“ในหลวง” พระราชทาน “บัตรอวยพรวิสาขบุรณมีบูชา” วันสําคัญสากลของโลก พ.ศ. ๒๕๖๔

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน “บัตรอวยพรวิสาขบุรณมีบูชา วันสําคัญสากลของโลก พ.ศ. ๒๕๖๔ พระราชทาน” ที่ทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ที่พระราชทานบัตรอวยพรเนื่องในวันวิสาขบูชา ให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการส่งบัตรอวยพรแก่กัน ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ และครบรอบ ๑๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ นี้

“บัตรอวยพรวิสาขบุรณมีบูชา วันสําคัญสากลของโลก พ.ศ. ๒๕๖๔ พระราชทาน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นภาพวาดฝีพระหัตถ์ ที่ทรงอธิบายถึง พระราชมรดกทางปัญญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานไว้ก็คือ แนวพระราชดำริเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายเพิ่มเติมว่า แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เมื่อแปลตามหลักนิรุกติศาสตร์จะได้ความว่า “ความพอเพียง เป็นกิจอันประเสริฐ” (สนฺตุฏฺฐี เสฏฺฐกิจฺจํ) ซึ่งเป็นหลักใจที่เป็นกลางๆ ในการดำเนินชีวิตที่ทุกคนปฏิบัติได้ ปฏิบัติถึง และปฏิบัติให้เป็นผลได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงขยายความให้เกิดความชัดเจนอีกว่า ความจริงคุณสมบัติของหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ที่ประกอบด้วย ความพอประมาณ การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี และความมีเหตุผล ก็คือหลักการทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า ไตรสิกขานั่นเอง กล่าวคือ

“ศีล” ที่แปลว่า ปกติ เป็นการดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนและสังคม มีชีวิตที่เป็นปกติ เรียกว่า รู้จักดำเนินชีวิตอย่าง “พอประมาณ” คือมีกายวาจาที่สมดุล ไม่ใช้กายวาจาของตนสร้างความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและสังคม

การเจริญสติที่ต่อเนื่องจนเป็น “สมาธิ” คือ ความตั้งใจมั่น จะก่อให้เกิดผล “มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี” และการตื่นรู้ ที่นำไปสู่การพัฒนา ก่อให้เกิด “มีเหตุผล” เรียกอีกอย่างว่า “ปัญญา”

ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียง ในการปฏิบัติการที่แท้จริงก็คือ พัฒนาพฤติกรรมทางกายวาจาให้มีความพอประมาณ หรือความปกติ พัฒนาสติต่อเนื่องจนมีจิตที่ตั้งมั่นเรียกว่า “สมาธิ” มีผลทำให้มีภูมิคุ้มกัน และปฏิบัติเรียนรู้จนเกิดการตื่นรู้ เห็นทุกอย่างตามเหตุปัจจัย ทำให้กระบวนการคิดประกอบด้วยหลักการของเหตุและผล

ดังนั้น ทุกกิจกรรมของมนุษยชาติควรประกอบด้วยหลักการแนวพระราชดำริที่ว่า “ความพอเพียง เป็นกิจอันประเสริฐ” กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กิจกรรมใดที่ประกอบด้วยหลักแห่งความพอเพียง คือหลักแห่งความสมดุลเป็นพื้นฐาน ก็เรียกได้ว่า เป็นกิจอันประเสริฐ เป็นกิจที่นำไปสู่ความสงบสุขของตนและผู้อื่นในสังคมเป็นที่สุด

Leave a Reply