รองผอ.พศ. ซัด!! พระสิ้นคิด ไม่ได้ศึกษาคุณค่าที่เกิดจากพระเจดีย์

วันที่ 18 สิงหาคม 2567  กรณีพระสิ้นคิด หรือ พระสินทรัพย์ จรณธมฺโม ประธานที่พักสงฆ์ป่าบ่อน้ำพระอินทร์ ต.ช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ได้ตอบคำถามเรื่องเกี่ยวกับคนไปกราบเจดีย์และต้นโพธิ์ แล้ว “พระสิ้นคิด” ตอบทำนองให้ชาวพุทธเข้าใจว่า “ไปกราบทำไม ไปไหว้ทำไม พระเจดีย์และต้นโพธิ์” เพราะหากศักดิ์สิทธิ์จริง พระพุทธศาสนาคงไม่หมดไปจากประเทศอีนเดีย

เรื่องนี้ “นายบุญเชิด กิตติธรางกูร” รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ตอบข้อสงสัยว่า การไปกราบไหว้พระเจดีย์ ตามรอยบาทพระบรมศาสดา ผิดด้วยหรือ?   ดังมีความว่า
กรณีนี้เกิดจากพระที่ท่านโด่งดังในโซเชียล กล่าวถึงการไปไหว้เจดีย์ ไหว้ต้นโพธิ์ของพุทธ ส่วนหนึ่งท่านกล่าวถูกครับ แต่ถูกไม่หมดครับ เราชาวพุทธด้วยกัน ควรช่วยกันแนะนำ ส่งเสริม หรือชี้นำชาวพุทธเราให้พบแสงสว่างทางปัญญา ด้วยมธุรสวาจา อย่างกัลยาณมิตร จะเกิดประโยชน์มากกว่าครับ
(1) เจดีย์มี 3 อย่างคือ ธาตุเจดีย์ (สรีรเจดีย์) 1 บริโภคเจดีย์ 1 อุทเทสิกเจดีย์ 1
ธาตุเจดีย์ จะมีได้ในกาลที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว

บริโภคเจดีย์ ไม่เป็นสิ่งปลูกสร้าง เป็นเพียงเนื่องด้วยพระพุทธเจ้าเท่านั้น (สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่) เช่น ต้นมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าอาศัยเป็นที่ตรัสรู้ ถึงพระพุทธเจ้าจะยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม ปรินิพพานแล้วก็ตาม เป็นเจดีย์ได้เหมือนกัน

อุทเทสิกเจดีย์ สิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า เช่น ต้นมหาโพธิ์ที่พระอานนท์ปลูกที่ประตูเชตวัน สถูป หรือพระพุทธรูป เป็นต้น ว่าด้วยการไหว้เจดีย์ 3 อย่างข้างต้น ที่ชาวพุทธนิยมไปอินเดีย-เนปาล ในรูปแบบการทัวร์ “สังเวชนียสถาน”

การบูชาเจดีย์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา คือ การแสดงความเคารพนับถือหรือเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธาในสิ่งที่ตนเคารพนับถือ ด้วยสิ่งของบ้าง (อามิสบูชา) ด้วยการแสดงออกทางกาย เช่น การเจริญสมาธิภาวนาบ้าง (ปฏิบัติบูชา)

ความสำคัญของการบูชา เป็นลักษณะของการยกย่องเชิดชูด้วยความบริสุทธิ์ใจ สอนให้มนุษย์ทำการบูชาบุคคลที่ควรบูชาและวัตถุที่ควรบูชา
คุณค่าของพระเจดีย์
(1) เป็นที่สักการะเคารพบูชาในฐานะถาวรวัตถุ
(2) เป็นศูนย์รวมใจของชาวพุทธ
(3) เป็นที่แสวงบุญและสักการะเคารพ

(4) เป็นสัญลักษณ์การทำนุบำรุงและสืบทอดพระพุทธศาสนา
(5) เป็นปูชนียสถานโบราณวัตถุของชาวพุทธ

ผมเชื่อมั่นว่า ท่านที่ไปสักการะพระเจดีย์ดังกล่าวข้างต้น ส่วนใหญ่ต้องการตามรอยบาทพระศาสดา ต้องการไปศึกษาในรูปแบบเชิงประจักษ์ ไม่ได้ไปไหว้เพื่อให้ถูกรางวัลที่หนึ่ง หรือร่ำรวย เพราะสังเกตเห็นว่า ในแต่ละคณะจะมีพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล คอยเป็นไกด์แนะนำให้เราได้เรียนรู้พระพุทธศาสนาจากพระเจดีย์ที่คงเหลือร่องรอยให้เราได้ซาบซึ้งในพระคุณขององค์พระศาสดาผู้ทรงค้นพบพระธรรมแล้วนำมาเผยแผ่แก่มวลมนุษยชาติ

ท่านที่กล่าวประโยคตำหนิชาวพุทธที่ไปสังเวชนียสถาน หรือประโยคอื่นใดก็ตามเกี่ยวกับพระเจดีย์ บ่งบอกว่าท่านไม่ได้ศึกษาคุณค่าที่เกิดจากพระเจดีย์ต่าง ๆ ท่านช่วยเทศนาธรรมที่ก่อให้เกิดความชุ่มชื่นหัวใจน่าจะเป็นการดีครับ

ซึ่งก่อนหน้านั่นเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ปีที่ผ่านมา เฟชบุ๊ค Hansa Dhammahaso ซึ่งเป็นเฟชบุ๊คส่วนตัวของ พระเมธีวัชรบัณฑิต  ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้โพสต์ตอบสังคมกรณี สังคมชาวพุทธได้แชร์คำพูดของ พระสิ้นคิด หรือ พระสินทรัพย์ จรณธมฺโม ประธานที่พักสงฆ์ป่าบ่อน้ำพระอินทร์ ต.ช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี พระชื่อดังในโซเชียล ที่ระบุว่า “ครูของเราคือพระพุทธเจ้านะ ไม่ใช่พระไตรปิฎก” ซึ่งในข้อความนั้นไม่ได้ระบุว่าพูดเมื่อไรและที่ไหน จริงหรือไม่ ดังมีความว่า

“เมื่อกาลล่วงไปแห่งเรา ธรรมและวินัยจะเป็นครูของเธอทั้งหลาย” ความในมหาปรินิพพานสูตร ธรรมวินัยที่เป็นครูถูกจารึกในคัมภีร์พระไตรปิฏก การเคารพต่อครูคือพระพุทธเจ้า ก็คือการแสดงความต่อพระธรรมวินัยตามที่ปรากฏในพระไตรปิฏก
การเคารพพระไตรปิฏกคือการเคารพสิ่งที่ครูได้นำเสนอเป็นลายแทงเพื่อปฏิบัติบูชาให้สามารถเข้าถึงมรรค ผล และนิพพาน เนรคุณต่อพระไตรปิฏกก็คือเนรคุณต่อครู ต่อธรรมวินัยของครู
ครู ผู้เป็นศาสดา หรือพระพุทธเจ้า กับแหล่งสำหรับบรรจุธรรมวินัยที่เป็นสิ่งเปรียบเช่นกับศาสดา หรือพระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นรูปหรือสภาวะ เป็นสิ่งที่แยกไม่ออกกับพระไตรปิฏก เพราะเกี่ยวเนื่องถึงกันและกัน ฉะนั้น ปฏิเสธหรือไม่ยอมสิ่งหนึ่ง ก็หมายถึงการปฏิเสธและไม่ยอมรับสิ่งหนึ่งเช่นกัน
เมื่อธรรมวินัยอันเป็นคำสอนในพระไตรปิฏกไม่มี พระพุทธเจ้าหรือศาสดาก็ไม่มี เมื่อพระพุทธเจ้าหรือศาสดาไม่มี พระสงฆ์ ทั้งสมมติสงฆ์ และอริยสงฆ์จะมีได้อย่างไร???..”

สำหรับพระสินทรัพย์ จรณธมฺโม ก่อนหน้านี้มีชาวพุทธกลุ่มหนึ่งร้องเรียนต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมไม่เหมาะสมของท่าน โดยอ้างว่า พระสิ้นคิด หรือ นายสินทรัพย์ สีรัง แห่งที่พักสงฆ์ป่าบ่อน้ำพระอินทร์ “มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมแก่สมณสารูป กล่าวคือ มีการไลฟ์สดเพื่อขอรับบริจาคเงินเป็นค่าบูชาธรรม โดยโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัว การอ้างตนว่าเป็นพระอรหันต์ เส้นผมกลายเป็นพระธาตุ เป็นการอวดอุตริ การไลฟ์สดตำหนิผู้อื่นออกสื่อ การฟ้องร้องญาติโยมที่แจ้งเรื่องไม่ถูกต้อง การแสดงตัวเป็นผู้มีอิทธิพล” จนเจ้าคณะปกครองในพื้นที่ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ

ซึ่งก่อนหน้านี้ “แหล่งข่าว” พระภิกษุรูปหนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยกับ Thebuddh ว่า “ตอนนี้เจ้าคณะปกครองในพื้นที่ไม่กล้าทำอะไร เพราะทางพระสิ้นคิดเอานักกฎหมายมา ทำแล้วกลัวผิดพลาด ความจริงเรื่องนี้มีคนไปถวายฏีกาต่อสมเด็จพระสังฆราช ในฐานะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต เนื่องจากพฤติกรรมของท่านหลายอย่างดูแล้วไม่เหมาะสม ทั้งเรื่องวัด ความจริงเป็นแค่ที่พักสงฆ์ พระมีจำนวนนับร้อย บางรูป คนก็สงสัยว่ามีใบสุทธิสังกัดถูกต้องหรือไม่ ขอให้ตรวจสอบประมาณนี้ แต่ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น ตอนหลังมันบานปลาย..”

Leave a Reply