‘แมงสี่หูห้าตา’ จากตำนานสู่การสร้างสุขภาวะชุมชน ด้วยศิลปะดอยเขาควายเชียงราย งานวิจัย ‘วช.-มจร’ หนุน
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562 ชาวชุมชนดอยเขาควาย อ. เมือง จ.เชียงราย ได้ร่วมกันติดตั้งป้ายบอกทางวัดพระธาตุดอยเขาควาย ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง “The Power of Art : กระบวนการสร้างสุขภาวะทางสังคม กรณีศึกษาแมงสี่หูห้าตาของเมืองเชียงราย” ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อพัฒนาการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมในการใช้สัญลักษณ์ทางศิลปะแมงสี่หูห้าตานำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมแห่งศิลปะในการสร้างสุขภาวะทางสังคม
อาจารย์มานิตย์ กันทะสัก อาจารย์สาขาพุทธศิลปกรรมวิทยาลัยสงฆ์เชียงราย หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ได้กล่าวถึงกิจกรรมนี้ว่า ป้ายบอกทางแมงสี่หูห้าตานี้ เป็นศิลปะพัฒนาต่อยอดมาจากการจัดงานกีฬาแห่งชาติเชียงรายเกมส์ ครั้งที่ 46 ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้ใช้ศิลปะเป็นกลไกในการเชื่อมชุมชน สังคม ให้เกิดความรักความสามัคคีในการร่วมกันสร้างมาสคอทแมงสี่หูห้าตาซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานของจังหวัดเชียงรายขึ้นมาเพื่อร่วมขบวนงานกีฬาแห่งชาติ ซึ่งทางโครงการวิจัยฯได้ทำการขับเคลื่อนกิจกรรมโดยใช้สัญลักษณ์ของแมงสี่หูห้าตาร่วมกับชุมชน ที่อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย และได้ต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรมศิลปะร่วมกับชุมชนดอยเขาควายอีกครั้ง โดยมีการสร้างสรรค์งานร่วมกับชุมชนตั้งแต่การร่วมคิดวิเคราะห์ ร่วมวางแผน ร่วมทำ ในการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบป้ายบอกทางในครั้งนี้ โดยมีชื่อเรียกว่า
“ป้ายแมงสี่หูห้าตาสอนธรรม” ซึ่งลักษณะของป้ายนั้นได้นำยางรถยนต์เก่าซึ่งเป็นวัสดุที่เหลือใช้และมีมากมายในชุมชนมาดัดแปลงในการสร้างสรรค์และออกแบบเป็นรูปแมงสี่หูห้าตาในตำนานเป็นแรงบันดาลใจคือ มีรูปร่างเป็นหมีอ้วนดำ โดยในตัวหมีนั้นจะมีปริศนาธรรมจากแมงสี่หูห้าตา ประกอบด้วย 4 หู หมายถึง การมีพรหมวิหารสี่ 5 ตา หมายถึงศีลห้า เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมผ่านป้ายบอกทาง นอกเหนือจากการสร้างสุนทรีย์จากงานศิลปะ
ด้านนางบรรจง วงศ์ตระกูล ประธานชุมชนดอยเขาควายเผยว่า รู้สึกดีใจที่หน่วยงานการศึกษาได้มาร่วมกันพัฒนาชุมชน และยังกระตุ้น สร้างความร่วมมือ ความสามัคคี ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ศิลปะแก่ชุมชน เพราะโดยปกติแล้วเรามักจะคิดว่า ศิลปะเป็นเรื่องที่ทำยาก แต่เมื่อเกิดกิจกรรมสร้างสรรค์แบบนี้ขึ้นมาทำให้ทราบว่า ศิลปะมีอยู่รอบตัวเรา คือ การใช้วัสดุที่มีอยู่ในชุมชนนำมาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด กล้าที่จะใส่ความคิดร่วมกับอาจารย์หรือศิลปินโดยที่ไม่ต้องคิดว่ามันจะถูกหรือผิด ทั้งนี้คุณบรรจงกล่าวว่า การนำยางรถยนต์มาดัดแปลงทำป้ายนั้น นอกจากเป็นสื่อที่เตือนใจของผู้ที่พบเห็น เสริมสร้างธรรมเข้าไปในจิตใจแล้ว ยางรถยนต์ยังสามารถนำมาทำเป็นกันชน (Bunker)ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นภายในชุมชน อีกทั้งยังช่วยลดขยะในชุมชนอีกด้วย
Leave a Reply