มองสังคมไทยผ่านกวีนิพนธ์คลื่นซัดฝั่งทราย: เสียงแห่งกาลเวลา

สถานการณ์การบ้านการเมือง ณ ช่วงเวลาขณะนี้ทำให้ผมนึกถึงงานเขียนที่หลายคนจะเรียกว่าเก่ามากไปแล้วก็ได้เพราะงานชิ้นนี้เขียนขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๐ ถ้านับอายุไล่กับผู้เขียนกวีนิพนธ์ชิ้นนี้มีศักดิ์เป็นพี่ถึงสองปี สิ่งที่ผู้เขียนตั้งใจจะนำมาถกวันนี้ (คงไม่ถึงขั้นวิชาการหรอกนะครับด้วยไม่ได้มุ่งประสงค์เช่นนั้น) เป็นเรื่องที่ผู้เขียนพบประเด็นที่น่าสนใจ (ส่วนตัว) ไม่มากไม่มาย เรื่องก็วนๆ อยู่กับสังคมและการเมืองไทยปัจจุบันนี้แหละ แต่ก่อนที่ผมจะกล่าวถึงกวีนิพนธ์นี้ ผมใคร่จะชวนทุกท่านทบทวนเรื่องราวเหตุการณ์สั้น ๆ
เริ่มที่…
เมื่อต้นปีนี้เอง กลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) จัดตั้งขึ้นเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชายุบสภา[1] โดยกลุ่มเยาวชนปลดแอกเสนอและผลักดันวาระต่าง ๆ ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และไม่นานมานี้เองกลุ่มนักเรียนเลวก็ได้ถือกำเนิดขึ้นที่มุ่งประเด็นไปที่การศึกษาและลุกขึ้นมาเรียกร้องและต่อสู้สิทธิ เสรีภาพในโรงเรียน โดยปัญหาของระบบการศึกษาของไทยทั้งหมดได้ส่งถึงรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย เมื่อกลุ่มนักเรียนเลวเดินขบวนไปที่กระทรวงศึกษาธิการ
หากเราลองไล่เรียงเทียบประวัติศาสตร์ไทยช่วง 2475 เป็นต้นมา จะพบว่ากลุ่มต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ล้วนแล้วแต่เคยมีการเคลื่อนไหวและร่วมขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาแล้วทั้งสิ้น เช่น กลุ่มยุวชนสยามซึ่งได้พัฒนาเป็นศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 14 ต.ค.2516 กลุ่มนักเรียนเลวก็เช่นกันก็ได้มีการจัดกิจกรรมและร่วมต่อสู้ในนาม “คณะราษฎร”  ฝั่งคณะสงฆ์ปรากฏว่าเคยมี “คณะปฏิสังขรณ์” เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้มีการปกครองคณะสงฆ์อย่างยุติธรรมและเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยในระบบสังฆสภา ปัจจุบันได้เกิด “คณะปฏิสังขรณ์ใหม่” และมีชื่อที่สังคมรู้จักในวงกว้างว่า “กลุ่มแครอท” ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ด้วย เราอาจะเรียกว่ากลุ่มทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การเมืองไทยขับเขี่ยวอย่างหนักมาตลอดช่วงนี้ว่าเป็นกลุ่มที่ฟื้นแนวคิดเดิมขึ้นมาใหม่ ส่วนข้อข้อเรียกร้องบางประการอาจเปลี่ยนไปบ้าง เสมือนคลื่นซัดฝั่งที่มาเป็นระลอกไม่เคยหมดไป
ถ้าเรานำข้อเรียกร้องของทุก ๆ กลุ่มมาสังเคราะห์อย่างจริงจัง เราจะพบว่าล้วนแต่มีประเด็นที่ถูกสังคมปิดไว้ บางอย่างกดทับปัญหาเหล่านั้นไว้ ปัญหาที่ไม่เคยถูกพูดถึงในที่สาธารณะเลย นั่นแหละคือปัญหาที่แท้จริง ดังนั้นในตอนนี้ เราจึงได้รับรู้ถึงแรงสะเทือนของสังคมถึงระดับโครงสร้างเลยทีเดียว จากเสียงของกลุ่มต่าง ๆ ที่ออกมาเรียกร้องต่อสังคม ผมเชื่อว่าบางเรื่องเป็นเรื่องที่เราไม่กล้าแม้แต่จะคิดด้วยซ้ำ….
เอาล่ะ…
ผู้เขียนขอเข้าเรื่องสักที จากที่เล่ามาทั้งหมดเป็นเพียงเหตุผลที่ผู้เขียนพยายามจะเชื่อมต่อเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ (ที่พอจะรู้บ้างนิดๆหน่อยๆ) อย่างคนที่ชอบเฝ้าสังเกตเหตุการณ์บ้านเมือง (ซึ่งก็ไม่เชิงการเมืองอย่างนักประวัติศาสตร์หรือเหล่านักเรียนรัฐศาสตร์เข้าใจนักหรอก) เพราะผมจะพูดถึงงานกวีนิพนธ์ซึ่งเป็นสายวรรณกรรม (Literature)
ในสายตาของนักวรรณกรรมที่เชื่อว่าวรรณกรรมเป็นสิ่งสะท้อนสังคมนั่นเอง (อันนี้อาจจะเป็นทฤษฎีสุ่มสี่สุ่มห้าของผมก็ได้ ผิดพลาดก็ต้องขออภัย มา ณ ที่นี้)
คลื่นซัดฝั่งทราย (๒๕๓๐) เขียนโดยศิวกานต์ ปทุมสูติ เนื้อหาเป็นไปตามที่ผมทึกทักเอาว่าวรรณกรรมเป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนสังคมออกมาซึ่งกวีนิพนธ์ชิ้นนี้ทำสิ่งนี้อย่างตั้งใจ เริ่มตั้งแต่กล่าวถึง “ปุจฉาแห่งกาฬปักษ์” “อลัชชีถึงสมี” “เพลงยาว..ถึง รมต.ศึกษา” ผู้เขียนพบประเด็นที่น่าหยิบยกมาพูดคุยอยู่หลายเรื่อง (คิดว่า) อาจจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน (มีอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้) จึงขอนำมาแลกเปลี่ยนกับทุกท่านไว้ตรงนี้ด้วย
“ปุจฉาแห่งกาฬปักษ์”
ข้าแต่บรรพชนต้นโคตร
กี่โยชน์ทุรยุคแปลกย่าน
อดีตดิบหยิบปั้นเป็นสันดาน
ปัจจุบันกาลฤาฉันใด
สังคมเส็งเคร็งที่คลุมครอบ
ใครจะตอบให้กระจ่างได้
ว่ามันมีที่เป็นมาเช่นไร
แล้วจะมีที่ไปหรือไม่มี [2]
                                                          (คลื่นซัดฝั่งทราย,น.10)

          คำประพันธ์ข้างต้นเป็นคำถามที่ย้อนไปไกลถึงบรรพกาลที่กวีแสดงความอัดอั้นตันใจต่อปัญหาสังคมว่ามันจะมีทางออกไหม หรือทางออกอย่างไร ปัญหาทำไมไม่เคยถูกแก้สักที เราคงพอนึกออกถึงปัญหาคนกรุงเวลาบ่นเรื่องรถติดก็มักจะด่าโคตรพ่อโคตรแม่เจ้าหน้าที่ ด่ารัฐบาล แต่ก็นั่นแหละ ด่าไปก็ได้แต่ด่าเพราะปัญหาไม่เคยถูกแก้ไขสักที
          กว่าสองทศวรรษที่ประเทศไทยตกอยู่ในวังวนรัฐประหาร แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา ฆ่าประชาชน ประเทศไทยผ่านมาหมด แต่ปัญหารุงรังก็ไม่เคยแก้ได้สักที ยุคพ.ศ.นี้แล้ว เรายังเห็นคนออกมาประท้วงเรื่องเดิม ๆ ซ้ำซาก เราเห็นน้ำตาชาวนา เห็นความอยุติธรรมแต่ใครเล่าจะตอบให้กระจ่างได้ ?
          บทกวีที่ชื่อ “อลัชชีถึงสมี” เป็นอีกภาพหนึ่งของสังคมที่กวีเล่าเรื่องพระ ในสายตาของคนไทย วัดเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ แต่ทว่าความเปลี่ยนแปลงก็ได้เข้ามารุกล้ำในพื้นที่ศักดิ์สิทธิและก่อให้เกิดครรลองใหม่ดังที่กวีเสนอเรื่องราวให้เห็นในบทกวีนี้
           “อลัชชีถึงสมี”
สภาวะแวดล้อมเหมือนล้อมกรอบ
เลวร้ายรายรอบอยู่ถ้วนแล้ว
รอบเขตคามขอบครอบครัว
สังคมร่มรั้วอาราม
เข้าวัดหวังสดับรับธรรมรส
ก็ปรากฏอบายมุขเข้าบุกบ่าม
อลัชชีตีบทพรตลามปาม
ใบ้หวยหาบหามความงมงาย
ปลัดขิกพลิกผันกามตัณหา
กลสมีสีกาเข้ากอดก่าย
กิเลสพิษอวิชชาพร่าพราย
เครือข่ายเคลือบแคลงแฝงลึกล้ำ
ลึกลับซับซ้อนจีวรหมอง
พุทธบุตรผุดผ่องต้องกลืนกล้ำ
บัวรองบาทบัดนี้แทรกสีดำ
ฤาทุ่งทิพย์นาธรรมถึงยามพลบ
ฤาทุ่งทิพย์นาธรรมถึงยามพลบ
ฤาทุ่งทิพย์นาธรรมถึงยามพลบ
ฤาทุ่งทิพย์นาธรรมถึงยามพลบ ???
                                   (คลื่นซัดฝั่งทราย,น.12)
เป็นอีกปรากฎการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในดินแดนศาสนา เมื่อบุญถูกทำให้เป็นสินค้า พระสงฆ์ขายบุญแก่ผู้ศรัทธาด้วยโฆษณาว่าทำบุญทำทานมาก ๆ ได้ไปสวรรค์ มิพักว่าสอนให้โยมลุ่มหลงไสยศาสตร์ซึ่งผิดไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า มันจังมีเสียงสะท้อนถึงวงการสงฆ์ว่าศาสนาเสื่อมไปแล้วหรืออย่างไร และนั่นเป็นอีกแรงผลักหนึ่งที่ทำให้เราเห็นภาพสามเณรที่เป็นยุวสงฆ์รุ่นใหม่ออกมาตั้งคำถามต่อพระผู้ใหญ่ระดับมหาเถรสมาคมการบริหารกิจการคณะสงฆ์
ในบทกวีสุดท้าย ผู้เขียนขอยกกวีขนาดยาวที่ผู้ประพันธ์แบ่งเป็น 3 ตอนเรียกว่า “ฉบับที่ 1” “ฉบับที่ 2” และ “ฉบับที่ 3” ตามลำดับแต่ละตอนใช้ชื่อเดียวกันคือ “เพลงยาว..ถึง รมต.ศึกษา” ว่าโดยทั่วไปเพลงยาวเป็นหนึ่งในขนบฉันทลักษ์ไทย ใช้สัมผัสแบบกลอนสุภาพไม่จำกัดความยาวในการแต่ง แรกเดิมทีเพลงยาวใช้ในการส่งสารเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง นักวรรณคดีไทยเชื่อว่าเพลงยาวปรากฏขึ้นครั้งแรกสมัยอยุธยา มีเรื่องเล่าแทรกขำ ๆ ปนมากับประวัติศาสตร์เพลงยาวว่าเป็นต้นกำเนิดคำว่า “ลงเอย” ในภาษาไทยที่หมายถึงการตกลงปลงใจที่จะร่วมใช้ชีวิตคู่กันด้วย
ผู้เขียนเห็นว่าศิวกานต์ ปทุมสูติ คงตั้งใจที่จะใช้เพลงยาวล้อเลียนเชิงออกแถลงการณ์เป็นจดหมายเปิดผนึกไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนั่นแหละ (สมัยนั้นจะเป็นใครลองค้นดูเอานะครับ ผมก็ยังไม่ได้ค้นเหมือนกัน) แต่ผู้ประพันธ์คงไม่ได้จำเพาะเจาะจงรัฐมนตรีศึกษาท่านใดเป็นพิเศษ (หรอกมั้ง) คงเหมารวม (หนักกว่าเดิมอีก) ผู้มีอำนาจในระบบการศึกษานั่นแหละที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับเยาวชนได้
เพลงยาวถึง รมต.ศึกษา ของศิวกานต์ผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี ยังเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนปัญหาของการศึกษาไทยว่ายังคงย่ำอยู่กับที่ กลับไปที่ข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนในประเด็นเรืองการศึกษาที่ถูกพูดถึงในกวีนิพนธ์นี้ก็พูดถึงปัญหาเดิมเช่นเดียวกัน
เพลงยาวฉบับที่ 1 กวีขึ้นต้นว่า….
ระจงรักอักษราประสาซื่อ
ฤพ่อจะว่าปากคันกระสันมือ
ก็ตามเถิดจะถืออำเภอใจ
เรียนถ้อยกระทู้ความว่าเจ้าข้า
เจ้ากระทรวงศึกษาผู้เป็นใหญ่
ผู้กุมบังคับการศึกษไทย
กำหนดเน้นเป็นไปในวันนี้
อนาคตเด็กไทยจะไปรอด
หรือมืดบอดฝากไว้พ่อคลายคลี่
พระเดชพระคุณพ่อก็มากมี
เมื่อคิดดีทำดีค่อยทำดู
                                                                     (เพลงยาวถึง รมต.ศึกษา,น. 64-70)
กวีใช้ตัวเองเรียกร้องเป็นกระบอกเสียงแทนเยาวชน เพื่อสื่อว่าการที่เขียนเพลงยาวฉบับนี้ก็เพราะเขียนออกมาจากหัวใจอันใสบริสุทธิ์ในฐานะเยาวชน โดยทั่วไปเด็กไทยจะถูกอบรมว่าต้องเคารพผู้ใหญ่ เชื่อฟังคำสั่งสอนไม่ดื้อหรือโต้เถียงครูบาอาจารย์ ในเพลงยาวบทแรกเราจึงเห็นภาพที่กวีเสนอว่าที่เขียนเพลงยาวนี้เขียนด้วยความจริงใจหากจะคิดว่าดื้อรั้น ซุกซนก็ขออภัยในความเป็นเด็กที่ไม่รู้ประสีประสา แต่สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ก็ขอให้ท่านเจ้ากระทรวงได้รับฟังเพราะท่านเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในระบบการศึกษา เมื่อพิจารณาจากคำที่ใช้ในเพลงยาวเรายังได้เห็นชนชั้นที่กดทับอยู่ในสังคมไทยด้วย
เพลงยาวฉบับที่ 2 ยังได้วิพากษ์หลักสูตรการเรียนการสอนไว้ด้วย ทำให้เราเห็นเค้าลางว่าครูเองก็ทำหน้าที่หนักมาก จนมีเสียงบ่นว่าทำงานประกันมากกว่างานสอน
     ผู้น้อยคิดคำนึงถึงเยาวชน
ผู้เติบตนตื่นมาเมื่อฟ้าเหลือง
เขาได้เรียนเขาได้รู้อยู่เนืองเนือง
ว่าบ้านเมืองเนืองแน่นเช่นนั้นนี้
หลักสูตรปั้นครูป้อนก็ปรุงปรับ
สังคมหลอมเล่าก็รับไว้ถี่
ทั้งเลือกได้มิได้ในชั่วดี
ผลย่อมชี้ดีชั่วในตัวมัน
เพลงยาวฉบับที่ 3 เป็นบทสุดท้ายของเพลงยาวถึง รมต.ศึกษาผู้แต่งยังคงยืนกรานเป็นกระบอกเสียงให้กับเยาวชนเช่นเดิม ถ้อยคำน้ำเสียงเว้าวอนขอความเมตตาจากท่านรัฐมนตรีเชิงว่าปัญหาเหล่านี้ท่านได้เห็นบ้างหรือไม่ คิดจะแก้ไขบ้างไหม อย่างที่คำสุดท้ายของเพลงยาวที่ต้องลงท้ายด้วยคำว่า “ลงเอย” นั้น ปัญหาของเยาวชนกับท่านรัฐมนตรีจะลงเอยกันได้ไหม ดังท่อนสุดท้ายของเพลงยาวฉบับที่ ๓ ว่า
ถ้าเด็กคือผ้าขาวบริสุทธิ์
ใครเล่าแต้มเติมจุดที่ดำด่าง
และใครฤาจะลบกลบฝ้าฟาง
ให้พราพร่างสดใสไม่ซีดเซียว
จึงเสี่ยงสารศรัทธาวอนถวิล
อย่าตัดสินน้ำใจไม่แลเหลียว
พ่อไหว้พ่อคุณหนึ่งที่พึ่งเดียว
ขอยึดเหนี่ยวเป็นที่หวังสักครั้งเอย ฯ
             รายละเอียดประเด็นอื่น ๆ ที่ปรากฏอยู่ในกวีนิพนธ์ คลื่นซัดฝั่งทราย (2530) ยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่ได้กล่าวถึง เช่น ความอยุติธรรม กฎหมาย ปัญหาความยากจน เป็นต้น

           เมื่อพิจารณาบริบทกับตัวบทร่วมกันแล้วจะเห็นว่าตัววรรณกรรมได้สะท้อนภาพสังคมอย่างที่งานวรรณกรรมจะทำได้ ปัญหาทั้งหมดนี้เป็นเสียงแห่งกาลเวลาที่ยังคงดังข้ามทศวรรษมาถึงปัจจุบันรุ่นเรา เหมือนคลื่นทะเลที่ซัดฝั่งทรายไม่เคยหยุด ในอดีตมันอาจเป็นสิ่งที่ต้องห้าม มันอาจไม่ถูกทำให้เป็นเรื่องที่เราพูดคุยกันได้ มากสุดเราทำเพียงแค่พูดกันในวงเล็ก ๆ หรือต้องหลับตาทำเป็นไม่เห็น แต่ ณ วันนี้ มันกลายเป็นขบวนการขับเคลื่อนครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ไทยไปแล้ว
*****************************

บทความโดย..พระปลัดอภิเชษฐ์ สุภทฺรวาที

[1] กรุงเทพธุรกิจ. ‘เยาวชนปลดแอก’ เปิดแถลงการณ์ข้อเรียกร้องฉบับเต็ม. เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๒.พศจิกายน.๒๕๖๓.  https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/890036
[2] ศิวกานต์ ปทุมสูติ.คลื่นซัดฝั่งทราย.สุริยสาส์น. 2530

Leave a Reply