ยามไร้เสียงขับขานบาลี! สำนักเรียนบาลีวัดชากมะกรูดคราวอัสดง บทพิสูจน์แห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป : พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) รายงาน
ครั้งหนึ่ง ปี 2529-2531 ผู้เขียนเป็นสามเณรน้อย อายุราว 14 ปี ได้เคยเดินทางมาพึ่งบุญบารมี และศึกษาเล่าเรียนบาลี ณ สำนักเรียนวัดชากมะกรูด ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งเป็นสำนักเรียนอันดับหนึ่งของภาคตะวันออก ที่ขึ้นตรงกับภาค 13 โดยมีพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม บางลำภู กรุงเทพฯ เป็นเจ้าคณะภาค
ในคราวนั้น ทุกตารางเมตรของวัดชากมะกรูด ต่างคราคร่ำไปด้วยนักเรียนบาลีที่มาจากทิศทั้งสี่ หนึ่งห้องนอนต้องบรรจุพระหนุ่มเณรน้อยไม่ต่ำกว่า 3-4 รูป ทุกเวลานาทีมักจะได้ยินเสียงท่องบาลีในทุกซอกทุกมุมของสำนักเรียน ไม่ต่างจากเสียงจิ้งหรีดในยามราตรีที่แข่งกันเปล่งเสียงประดุจการท้าทายและแข่งขันกันก็มิปาน
ในขณะที่เจ้าสำนักเรียน พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณพระพิพัฒน์ปริยัตยานุกูล (หลวงพ่อไพฑูรย์ ฐิตเปโม) จัดได้ว่าเป็นพระมหาเถระนักพัฒนา เชี่ยวชาญทั้งบู๊และบุ๋น รู้ท่วงทำนองศาสตร์แห่งการบริหารสำนักเรียนบาลี และรู้ศิลปะแห่งการประพันธ์บทกลอนจนได้สมณกวีเจ้าของรางวัลศิลปินแห่งชาติด้านวรรณกรรม แต่งกลอนไพเราะจนได้ชื่อว่าเป็นสุนทรภู่ยุครัตนโกสินทร์เพราะอยู่ในถิ่นตำบลกร่ำ
การมรณภาพของหลวงพ่อที่เปรียบประดุจเส้นเลือดใหญ่ และลมหายใจของสำนักเรียน จึงนำไปสู่การมรณภาพของสำนักเรียนในที่สุด เพราะผู้บริหารยุคใหม่ แม้จะเข้าใจทักษะการบริหารการปกครองคณะสงฆ์อย่างลุ่มลึก แต่เมื่อขาดศาสตร์และศิลป์ด้านการจัดการศึกษาบาลีอย่างรอบด้านในมิติต่างๆ กาลอวสานแห่งสำนักเรียนที่เคยเลื่องชื่อจึงพบจุดจบในที่สุด
บัดนี้ สำนักเรียนบาลีวัดชากมะกรูด เต็มไปด้วยความเงียบสงัด ไร้ซึ่งเสียงท่องขานบาลีของพระหนุ่มเณรน้อย ไร้แม้กระทั่งเสียงจิ้งหรีดที่เคยร้องระงมโต้ตอบกันไปมา
รูปปั้นหลวงพ่อเจ้าคุณฯ พร้อมโกฏิใส่ อีกทั้งรางวัลมากมายเรียงราย ยังคงตระหง่านกลางศาลา ว้าเหว่เดียวดาย ประดุจหลวงพ่อกำลังเฝ้ามองความว่างเปล่า ไม่มีลูกเณร ไม่มีลูกพระ ไม่มีเสียงท่องบาลี ไม่มีอีกแล้วสำนักเรียนวัดชากมะกรูดที่เคยเฟื่องฟู
สัจธรรมที่เรามักจะได้ยินมาตลอดชีวิต “การสร้างนั้นยากยิ่งแล้ว แต่การเพียรพยายามรักษาช่างแสนจะยากยิ่งกว่า” ประจักษ์ชัดว่า หลวงพ่อเจ้าคุณอุทิศเลือดเนื้อ และทุกสรรพสิ่งที่มีเพื่อก่อร่างสร้างสำนักเรียนตลอด 50 ปี แต่ในที่สุด อนุชนคนรุ่นหลังมิอาจรักษาสิ่งที่หลวงพ่อเพียรสร้างเอาไว้ได้
กฏไตรลักษณ์ที่ว่าด้วย “สรรพสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป” นั้น ได้ทำหน้าที่แสดงธรรมและพิสูจน์ตัวตนผ่านสำนักเรียนวัดชากมะกรูดได้อย่างแจ่มชัด เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของการไม่เที่ยงแท้แน่นอน การทนอยู่ในสภาพเดิมมิได้ และการไม่สามารถบังคับบัญชาให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามอำนาจและความต้องการของเรา
ชัดแจ้งว่า บทเรียนดังกล่าวสอดรับกับมรดกธรรมที่พุทธองค์ทรงชี้ว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ขอให้เธอทั้งหลาย จงดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทเถิด” ประโยคนี้ บ่งบอกสองแง่มุม (1) สิ่งทั้งหลายย่อมเสื่อมทรุดโทรมไป และ (2) จึงอย่าประมาทในการดำเนินชีวิต
หากมองจากบทเรียนสำนักเรียนวัดวัดชากมะกรูดนั้น หากเราวิเคราะห์ตัวแปรและปัจจัยต่างๆ แล้วโยนความเสื่อมทั้งหมดให้แก่กฏไตรลักษณ์แต่เพียงฝ่ายเดียวย่อมไม่ถูกต้อง 100% เป็นแน่แท้ คำถามจึงต้องย้อนกลับมาทวนสอบว่า อนุชนคนรุ่นหลังที่เกี่ยวข้องดำเนินชีวิต หรือบริหารจัดการสำนักเรียนด้วยความประมาทหรือไม่? อย่างไร? มีตัวแปรใดที่ไม่ได้ตระหนักรู้และใส่ใจถึงแนวทางที่หลวงพ่อได้เคยเป็นแบบอย่างของการพัฒนาหรือไม่?
บทเรียนนี้ จะกลายเป็นของขวัญที่เลอค่าที่สำนักเรียนบาลีมากมายในประเทศไทย จะได้ใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจว่า ตัวแปรใด? ที่ทำให้สำนักเรียนวัดชากมะกรูดรุ่งเรืองจนถึงขีดสุดกลายเป็นอันดับหนึ่งของภาคตะวันออก และเพราะเหตุใด? หรือมีตัวแปรใด? ที่ทำให้สำนักเรียนแห่งนี้ ต้องเผชิญหน้าต่อการเสื่อมสูญในที่สุด การเข้าใจความจริงอันประเสริฐดังกล่าว จะช่วยให้เราสามารถเจริญมรณานุสติแห่งการล่มสลาย แล้วพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นสำนักเรียนที่ยิ่งใหญ่ในการศึกษาบาลี เพื่อใช้บาลีรักษาพุทธพจน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป
Leave a Reply