เพจยุวสงฆ์เปิดปม..พ.ร.บ.คณะสงฆ์ที่วุ่นวาย..มีที่มาจากไหน??

           เพจคณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่หรือกลุ่มยุวสงฆ์ปลดแอกได้เผยแพร่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พร้อมกับจั่วหัวไว้ว่า

        “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่สร้างความสับสนวุ่นวายอยู่ในปัจจุบันนี้​มีที่มาจากไหนกัน !?”

          พ.ร.บ.สงฆ์​ ที่ใช้ในปัจจุบันนี้​ มีเค้าโครงมาจาก​ พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์​ ร.ศ. 121 สมัยรัชกาลที่​ 5 ซึ่งผู้ริเริ่มและมีส่วนร่วมในการให้กำเนิดกฎหมายฉบับนี้ขึ้น​ ก็คือ​ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า​ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส​ พระนามเดิม​ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ​ (พ.ศ.​2403-2464) เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่​ 4 นั่นเอง

           โดยท่านอ้างว่า​ “ขาดอำนาจ” ในการควบคุมการบริหารคณะสงฆ์​ และไม่พอใจที่จะอยู่ใต้บังคับบัญชาของกระทรวงธรรมการ​ และขอยกการปกครองคณะสงฆ์ไว้ต่างหาก​ (อ้างอิง​:การเคลื่อนไหวของยุวสงฆ์ไทยรุ่นแรก​พ.ศ.2477-2484​น.27/“เรื่องการจัดการเล่าเรียนตามมณฑลต่างๆ”, “ลายพระหัตถ์กรมหมื่มวชิรญาณวโรรสทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”)

           จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น​ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว​ รัชกาลที่​ 5​ จึงโปรดให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์​ ร.ศ.121​ ฉบับนี้ขึ้นมา

         ในการประชุมตกลงร่างพระราชบัญญัติ สมเด็จฯ​กรมพระยาดำรงราชานุภาพ​ #เป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า​ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส​ #เป็นผู้ตรวจแก้ไข และกำหนดอภิสิทธ์พิเศษของคณะสงฆ์ธรรมยุตไว้ในเชิงอรรถและพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ (อ้างอิง : สามสมเด็จ หน้า 39.)​

         ผลงานของพ.ร.บ.สงฆ์​ ร.ศ.121 ที่บ่งบอกว่ารัฐครอบงำศาสนาเต็มที่​ และได้ผูกสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นแล้ว​ คือ​ การรับรองการแบ่งแยกนิกาย​ ให้คณะธรรมยุติเป็นคณะสงฆ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย​ ซึ่งปรากฎในมาตรา​ 3 ของพ.ร.บ.สงฆ์​ ฉบับนี้นี่เอง​

         การแยกคณะสงฆ์ที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุด​ คือ​ กรณีสำนักสันติอโศก​ ซึ่งไม่มีกฎหมายใดๆ​ รองรับการมีอยู่ของสำนักนี้​ และล่าสุดอดีตสมณะของสำนักสันติอโศกรูปหนึ่ง​ ถูกดำเนินคดีแต่งกายเลียนแบบพระภิกษุฯ​ ซึ่งเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจมาก​ เพราะเข้าใจว่าคดีการแต่งกายเลียนแบบพระภิกษุของสำนักสันติอโศกสิ้นสุดลงหลายปีแล้ว​ และไม่น่าจะเป็นประเด็นขึ้นมาอีก

          กระบวนการตราพระราชบัญญัติมิได้เกิดจากการประชุมหรือปรึกษาหารือในกลุ่มคณะสงฆ์ทั้งสองนิกาย​ แต่เป็นเพียงการตกลงร่วมกันในกลุ่มผู้นำซึ่งเป็น “ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย​อันประกอบด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว​ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า​ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส​ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ​ (อ้างอิง​ : การเคลื่อนไหวของยุวสงฆ์ไทยรุ่นแรก​ พ.ศ.2477-2484​ น.30) ..”

        พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์​ ร.ศ.121​ นี้เอง​ ถูกยกเลิกเมื่อมีการเคลื่อนไหวและกดดันจากคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย จนเกิดมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์​ พ.ศ.2484​ มาใช้แทน ซึ่งถึงว่าเป็น พ.ร.บ.ที่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สุด จนเมื่อถึงปี 2505

       “จอมพลสฤษดิ์​ ธนะรัชต์”​ ยกเลิกและตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์​ พ.ศ.​2505​ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันขึ้นมาแทน และมีการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมด​ 3 ครั้ง​ คือ

          1.แก้ไขเพิ่มเติม​ ปี​ 2535 ยุคคณะรัฐประหาร​ “รสช.”

          2.แก้ไขเพิ่มเติม​ ปี​ 2560 ยุคคณะรัฐประหาร​ “คสช.”

         3.แก้ไขเพิ่มเติม​ ปี​ 2561 ยุคคณะรัฐประหาร​ “คสช.”

          ซึ่งเนื้อหาที่มีการแก้ไข​เพิ่มเติมในแต่ละครั้ง​จะเกี่ยวข้องกับประเด็นไหนบ้าง โปรดติดตามตอนต่อไป…ศีลภูษิต

หมายเหตุ..บางถ้อยคำเรียบเรียงใหม่ เพื่อให้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น (กองบก.)

 

Leave a Reply