ดร.อเนกไอเดียกระฉูดหวังตั้ง “ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาและศาสนาต่างๆ ”

        วันนี้ (17 ก.ย.63)   ณ ห้องประชุมสุขเสริม สโมสรนายทหารอากาศ บางซื่อ กรุงเทพฯคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา จัดสัมมนาเรื่อง “การพลิกโฉมมหาวิทยาลัยต่อการผลิตบัณฑิตศักยภาพสูงและการวิจัยเพื่อการขับเคลื่อนประเทศ” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารระดับสูงจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วมการสัมมนา

         พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา กล่าวในตอนหนึ่งว่า กรรมาธิการมีความมุ่งหวังที่จะสร้างนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและสามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ต่อนิสิตนักศึกษา สังคม ชุมชนและประเทศ จากปัจจัยด้านต่าง ๆ ทั้งสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก การพัฒนาของเทคโนโลยีรวมถึงปัจจัยด้านอุบัติภัยที่เกิดขึ้นล้วนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอย่างยิ่งที่เราจำเป็นต้องมีการปรับตัว ทั้งหมดนั้นส่งผลแน่นอนต่อความต้องการของตลาด ความต้องการแรงงานและการแข่งขัน บางกิจการอาจจะมีการลดแรงงาน หรือต้องการแรงงานที่มีศักยภาพสูงขึ้น เราต้องช่วยกันสานต่อเพื่อสร้างให้พลเมืองของไทยมีศักยภาพ สามารถแข่งขันได้ มีสัมมาชีพ มีคุณภาพที่ดี และเป็นคนดีของสังคมต่อไป

           ในขณะที่ ศาสตราจารย์พิเศษดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า เรามีสมรรถนะในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงมาก จัดอยู่ในระดับชั้นนำของอาเซียน ทั้งนวัตกรรมด้านเครื่องมือทางการแพทย์ การวิจัยและวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับจุลินทรีย์ งานวิจัยเกี่ยวกับอาหารต่าง ๆ ซึ่งสามารถพัฒนาและผลักดันให้เข้าสู่อุตสาหกรรมที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ นอกจากนี้สมรรถนะสูงยังต้องหมายถึงการมีสมรรถนะสูงในทางศิลปะ ทางสังคม และทางมนุษยศาสตร์ด้วย กระทรวงของเราจึงจะเป็นกระทรวงที่ไม่ได้มีแต่เรื่องวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเท่านั้น แต่เราจะเป็นกระทรวงที่เพิ่มสมรรถนะให้กับประเทศในศาสตร์รอบด้านอีกด้วย

           รมว.อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า มีแนวคิดที่อยากจะให้มีการทำวิจัยครั้งใหญ่ในเรื่องดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งจะทำให้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ย้อนลึกไปกว่าสมัยสุโขทัย เป็นความภาคภูมิใจของชาติเรา และจะดึงดูดให้นักวิจัย นักวิชาการที่เก่งระดับโลกในเรื่องประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิซึ่งมีอยู่ทั่วโลก เข้ามาทำวิจัยในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้งานด้านโบราณคดี งานด้านประวัติศาสตร์ของไทยขึ้นไปสู่ระดับโลกได้ในเวลาอันรวดเร็ว

         “..และนอกจากนี้ยังอยากให้มีสมรรถนะสูงในทางธรรมะเพื่อชีวิต ธรรมะเพื่อวิชาการ ธรรมะเพื่อความเจริญทางโลกด้วย คือ มหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ซึ่งในอนาคตก็อาจจะมีมหาวิทยาลัยศาสนาอื่น ๆ ด้วย อาจจะส่งเสริมให้ขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยที่จะต้องมีเอกลักษณ์ มีเป้าประสงค์ที่ชัดเจนไม่เหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป ทำอย่างไรที่จะใช้หลักศาสนาพุทธสามารถมาชี้นำชีวิตทางโลก ทางวิชาการในมหาวิทยาลัยแบบปกติได้ด้วย    ถ้าเราไม่มีทางธรรมะเข้ามากำกับ เราก็จะเป็นคนที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ชาติของเราก็ไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น จึงตั้งใจที่จะทำให้เกิดมหาวิทยาลัยประเภทพระพุทธศาสนาหรือศาสนาต่าง ๆ เพื่อที่จะทำให้คนมีปัญญา มีธรรมะ มีหลักวิชา เจริญทั้งทางวัตถุและทางธรรม

           เรื่องเร่งด่วนที่มหาวิทยาลัยควรจะต้องปรับตัวในตอนนี้ คือต้องพยายามทำให้วิชาการสู่การปฏิบัติ ต้องพยายามให้มีการปฏิบัติอยู่ในการเรียนการสอนให้มาก หลีกเลี่ยงที่จะผลิตคนออกไปแล้วปฏิบัติไม่ได้ ปฏิบัติได้ไม่ดี หรือปฏิบัติได้น้อย พยายามทำให้เขามีความรู้ มีทักษะ มีความชำนาญในการปฏิบัติด้วย อยากให้ทุกสาขาวิชาทำให้ได้อย่างโรงเรียนแพทย์ ที่จบออกไปแล้วก็ต้องเป็นหมอได้ทันที บางวิชายังห่างเหินการปฏิบัติ หรือปฏิบัติน้อยเกินไป มหาวิทยาลัยต้องยินดีต้อนรับโลกแห่งการปฏิบัติให้เข้ามาช่วยสอน และช่วยวางหลักสูตร ซึ่งทาง กกอ.โดย ศ.นพ.อุดม คชินทร ก็ได้จัดทำในส่วนนี้อยู่ ผมในฐานรัฐมนตรีว่าการฯ พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่..”  รมว.อว. กล่าวในตอนท้าย

          คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา กำหนดให้มีการจัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความเข้าใจ ที่ตรงกันของแต่ละมหาวิทยาลัยเพื่อการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Re – Inventing University) ต่อการผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสร้างและผลิตกำลังคน ด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ด้านการขับเคลื่อนความเป็นสากล (International Hub for Higher Education) ด้านระบบฐานข้อมูลการอุดมศึกษา และด้านธรรมาภิบาล อันจะนำไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับทิศทาง การพัฒนาประเทศโดยรวมตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศต่อไป.

***********************

ขอบคุณภาพ -ข้อมูล: กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.อว.(ภารกิจด้านการอุดมศึกษา)

Leave a Reply