“คณะกรรมการสิทธิฯ” ชี้เปรี้ยง!! บังคับตรวจเชื้อเอดส์ ก่อนบวชพระ ละเมิดสิทธิมนุษยชน?

วันที่ 28 ก.ย.2566  นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ เปิดเผยว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์เมื่อเดือนพ.ค.2566 ระบุว่า มูลนิธิฯ ได้รับแจ้งจากบุคคลซึ่งพบเห็นเหตุการณ์กรณีวัดปากบ่อ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกร้อง) ได้ประกาศรับสมัครบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ตามโครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาประจำปี 2566 โดยกำหนดให้ผู้สมัครต้องแสดงผลการตรวจสุขภาพ และระบุให้ต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวีเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการสมัคร ผู้พบเห็นเหตุการณ์จึงได้สอบถามเพิ่มเติมไปยังผู้ถูกร้อง และได้รับแจ้งว่าผู้สมัครที่ถูกตรวจพบเชื้อเอชไอวีไม่สามารถบรรพชาอุปสมบทได้ เนื่องจากเป็นโรคติดต่ออันตรายที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ร้องเห็นว่า เป็นการตีตราและเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม จึงร้องเรียนขอให้ตรวจสอบ และยกเลิกการบังคับตรวจเชื้อเอชไอวีออกจากเงื่อนไขการสมัครบรรพชาอุปสมบท

เรื่องนี้ กสม. ได้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยสอบถามไปยังวัดปากบ่อ และได้รับการยืนยันว่า การตรวจหาเชื้อเอชไอวีเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อจัดระเบียบให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย และปกติสุข แม้จะกำหนดให้ผู้เข้ารับการบรรพชาอุปสมบทต้องแสดงผลการตรวจสุขภาพ แต่มิได้นำเหตุแห่งสุขภาพของผู้เข้ารับการบรรพชาอุปสมบทมาเป็นเหตุในการพิจารณา และมิได้เหมารวมว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกรายห้ามเข้ารับการอุปสมบท หากผู้สมัครเข้ารับการบรรพชาอุปสมบทเป็นผู้ติดเชื้อก็สามารถเข้ารับการบรรพชาอุปสมบทได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพระอุปัชฌาย์ กสม. เห็นว่า ผู้ถูกร้องยังมิได้มีแนวทางที่จะยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีของผู้ประสงค์จะเข้ารับการบรรพชาอุปสมบท และอาจมีประเด็นเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งสุขภาพ จึงรับไว้เป็นคำร้องเพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กสม. พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย บทบัญญัติของกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 ให้การรับรองและคุ้มครองว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสภาพทางกาย หรือสุขภาพ ความพิการ อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้ นอกจากนี้ มาตรา 31 ยังให้การรับรองว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน

กสม. เห็นว่า ข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันได้ว่าเชื้อเอชไอวีจะไม่ติดต่อจากการทำกิจวัตรประจำวันทั่วไป และไม่ติดต่อผ่านทางระบบหายใจ อีกทั้งเชื้อเอชไอวีเป็นเชื้อที่ตายง่ายเมื่ออยู่นอกร่างกาย หากผู้ติดเชื้อได้รักษาอย่างถูกต้องด้วยการรับประทานยาต้านเชื้ออย่างต่อเนื่อง จะทำให้มีสุขภาพแข็งแรง และดำรงชีวิตได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป ประกอบกับกฎมหาเถรสมาคมกำหนดเพียงว่าผู้ประสงค์จะบรรพชาต้องเป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์ และมีเพียงข้อห้ามที่ไม่อนุญาตให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนที่มีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย เท่านั้น โดยให้เป็นดุลพินิจของพระอุปัชฌาย์ แต่การใช้ดุลพินิจดังกล่าวต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงอย่างสมเหตุสมผลตามบริบทของสังคมไทยและข้อมูลทางการแพทย์ โดยต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลด้วย ดังนั้น การที่ผู้ถูกร้องกำหนดให้ผู้ประสงค์จะบรรพชาอุปสมบทในโครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาปี 2566 และโครงการอุปสมบทหมู่ที่ผ่านมาต้องแสดงใบรับรองแพทย์ที่มีผลการตรวจเชื้อเอชไอวี โดยอ้างถึงความจำเป็นเพื่อให้สงฆ์หมู่มากอยู่ร่วมกันอย่างมีสุขอนามัย ทั้งที่การปฏิบัติธรรมตามปกติของหมู่สงฆ์ไม่มีกิจกรรมใดที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเอชไอวี จึงเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่เกินสมควรแก่ความจำเป็น กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังวัดปากบ่อ (ผู้ถูกร้อง) โดยให้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีของผู้ประสงค์จะเข้ารับการอุปสมบท และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งเวียนไปยังวัดที่อยู่ในสังกัดทุกวัดไม่ให้บังคับตรวจหาเชื้อเอชไอวีของผู้ประสงค์จะเข้ารับการอุปสมบท เพื่อมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมโดยใช้เหตุแห่งการติดเชื้อเอชไอวีมาเป็นข้อจำกัดที่ลิดรอนโอกาสในการเข้าถึงเสรีภาพในการปฏิบัติธรรมตามหลักศาสนาพุทธ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะไปยังกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ให้ประสานกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีให้กับหน่วยงานศาสนาต่าง ๆ ให้มีความเข้าใจและมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมโดยใช้เหตุแห่งการติดเชื้อเอชไอวีมาเป็นข้อจำกัดที่ลิดรอนโอกาสในการเข้าถึงเสรีภาพในการปฏิบัติตามหลักศาสนาทุกศาสนา และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประสานกระทรวงสาธารณสุขเพื่อดำเนินการถวายความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีแด่พระอุปัชฌาย์อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง…

Leave a Reply