มจร ปลื้ม!! ผลประเมินได้ “ระดับดี”

31 ต.ค.67 วานนี้ คณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับสถาบัน ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ พิษณุ เจียวคุณ ประธานกรรมการ รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ธรรมสัจการกรรมการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิคม มูลเมือง กรรมการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะนันท์ สายัณห์ปทุม กรรมการ และรองศาสตราจารย์ ดร.ธัชชนันท์ อิศรเดช กรรมการและเลขานุการ นำเสนอข้อมูลผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2566 มีพระพรหมวัชรธีราจารย์, ศ.ดร. อธิการบดี และผู้บริหาร เข้าร่วมฟังผลการประเมิน ณ ห้องประชุม 405 อาคารพระราชรัตนโมลี (นคร เขมปาลี) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยู่ในระดับ “ดี” ได้คะแนน 4.36

          การประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับสถาบัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปีการศึกษา 2566 คณะกรรมการตรวจประเมินได้ดำเนินการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระหว่างวันที่ 28 – 30 ตุลาคม พ.ศ.2567 ตามกระบวนการในระบบประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยใช้ตัวบ่งชี้และเกณฑ์ประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับสถาบัน ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) 13 ตัวบ่งชี้ และตัวบ่งชี้เพิ่มเติมของมหาวิทยาลัยตามมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ.2561 จำนวน 7 ตัวบ่งชี้ ซึ่งประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบที่ 1 การผลิตบัณฑิต องค์ประกอบที่ 2 การวิจัย องค์ประกอบที่ 3 การบริการวิชาการ องค์ประกอบที่ 4 การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และ องค์ประกอบที่ 5 การบริหารจัดการ รวมทั้งสิ้น 20 ตัวบ่งชี้

          ปัจจุบัน มีส่วนงานจัดการศึกษาของมหาจุฬาฯ ใช้เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ EdPEx “Education Criteria for Performance Excellence” จำนวน 12 ส่วนงาน

          คณะกรรมการ กล่าวถึงจุดเด่นของมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยมีการบริหารจัดการหลักสูตร มีผลการประเมินระดับหลักสูตรด้วยระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ตามเกณฑ์มาตรฐาน 2558 ในระดับดีมากและดี ในสัดส่วนระดับที่สูง โดยมหาวิทยาลัยมีผลงานทางวิชาการเผยแพร่ ในรอบปีที่ผ่านมาถึง 1,292 ชิ้น จากจำนวนอาจารย์ 1,368รูป/คน คิดเป็น 0.94 ชิ้นต่อคน นับว่าอยู่ในระดับค่อนข้างสูง มีผลงานวิจัยจำนวน 134 โครงการ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ถึง 99 โครงการ มีบุคลากรที่มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในชุมชน และออกไปให้บริการอย่างต่อเนื่อง และมหาวิทยาลัยเป็นทางเลือกของนิสิตนานาชาติที่มีความสนใจศึกษาทางด้านพระพุทธศาสนา

Leave a Reply