“จังหวัดนครนายกที่ดินแพงมากเพราะอยู่ใกล้กรุงเทพเป็นจังหวัดท่องเที่ยว และที่จังหวัดนครนายกมีศูนย์ฝึกอบรมสำหรับคนเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา แปลงขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ให้ไปดูหน่อยว่า การดำเนินการโคก หนอง นา เป็นอย่างไรบ้าง และแรงจูงใจ คนเข้าร่วมโครงการ เป็นอย่างไร เขาสะท้อนปัญหาอะไรบ้าง..”
ทีมงานได้รับโจทย์เล็ก ๆ จากการประชุมร่วมกันกับทีมกองบรรณาธิการเพื่อหาพิกัดพื้นที่ลงสำรวจการทำโคกหนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน
จังหวัดนครนายกเป็นจังหวัดเล็ก ๆ มีประชากรไม่ถึง 3 แสนคน มีเพียงแค่ 4 อำเภอ แต่มีแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม เป็นที่ตั้งของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง การเดินทางจากกรุงเทพมหานครระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ผ่านเส้นทางรังสิต -นครนายก ที่สองฝากฝั่งตั้งแต่เลยคลอง 9 ไป มีร้านต้นไม้ราคาย่อมเยาตลอดเส้นทาง
จากข้อมูลของพัฒนาการจังหวัดนครนายก มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา จำนวน 166 แปลง ส่วนใหญ่ขนาด 1 ไร่ มี 128 แปลง ขนาด 3 ไร่เพียงแค่ 38 แปลง ตอนนี้บางแปลงเริ่มขุดบ้างแล้ว
“พี่เจี๊ยบ” นิภาพรรณ เทียมธรรม ผอ.กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชนจังหวัดนครนายก ไกด์กิตติมศักดิ์พาทีมงานลงพื้นที่แปลงเป้าหมาย 2 แปลง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองและเขตอำเภอบ้านนา ซึ่งทั้ง 2 แปลงมีขนาด 3 ไร่ และ 1 ไร่ ที่น่าสนใจคือ ทั้ง 2 แปลง มิได้คิดแต่ปลูกพืชผัก ผลไม้หรือไม่เศรษฐกิจอย่างเดียว แต่คิดต่อยอดด้วย
“ป้าวรรณ” อุทัยวรรณ ศรีตะปันย์ หญิงวัย 72 ปี อาชีพค้าขายผลไม้จำพวกมะยงชิดและผลไม้พื้นถิ่นอื่น ๆ เจ้าของแปลงแรกในเขตอำเภอเมือง บอกว่า
ที่ดินตรงนี้มีประมาณ 5 ไร่ เมื่อสองเดือนที่แล้วมีคนมาขอซื้อไร่ละ 2.5 ล้าน แต่ไม่ขาย เพราะไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน และตั้งใจเข้าร่วมโคก หนอง นา ลงทะเบียนเอาไว้กับกรมพัฒนาชุมชน 3 ไร่ อยากปลูกต้นไม้มะริด ซึ่งไม้ชนิดนี้ผลมันเหมือนแอปเปิ้ล ทานได้ และที่สำคัญปลูกเพื่อเอาต้นของมัน ไม้มะริดเป็นไม้เนื้อแข็ง ไปทำเครื่องดนตรีได้ ซึ่งปัจจุบันตลาดต้องการอย่างมาก
สำหรับ “ไม้มะริด” เป็นไม้ค่อนข้างหายาก เพราะมีถิ่นกำเนิดในฟิลิปปินส์ เมืองไทยไม่ค่อยมีปลูกกันมากนัก ต้นมะริดเป็นไม้ที่มีการกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ของเมืองตรัง ว่าเป็นไม้ที่ใช้ส่งส่วยให้กับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช สมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เมืองตรัง พ.ศ. 2433 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ถึงเครื่องเรือนเครื่องใช้ประเภท ตลับ โถ ที่ทำด้วยไม้มะริด มีการกล่าวถึงไม้มะริดในเมืองตรังว่า “ได้ถามถึงไม้มะริดว่า ไม่มีซื้อขายกัน แต่ต้นที่มีอยู่นั้นไม่ใช่บนเขาสูง ที่ต่ำ ๆ ก็มี”
สำหรับไม้มะริด ส่วนใหญ่ใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ชั้นดี ด้ามเครื่องมือ หีบบุหรี่ หีบประดับมุก กรอบรูป ด้ามปืน เครื่องดนตรี เครื่องรางของขลัง ฯลฯ และด้วยภูมิปัญญาความรู้ของช่างดนตรีไทยในอดีต ได้นำไม้มะริดมาทำเครื่องดนตรี เล่าขานกันว่า…เครื่องดนตรีที่ทำมาจากไม้มะริดเสียงจะใส และกังวานมาก ฝรั่งนิยมมาหาซื้อกัน ปัจจุบันเกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว
“อีกประการหนึ่งสำคัญ คือ ตั้งใจไว้ว่า ตรงนี้นอกจากจะทำโคก หนอง นา ปลูกต้นมะริดแล้ว จะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จะทำเป็นโฮมสเตย์เล็ก ๆ เพราะติดถนนใหญ่ เป็นเส้นทางผ่านแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลาย ๆ แหล่ง และตามปกติร้านกาแฟที่อยู่ติดกันซึ่งเขาจัดการได้ดีร่มรื่นก็มีคนมาเที่ยวมาพักประจำกันอยู่แล้ว จะให้ลูกสาวมาดูแล วางแผนไว้แบบนี้” ป้าวรรณ บอกเป้าหมายของการเข้าร่วมโคก หนอง นา
และที่นี่ทีมงานเราได้เจอกับนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ “นพต.” จำนวนสองคน ทั้งสองคนได้รับผล กระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 เต็ม ๆ
“ไพบูลย์ จุอุบล” อายุ 43 ปี เดิมมีอาชีพขายผักสดอยู่ที่ตลาดสี่มุมเมือง ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 รอบแรก ตลาดผักปิด ส่งผลให้ไม่มีรายได้จึงเข้าร่วมสมัครโครงการนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบโดยได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 9 พันบาท
“ค่าตอบแทน 9 พันบาท อยู่ได้ ทุกวันนี้ก็ทำงานร่วมกันทางพัฒนการอำเภอ ด้านเอกสารและลงพื้นที่ให้คำแนะนำกับเจ้าของแปลงทุกวัน หากไม่มีรายได้ตรงนี้ครอบครัวลงลำบาก..”
“ณัฐพล ทศกรณ์” อายุ 23 ปีเพิ่งจบจากสถานบันการศึกษาแห่งหนึ่ง เพราะไม่มีงานทำเหมือนกัน จึงเข้าร่วมโครงการ
“จบออกมาก็ไปสมัครงานหลายแห่ง แต่ก็ยังไม่มีใครตอบรับกลับมา จึงสมัครเข้าร่วมโครงการของกรมการพัฒนาชุมชน เมื่อทางกรมพัฒนาชุมชนรับก็มาทำงานตรงจุดนี้..”
จังหวัดนครนายก อำเภอองค์รักษ์ มีครัวเรือนยกเลิกหลายแปลง เพราะเขาบอกว่าระเบียบขั้นตอนของภาครัฐมันเยอะ แต่เมื่อยกเลิกหน้าที่เราทางจังหวัดก็ต้องหาแปลงใหม่ ที่จังหวัดนครนายกที่ดินมีราคาแพง คนครองที่ดินส่วนใหญ่เป็นจำพวกเจ้าของสวน บางแห่งเขามีร่องน้ำ บางแห่งเขามีบ่อของเขาอยู่แล้ว เมื่อเราเอาแบบแปลนของเราไปใส่ เจ้าของแปลงบางคนก็อาจไม่เอา เราก็ต้องชี้แจงเงื่อนไขให้เจ้าของแปลงเข้าใจ บางรายถอดใจ ยกเลิก เราก็ต้องหาแปลงใหม่
“งานโคก หนอง นาเป็นงานใหม่ของกรมเรา ซึ่งพวกเราตั้งแต่ท่านอธิบดี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ จนถึงพวกเราก็พยายามทำงานเต็มที่ทำงานเกือบทุกวัน โคก หนอง นา ชาวบ้านได้ประโยชน์มาก มันสร้างความมั่นคงด้านอาหารและชีวิตได้จริง ชาวบ้านต่อยอดได้ แต่ในขณะเดียวกันปัญหาจุกจิกมันเยอะ ก็พยายามแก้ไขไป อันไหนแก้ไม่ได้ก็ต้องรายงานให้กรมรับทราบ เพราะบางเรื่องเป็นระดับนโยบาย..” พี่เจี๊ยบ ระบายความใจให้ฟัง เมื่อพูดถึงแบบแปลนและปัญหาในพื้นที่
หลังจากพวกเราดูพื้นที่โคก หนอง นา ของป้าวรรณ เรียบร้อยแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ แปลงที่ 2 อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ที่นี่ทีมงานได้รับข้อมูลว่า
เจ้าของแปลงเป็นสตรีเช่นเดียวกัน กลับมาจากสหรัฐอเมริกา เคยทำงานจิตอาสาช่วยงานสมเด็จย่าสร้างโรงเรียน ตั้งแต่ยุคแรก ๆ ที่สมเด็จย่าไปพัฒนาดอยตุง แปลงที่จะไปดูมีเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ เจ้าของแปลงแบ่งออกเป็น 3 โซน โซนแรก เป็นแปลงโคก หนอง นา โซนที่สอง ทำเป็นสถานที่ปฎิบัติธรรมและบ้านพัก และโซนที่สาม ปลูกผัก ปลูกพืชสมุนไพร
แต่กว่าจะเข้าถึงแปลงจากถนนลาดยาง ต้องผ่านคอนกรีตและลูกรัง แคบ ๆ ใช้เวลาพอสมควร เมื่อใกล้ถึงเห็นป้ายบอกว่า “โครงหนองนาโมเดล สถานปฎิบัติธรรม สวนสุขภาพสบายใจ พรหมสิริธรรม ป้าติ๋ว”
“ป้าติ๋ว” หรือ สิริลักษณ์ พรมประเสริฐ อายุ 67 ปี เล่าว่า จะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ออกเป็น 3 โซน คือ “ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” ชาติ หมายถึง ที่ดิน พื้นที่ดินเราตายไปแล้วมันเอาไปไม่ได้ มันก็ต้องอยู่กับชาติ ศาสนา มีการแบ่งโซนท้ายเป็นพื้นที่ปฎิบัติธรรมไว้ 3 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่พักจิต ดูจิตของเรา แล้วก็ โซน พระมหากษัตริย์ ท่านได้ให้ทฤษฎีไว้ เศรษฐกิจพอเพียง ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เมื่อยามที่มีวิกฤติเดือดร้อนป่วยไข้เราก็ไม่ต้องไปพึ่งใคร เราก็กินของที่มีประโยชน์สุขภาพ เราก็ไม่ต้องไปหาหมอ อย่างตอนนี้วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด ชัดเลย เศรษฐกิจพอเพียง
“มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่พระองค์ท่านยังไม่สวรรคตป่วยอยู่โรงพยาบาลศิริราช ยังไม่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด มีผู้ถามท่านว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ไม่มีพระองค์ท่านแล้ว พวกเราจะอยู่กันอย่างไง ท่านตอบว่าถ้าไม่มีภูมิพล ซึ่งหมายถึงพระองค์ ประเทศไทยก็ยังอยู่ได้ แต่ปลูกที่กินกินที่ปลูก เมื่อวิกฤติขึ้นมาเราไม่ต้องไปวิกฤตกับเขา เราหาเลี้ยงตัวเราได้ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีโคก มีหนอง มีนา มีผักข้างรั้ว ทั้งหมดที่พระองค์สอน ที่พระองค์สั่งเอาไว้ มันคือมรดกแห่งชีวิต มรดกเพื่อความอยู่รอดของคนไทยและของมนุษยชาติ..”
เมื่อถามว่า คิดอย่างไร จึงเข้าร่วมโครงการ “โคก หนอง นา” กับกรมพัฒนาชุมชน มีคนชวนหรือไม่ ป้าติ๋ว บอกว่า
โคก หนอง นาโมเดล พอเห็นประกาศในเว็บไซต์ก็เอาเอกสารไปที่อำเภอเลย ไปยื่นที่อำเภอว่า เรามีเจตจำนงที่จะเข้าร่วมโครงการค่ะ แล้วทางอำเภอแจ้งมาว่าต้องไปอบรมที่ศูนย์พัฒนาชุมชนที่สาริกา 5 วัน 4 คืน แล้วเขาก็กำหนดวันที่ให้ไปอบรม จริง ๆ แล้วเคยไปอบรมที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติกับอาจารย์ยักษ์หลายรอบแล้วค่ะ ทุก ๆ 2 ปีไปอบรมที่นั่นเพื่อให้ได้ความรู้ตามศาสตร์ของพระเจ้าอยู่หัวเรา
ป้าติ๋ว บอกต่ออีกว่า “จริง ๆ แล้วอยากเข้าร่วมโครงการให้มากกว่า 1 ไร่ แต่เขาบอกให้เอา 1ไร่ก่อน บ่อที่เห็นอยู่นี่เพิ่งขุดเสร็จได้ไม่นาน ก็เป็นห่วงอยู่ว่า จะเก็บน้ำได้หรือไม่ เพราะเป็นดินทราย อยากทำตรงนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ของกรมพัฒนาชุมชน แล้วเราก็เป็นครูพาทำ เป็นจิตอาสาไป เพราะเคยทำจิตอาสามานานตั้งแต่ยุคสมเด็จย่าขึ้นไปพัฒนาดอยตุง รับอาสาหาเงินหาทุนร่วมไปสร้างโรงเรียนบนดอย ตอนอายุประมาณ 32 ปี ตอนนี้อายุ 65 ก็ 30 กว่าปีแล้ว ตอนหลังไปเมริกาก็ทำงานจิตอาสาในวัดไทย สอนเด็กบ้าง หาทุนสร้างวัดบ้าง ก็ทำมาเรื่อย ตอนนี้เกษียณแล้ว ก็เลยกลับมาทำโคก หนอง นา ซึ่งคิดว่ามันคือ ทางรอดของพวกเราและเราก็ชอบอยู่กับธรรมชาติแบบนี้ด้วย”
ในขณะที่ “ดวงใจ ปะกิระคะ” พัฒนาการอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก บอกว่า “อำเภอบ้านนา มีครัวเรือนสมัครทั้งหมด 74 แปลง ที่อื่นอาจจะมีปัญหาเรื่องคนเข้าโครงการยกเลิก หรือมีปัญหาเรื่องช่าง แต่ที่อำเภอบ้านนายังไม่มีใครยกเลิก ตอนนี้ยังรักกันอยู่ ขุดไปแล้ว 4-5 แปลง ซึ่งเราต้องขอบคุณช่างที่มาช่วยเหลือตรงนี้..”
ส่วน “สมศักดิ์ จรัสศรี” นายช่าง อบต. ศรีกะอาง อำเภอบ้านนา เปิดเผยกับทีมงานว่า การขุดอาจมีปัญหาบ้างในเรื่องของจำนวนคิวดิน เช่น คลองที่ 1 สามร้อยคิว คลองที่ 2 สองร้อยคิว บ่อ หนึ่งพันคิว เวลารถเขาขุดมันไม่ได้ เพราะมันต้องเป็นไปตามแบบ ทั้งความลึก และความกว้าง มาตรฐานเขาออกไว้แบบนั้น เวลาเบิกเงินเขาให้เบิกตามจำนวนคิวดิน ส่วนใหญ่ผู้รับเหมามักได้ไม่เต็มจำนวนที่ทางส่วนกลางเขาคิดเอาไว้
“ตอนนี้บรรดารถแม็คโคร หลายแห่งก็บ่น มันไม่คุ้มเขา เพราะออกแบบเอาไว้ละเอียดเกิน แต่ก็เข้าใจ เพราะมันเป็นเงินรัฐ เงินภาษีของประชาชน ส่วนกลางก็ต้องควบคุม ส่วนผมในฐานะช่าง ก็ช่วยเหลือเต็มที่ มันเป็นหน้าที่ของข้าราชการอยู่แล้ว ในการที่จะช่วยเหลือชาวบ้านให้อยู่ดี กินดี..” นายช่างแห่ง อบต.ศรีสะอาง สะท้อนปัญหาในการขุดให้ทีมงานฟัง เพื่อให้หน่วยงานระดับบนได้เข้าใจปัญหาในการปฎิบัติงานจริงได้รับรู้ เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป
สำหรับโครงการ “โคก หนอง นา” นับว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลนำเงินรัฐเข้าสู่ระดับครัวเรือน โดยไม่ต้องผ่านกลุ่มหรือกองทุนอะไร จุดมุ่งหมายก็เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ และเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือนและชุมชน รวมทั้งเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับชุมชนและประเทศ โดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นตัวขับเคลื่อนตามทฤษฎีบันได 9 ขั้น ที่มุ่งเน้นพัฒนาคนให้พึ่งตนเองได้ เพื่อให้อยู่เย็น เป็นสุข โดยภายใต้การนำของ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนป็นแม่ทัพ ในการพิชิตความยากจนให้ชาวบ้านพึ่งตนเองได้ ในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าหรือโควิด -19 เป็นภัยคุกคามการอยู่ดี กินดีของประชาชนอยู่อย่างทุกวันนี้!!
Leave a Reply