ตั้งแต่วันที่ 21 -28 กรกฏาคม 2566 ที่ผ่านมานี้ “ผู้เขียน” เดินทางร่วมคณะกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) รวม 2 คณะ คณะแรกเป็นของ IBSC หรือวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ เดินทางไปกระชับความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยทงกุก ณ ประเทศเกาหลีใต้ หลังจากได้ทำ MOU ร่วมกันไว้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยเดินทางไประหว่างวันที่ 21 -26 กรกฏาคม 2566 นำโดย “พระเมธีวัชรบัณฑิต” ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ พร้อมคณะประมาณ 21 ชีวิต ซึ่งหลังจากมีการสัมมนาร่วมกระชับความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยทงกุก ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่โด่งดังมีนิสิตถึง 18,000 คน และมีสาขาหลายประเทศแล้ว คณะของ IBSC ยังได้ไปทัศนศึกษา เขตปลอดทหารเกาหลี (Korean Demilitarized Zone, DMZ) ไปดูผลพวงจากสงคราม ความขัดแย้ง พี่น้องต้องห้ำหั่นฆ่ากันเอง ครอบครัวแตกแยก ณ ตรงจุดนี้ถือว่าเป็น บทเรียนที่ดีสำหรับนักสันติวิธี ที่จะไปดูงาน พร้อมกับพาไปดูพิพิธภัณฑ์สงครามที่มีอนุสาวรีย์ “พี่น้อง” ทหารคู่หนึ่งที่จากกันตั้งแต่เด็ก พี่อยู่ประเทศหนึ่ง น้องอยู่อีกประเทศหนึ่ง ทั้งคู่มีอุดมการณ์ “รักชาติ” สุดท้ายเมื่อเจอกันในสงคราม “ฆ่ากัน” ไม่ลง สุดท้ายยอมตาย “พร้อมกัน” เมื่อจบปัญหา ซึ่งอนุสาวรีย์นี้เป็น เรื่องจริง ที่มีคนการทำเป็นบทละครและภาพยนตร์ออกมาหลายเวอร์ชั่น
“ผู้เขียน” ตกลงกับ พระเมธีวัชรบัณฑิต แล้วว่า “ขอกลับก่อน” เนื่องจากติดภารกิจไปกับ คณะมนุษย์ มจร ตั้งแต่วันที่ 25-28 ซึ่งครั้งแรกได้รับการติดต่อจาก ดร.เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ รองคณบดีคณะมนุษย์ศาสตร์ ร่วมเดือนแล้ว ตอนแรกปฎิเสธที่จะไป เพราะเพิ่งเดินทางไปถวายพระพุทธรูปกับคณะของ พระศรีสุทธิเวที ผอ.วิทยาลัยบาฬีพุทธโฆส จังหวัดนครปฐม ไปหมาด รู้สึกเหนื่อย แม้กับ IBSC ตอนแรกที่พระเมธีวัชรบัณฑิตชวนก็ปฎิเสธนั้น แต่ท่านให้กลับก่อนจึงตอบรับ..ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่ไป เนื่องจาก พระเมธีวัชนบัณฑิต ท่านเป็นผู้มีเมตตาต่อ “ผู้เขียน” เป็นอย่างยิ่งทั้งให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก ทั้งให้ทุนการศึกษาต่อคณะสงฆ์มอญ และเมตตาช่วยเหลือผู้เขียนมาแล้วหลายเรื่องจึงตอบรับไป..แต่ขอกลับก่อน
การเดินทางไปกับคณะมนุษย์ “ผู้เขียน” ประชุม 2-3 ครั้งกับ “ชมรมพระนิสิตมอญ มจร” และรวมทั้งคณะมนุษย์เองด้วย เพราะดูจากท่าทีของคณะมนุษย์แล้ว “ทำท่า” ลำบากแน่ เนื่องจาก..ไร้ประสบการณ์
แต่สาเหตุเดียวที่ผู้เขียนจำเป็นต้องไป นอกจากคุ้นเคยกับ ดร.เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ มาอันยาวนานแล้ว สาเหตุหลักประการเดียวคือเพื่อ “ชาติพันธุ์มอญ”
“ผู้เขียน” ทำเรื่องการส่งเสริมการศึกษาให้กับพระภิกษุสามเณรมอญตั้งแต่สมัยบวชคือ ปี 2545 โดยตั้ง “ชมรมส่งเสริมพัฒนาการศึกษาพระสงฆ์มอญ” โดยเชิญ ชวน ช่วย เชื่อม ให้เด็กมอญตามแนวชายแดนให้เข้ามาบวช พร้อมกับมอบทุนการศึกษาให้กับพระสงฆ์มอญให้มาเรียน “มจร” ครั้งแรกซึ่งเดิมไม่มีพระภิกษุสามเณรมอญฝั่งประเทศพม่ามาเรียน “มจร” เลยแม้แต่รูปเดียว ส่วนใหญ่ไปประเทศอินเดียและศรีลังกา
“ผู้เขียน” ทำมาตั้งแต่นั้นจนบัดนี้ในนาม “มูลนิธิรามัญรักษ์” ปัจจุบันมีพระภิกษุและฆราวาสมาร่วม มจร ร่วม 50 กว่าชีวิต และต่อมาประมาณปี 2562 “ผู้เขียน” ได้รับความเมตตาจาก “พระพรหมบัณฑิต” อธิการบดี มจร ยุคนั่น และ “พระเมธีวัชรบัณฑิต” หรือ “พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส” ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติไปเซ็นต์ MOU กับมหาวิทยาลัยสงฆ์มอญที่มีชื่อว่า “มหาวิทยาลัยรามัญรัฎฐะ” ท่ามกลาง “ผู้บริหารบางรูป” ของ มจร คัดค้าน เนื่องจากมหาวิทยาลัยสงฆ์มอญ ไม่ครบองค์ประกอบแทบทุกด้าน แต่ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ท่านก็เมตตาต่อผู้เขียนยอมไป อันนี้คือความใจกว้างของ “ผู้เป็นพุทธบุตร”
การไปคราวนั้น “ผู้เขียน” ชวนชมรมพระนิสิตมอญไปเตรียมงานล่วงหน้าประมาณ 10 วัน พร้อมผู้เขียน โดยมูลนิธิรามัญรักษ์ ออกค่าใช้จ่ายการเดินทางให้ และแม้แต่คณะ IBSC มูลนิธิรามัญรักษ์ ก็อำนวยความสะดวกให้ โดยมีกัลยาณมิตรคนสำคัญของผู้เขียนทั้ง “นายกุนจุ้นและนายมินอ่อง” คอยอำนวยความสะดวกทั้งเรื่องการเดินทาง ที่พัก อาหาร ให้พร้อมสรร
อันนี้ “ผู้เขียน” เล่าคร่าว ๆ พอให้เห็นภาพว่า การทีคณะมนุษย์ศาสตร์เดินทางไปครั้งนี้นั้นที่ดูแล้ว “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” ดูแลประเภทดีเยี่ยมเกินความคาดหมายนั้น..พื้นหลังเป็นมาอย่างไร
“วันแรก” พวกเราในนามคณะมนุษย์ศาสตร์ ภายใต้ปีกของ “มจร” ได้รับการต้อนรับจากคณะสงฆ์รามัญนิกายที่สนามบินย่างกุ้ง นำโดยรองประธานคณะสงฆ์รามัญนิกายและนายกุนจุ้น รวมทั้งนายมินอ่อง ซึ่งบุคคลเหล่านี้คุ้นเคยกับ “ผู้เขียน” เป็นอย่างดีอยู่แล้ว และทั้งรู้จักกับคณะมนุษย์ศาสตร์อย่าง ดร.เมธาพันโพธิธีรโรจน์ มาก่อนร่วมทั้งการเดินทางไปครั้งนี้มีพระนิสิตมอญร่วมเดินทางไปอำนวยความสะดวกด้วยจำนวน 4 รูป ทั้งล่ามแปลและอื่น ๆ ดูแล้วค่อนข้างสะดวกสบายทั้งเรื่องกรอกเอกสารและการประสานงาน..
ณ พุทธสมาคมมอญประจำเมืองย่างกุ้ง นอกจากมีการจัดสาธยายประไตรปิฎกนานาชาติแล้ว มีการสัมมนาร่วมเรื่องการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับคณะสงฆรามัญนิกาย ซึ่งมีคณะสงฆ์รามัญนิกายประจำเมืองย่างกุ้ง นักวิชาการ นักธุรกิจ รวมทั้งประชาชนมาร่วมจำนวนมาก มีการแลกเปลี่ยนความรู้ บรรยากาศเป็นไปด้วยความเป็น “กัลยาณมิตร” แวบเห็นผู้บริหารคณะมนุษย์หลายคนเชิญนักวิชาการและนักปราชญ์มอญเหล่านั้นมาขอเป็น “อาจารย์พิเศษ” เพื่อสอนนักศึกษาของตัวเองด้วย..
“ผู้เขียน” ในฐานะคนประสานงานเห็นแล้วอดปลาบปลื้มใจไม่ได้..เพราะเป้าหมายเชิญ ชวน เชื่อม มจร ให้มาเมียนมา ก็เพื่อสิ่งนี้คือ ให้ชาติพันธุ์มอญมีเวที และมีที่ยืนในสังคมโลก
“วันสำคัญ” คือวันที่ 27 กรกฏาคม 2566 หลังจากพวกเราเดินทางมายัง เมืองเมาะละแหม่ง รัฐประเทศ ประเทศเมียนมา ตั้งแต่เช้าวันที่ 26 เพื่อมาประชุมร่วมกับ คณะสงฆ์รามัญนิกาย ที่วัดศาสนา 2500 ซึ่งเป็นศูนย์กลางของคณะสงฆ์มอญ เมืองเมาะละแหม่ง และมหาวิทยาลัยรามัญรัฎฐะ ที่ต้องใช้เวลาจากย่างกุ้งกว่าจะถึงเมืองเมาะละแหม่งประมาณ 7 ชั่วโมง ท่ามกลางด่านทหาร ตำรวจ ตรวจเข้ม หากเป็นรถโดยสารทั่วไป ทุกคนจะต้องลงจากรถทีละคนเดินผ่านด่าน แต่คณะ มจร ไม่ต้องลงจากรถ เพราะรองประธานคณะสงฆ์รามัญนิกายท่านประสานกับด่านต่าง ๆ ล่วงหน้าแล้ว
“ผู้เขียน” ได้รับการอำนวยความสะดวกจากคณะสงฆ์และนายมินอ่อง รถยนต์ 1 คัน โดยนายมินอ่องให้ลูกชายที่คุ้นเคยกับผู้เขียนเป็นอย่างดี พูดภาษามอญ อังกฤษคล่อง เพราะจบมาจากประเทศอังกฤษเป็นคนขับรถให้ และมี “พระอาจารย์เตชะ” ที่สนิทสนมกันมานาน ร่วมเดินทางด้วย
ที่พม่า..รถพระสงฆ์ผ่านฉลุยทุกด่าน ไม่ต้องเสียค่าทางด่วน ด่านตรวจก็ได้สิทธิพิเศษ
วันแรกของการประชุม..ผู้เขียนไม่คาดคิดว่าคณะสงฆ์รามัญนิกายจะมีการพัฒนาการต้อนรับได้ “ดีเยี่ยม” เกินความคาดแบบนี้ มีการเตรียมงานไว้เป็นอย่างดีทั้งด้านสถานที่สะอาดขึ้น จัดโต๊ะสัมมนา มีอาหารว่างคอยต้อนรับ มีพระผู้ใหญ่ฝ่ายรามัญนิกายมากันครบ ตั้งแต่ประธานคณะสงฆ์รามัญนิกายที่ มจร มอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้ จนถึง พระภิกษุเจ้าหน้าที่ประจำออฟฟิต ซึ่งหลายรูปรู้จักกัน..เพราะท่านเหล่านี้ “ผู้เขียน” เคยขอความเมตตาจาก “พระเมธีวัชรบัณฑิต” จัดคอร์สพิเศษเรื่องงานบริหารออฟฟิตให้ ยุคที่ท่านเป็น “ผอ.สถาบันภาษา” ร่วม 40 วันทราบว่าท่านหมดงบประมาณ 4 แสนกว่าบาท
ณ ตรงนี้ผู้บริหารคณะมนุษย์ทำหน้าที่ “นักการตลาด” ได้ดีเยี่ยม แนะนำ มจร แนะนำ หลักสูตร พร้อมมอบโปรโมชั่นพิเศษด้านทุนการศึกษาให้ เสียดายว่า “ผู้เขียน” ฟังภาษาอังกฤษไม่ออก ไม่งั้นข้อมูลอาจได้มากกว่านี้ ในขณะที่ “พระรุ่นใหม่” ซึ่งเป็นยุวสงฆ์ของคณะสงฆ์รามัญนิกาย ซึ่งส่วนใหญ่จบการศึกษาจากประเทศไทยบ้าง ศรีลังกาบ้าง “พรีเซนต์” ความเป็นมาของคณะสงฆ์รามัญนิกาย การงานและผลงานได้อย่างน่าทึ่งเช่นกัน
และตรงนี้ก็ต้องยกย่องพระนิสิตมอญเราด้วย ที่พวกท่านทำงานเป็นล่าม และประสานงานได้ดีมาก
ช่วงบ่าย “ไฮไลท์” อยู่ที่ มหาวิทยาลัยรามัญรัฎฐะ เป็นจุดเดียวกันกับที่ มจร นำโดย IBSC เคยมาทำ MOU อันเป็นประวัติศาสตร์ “หน้าหนึ่ง” ของคณะสงฆ์รามัญนิกายไว้ ทางมหาวิทยาลัยรามัญรัฎฐะ ได้ชวนพระภิกษ -สามเณร รวมทั้งฆราวาสมาจากหลายสำนัก หลายกลุ่ม เพื่อมาฟัง “นักการตลาดการศึกษา” จากคณะมนุษย์ศาสตร์นำโดย พระมหาสมชาย กิตติปญฺโญ ดร.เมธาพันโพธิธีรโรจน์ ดร.สิริวัฒน์ ศรีเครือดง และอีกหลายท่าน เท่าที่ฟังคร่าว ๆ ให้พระมอญแปล พูดตรงก็คือ มาหานักศึกษา พร้อมกับมีข้อเสนอพิเศษหรือ “ทุนการศึกษา” เป็นแรงจูงใจ
สรุปความการเดินทางไปทั้งสองประเทศของ “ผู้เขียน” ที่ร่วมคณะกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร ทั้ง 2 คณะ บรรยากาศคนละอารมณ์ ไปประเทศเกาหลี สะดวกสบาย มีคนดูแล ไม่ต้องคิด ไม่ต้องวิ่ง ไม่ต้องลุ้นอะไร แต่ไปกับคณะมนุษย์ศาสตร์งานหนัก ตั้งแต่ประสานกับคณะสงฆ์ฝั่งมอญ ประสานเรื่องที่พัก สถานที่สัมมนา เนื้อหาที่จะให้ฝั่งคณะสงฆ์มอญต้องพรีเซนต์ ลุ้นตั้งแต่วันแรกที่ไป..จนถึงวันกลับ
เพื่อสิ่งเดียวที่คิดทำทนลำบากคือ..เพื่อตอบแทนบุญคุณผ้าเหลือง และเพื่อชาติพันธุ์
Leave a Reply