแถลงข่าวผลักดัน “งานสงกรานต์ไทอุบล แห่ดอกไม้ ไหว้หลวงพ่อเงิน 700 ระหว่างวันที่ 13-16 เมษายน 2568” ให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัดอุบลราชธานี เพื่ออนุรักษ์และสืบสานประเพณีแห่ดอกไม้ตามแบบสงกรานต์โบราณของจังหวัดอุบลราชธานีให้คงอยู่คู่ชุมชนสืบไป โดยภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย
1. พระศรีวิสุทธิมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ
2. นายอนันต์ วนันโท สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
3. นายปรีดา อุ่นอุดม นายอำเภอเมืองอุบลราชธานี
4. นางวรรณา บุดดีสิงห์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุบลราชธานี
5. นางธนภร พูลเพิ่ม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานอุบลราชธานี
6. นายสุวรรณ บุญจูง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกุดลาด
7. นางกชกร ทองเรือง กำนันตำบลกุดลาด
8.นางสุรางค์ ตาสี ท้องถิ่นอำเภอเมืองอุบลราชธานี
9.นางจริตรกุล บุญจูง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลกุดลาด
ในงานแถลงข่าวมีสาธิตการทำขันหมากเบ่งของชุมชนบ้านปากน้ำสาธิตขบวนกลองยาวลายอุบล และขบวนฟ้อนลายบูชาหลวงพ่อเงิน นอกจากนั้นยังมีนิทรรศการแสดงหนังสือบุญผะเหวดสำนวนเทศน์ทำนองอุบลโบราณและนิทรรศการ 100 ปีชาตกาล พระมงคลธรรมวัฒน์ ผู้ร่วมแถลงข่าวได้ร่วมกันปิดทองฆ้องมงคลที่จะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ อนุสรณ์สถาน 100 ปี ชาตกาลพระมงคลธรรมวัฒน์ บริเวณทางลงหาดบุ่งสระพัง
สำหรับงานสงกรานต์ไทอุบล แห่ดอกไม้ ไหว้หลวงพ่อเงิน 700 จะเริ่มในวันที่ 13 เมษายน 2568 เวลา 09.00 น. เป็นพิธีแห่หลวงพ่อเงิน 700 ปี ขึ้นมาจากวัดป่าพระพิฆเณศวร์ ซึ่งเป็นสถานที่ขุดพบหลวงพ่อเงิน ในปีพุทธศักราช 2515 จากการนิมิตของหลวงปู่พระมงคลธรรมวัฒน์ ซึ่งปีนี้จะเป็นปีที่ 53 ของการอัญเชิญขึ้นจากพื้นดิน โดยขบวนแห่หลวงพ่อเงินจะผ่านมาตามถนนริมหาดบุ่งสระพัง และโนนต้นบกใหญ่ สถานที่ก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 100 ปีชาตกาลหลวงปู่เจ้าคุณพระมงคลธรรมวัฒน์ แล้วมาบรรจบกับขบวนแห่หลวงพ่อเงินบริเวณโรงเรียนบ้านปากน้ำ จากนั้น จะเคลื่อนขบวนแห่เข้าสู่วัดปากน้ำ
ในวันที่ 14 เมษายน พุทธศักราช 2568 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป จะอัญเชิญหลวงพ่อเงินไปแห่ดอกไม้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ตำบลกุดลาด ระหว่างเส้นทางขบวนแห่หลวงพ่อเงินผ่านไป ให้ประชาชนเตรียมดอกไม้และน้ำอบน้ำหอมไว้สรง ตามประเพณีสงกรานต์อุบลแบบโบราณ ซึ่งเมื่อวันสงกรานต์มาถึงเข้า ต้องอัญเชิญพระพุทธรูปลงสรง ประชาชนจะออกไปเก็บดอกไม้มาให้หัววัดสรงน้ำพระ ซึ่งดอกไม้ที่บานหน้าแล้งไม่ค่อยมี นอกจากดอกมันปลาและดอกพะยอมที่บานหน้าแล้งและมีกลิ่นหอม ต้องไปหาเก็บ ตามทุ่ง ตามป่า พอได้ดอกมันปลาหรือพะยอมแล้ว ก็จะแห่เข้าหมู่บ้าน มีฆ้อง กลองตีฟ้อนรำกันมา คนที่ไม่ได้ไปก็จะรอในอยู่ในระหว่างทาง เตรียมน้ำไว้รดสรงให้พระเณรและผู้คนที่ร่วมอยู่ในขบวนแห่ ใครได้ดอกไม้อะไรก็จะฝากให้พระเณรนำไปสรงน้ำพระในวัดด้วย
นอกจากนั้น ในวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2568 จะเป็นประเพณีวันเนาว์ ตามแบบอย่างสงกรานต์ดั้งเดิมของชาวอุบลราชธานีซึ่งจะจัดขึ้นบริเวณเจดีย์บุ่งสระพัง หาดบุ่งสระพัง โดยสงกรานต์ในกรุงเทพมหานครจะมีวันไหล ส่วนสงกรานต์ทางอีสานโดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีจะมีวันเนาว์ ซึ่งเป็นพิธีขอขมาพระสงฆ์ ตามวัดวาอารามต่างๆ จากนั้นก็จะอัญเชิญพระพุทธรูปกลับ
Leave a Reply