ม.สงฆ์จับมือคณะสงฆ์กทม. รพ.สงฆ์ และภาคีเครือข่ายสรุป 5 ประเด็นร่วมฝ่าวิกฤติโควิด -19

เมื่อวันที่ 11 กรกฏาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  สานพลังร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร)  โรงพยาบาลสงฆ์ คณะสงฆ์ กทม. สปสช. และ สสส. จัดประชุมออนไลน์หารือแนวทางการจัดตั้งTemple Isolation & Community Isolation ( การแยกวัด-แยกชุมชน) มีผู้แทนของหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ประกอบด้วย พระเทพปวรเมธี  รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และประธานศูนย์โควิด มจร, พระเทพเวที รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร ,พระเทพสุวรรณเมธี  รองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และประธานฝ่ายสงฆ์ผู้เคลื่อนงานพระคิลานุปัฎฐาก กทม., พระมงคลธรรมวิธาน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการคณะสงฆ์ มมร ,พระโสภณธรรมวงศ์ เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร กทม.(โมเดลการดำเนินการศูนย์พักรอในวัด) ,พระครูพิพิธสุตาทร ผู้แทนพระสงฆ์นักพัฒนา พระมหาประยูร โชติวโร และผศ.ดร.ปฏิธรรม สำเนียง ผู้แทนจาก สสส.

นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนส่วนงานด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องได้ร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วยประกอบด้วย ทพ.ผศ.ดร.วีรศักดิ์  พุทราศรี รองเลขาธิการ สช., นพ.อรรถพร  ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. นพ.ประจักษ์วิช  เล็บนาค สปสช.,ดร.จิราภรณ์ ศรไชย รองผอ.ด้านการพยาบาลพัน,เอก นพ.มนต์ชัย ชุมนุมนาวิน ผช.ผอ.ด้านสื่อสารองค์กร ,นพ.ธณัติ อุ่นสินมั่น  อายุรแพทย์ด้านการติดเชื้อ,คุณสมจิต  สุขสงค์  พยาบาลป้องกันการติดเชื้อ จากโรงพยาบาลสงฆ์,คุณนงลักษณ์ ยอดมงคล จาก สช. ,คุณชาลีมาศ ตันสุเทพวีรวงศ์ สปสช. และ ผศ.ดร.ปฏิธรรม สำเนียง ผู้แทนจาก สสส.

ในการประชุมมี ทพ.ผศ.ดร.วีรศักดิ์  พุทราศรี รองเลขาธิการ (สช.) นำสานพลังในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเริ่มต้นโดยการแนะนำผู้เข้าร่วมประชุม หลังจากนั้นได้ให้แต่ละส่วนงานรายงานสถานการณ์ ความต้องการและสิ่งที่ดำเนินการอยู่ รวมถึงแนวทางในการจัดตั้งTemple Isolation& Community Isolation ในวัด หรือสถานศึกษาสงฆ์เพื่อเตรียมความพร้อมและวางระบบการดูแลพระสงฆ์ และใช้พื้นที่วัดเพื่อช่วยประชาชนผู้ติด COVID-19 ที่ไม่มีอาการเพื่อเพิ่มปริมาณเตียงสีเขียวและลดภาระการใช้บุคลากรทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้ป่วยหนัก

คณะสงฆ์ กทม.พระเทพสุวรรณเมธี ท่านได้ให้ข้อมูลที่คณะสงฆ์ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการให้วัดเป็นศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด-19 ปัจจุบันมี 6 วัด คือ วัดอินทรวิหาร วัดสะพาน วัดปากบ่อ วัดศรีสุดาราม วัดนิมมานรดี วัดสุทธิวราราม และวัดอื่น ๆ มีทั้งในส่วนที่อยู่ในระหว่างการประสานงานและรับดำเนินการแล้ว ทางวัดโดยคณะสงฆ์ กทม. มีความยินดีให้ความช่วยเหลืออยู่แล้วอย่างเต็มที่แต่อาจมีประเด็นข้อกังวลใจของชุมชนต่อการที่วัดดำเนินการในเรื่องนี้ นอกจากนี้ท่านได้ให้ข้อมูลถึงสถานการณ์การเข้าถึงบริการ การตรวจคัดกรองโควิด และการรักษาพยาบาลของพระสงฆ์จำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจโควิดได้ ทำอย่างไร ? จึงจะตรวจโควิดพระได้ในเชิงรุกปัจจุบันมีพระที่ติดโควิดแล้วทั้งที่อยู่โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลอื่น

ข้อมูลจากโรงพยาบาลสงฆ์ โดยพันเอก นพ. มนต์ชัย ชุมนุมนาวิน ท่านได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีพระสงฆ์ไม่น้อยกว่า 4-7 รูปในแต่ละวันมาตรวจคัดกรองโควิด ปัจจุบันมีจำนวน 27 รูปที่เป็นผู้ป่วยสีเขียว และการดำเนินการตรวจเชิงรุกปัจจุบันมี 3 รูปแบบ คือ(1)สำนักพระราชวังตรวจเชิงรุกในวัดพระอารามหลวง (2)ตรวจคัดกรองและตรวจผู้เสี่ยงติด Covid-19 (​ARI Clinic)โดยโรงพยาบาลสงฆ์ และ(3)การตรวจโดย กทม. เมื่อมีการแพร่ระบาดในพื้นที่ ร่วมถึงการตรวจทั่วไปของโรงพยาบาลต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การดูแลพระสงฆ์ผู้ป่วยสีเขียวในส่วนนี้อาจจำเป็นที่ต้องหาวัดที่เป็นศูนย์พักคอย การนี้วัดอินทรวิหาร โดยพระโสภณธรรมวงค์ ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันวัดเตรียมเตียงที่พักคอยสำหรับประชาชน จำนวน 300 คน และพร้อมที่จะใช้อาคารปฏิบัติธรรม ชั้น 1 เพื่อรองรับพระสงฆ์ผู้ป่วยโควิด(สีเขียว)สามารถรับได้จำนวน 30 รูป

ในการดูแลค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ สปสช. โดย นพ.อรรถพร  ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. และนพ.ประจักษ์วิช  เล็บนาค สปสช. ได้ให้ข้อมูลว่า การดูแลค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นที่โรงพยาบาลหรือระบบ Home Isolation หรือการดูแลตนเองในCommunity Isolation สปสช. จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆให้กับผู้จัดบริการ (ไม่ได้จ่ายให้ผู้ป่วยโดยตรง) ได้แก่ ค่าอาหาร+ค่าบริหารจัดการ (3มื้อ) วันละ 1,000 บาท และค่าอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนตามจริงไม่เกินคละ 1,100 บาท ค่าบริหารจัดการอื่น ๆ ค่ารถ ค่าเอกชเรย์ ค่า SWOP และค่าตรวจ PT-PCR ตามหลักเกณฑ์

ด้าน พระเทพเวที เสนอว่า เป็นโอกาสที่คณะสงฆ์โดยวัดต่าง ๆ สามารถสร้างความร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายโดยใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เป็นกรอบเพื่อดำเนินงานในเรื่องนี้วางระบบการดูแลพระสงฆ์ ร่วมถึงใช้พื้นวัดที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการดำเนินการโดยผ่านกลไกการปกครองคณะสงฆ์ในการสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐเพื่อช่วยดูแลชุมชนทั้งในกทม.และในต่างจังหวัดโดยส่วนตัวยินดีและสนับสนุน

หลังจากนั้น พระเทพปวรเมธี ได้แสดงความเห็นว่าการดูแลพระสงฆ์สามารถดำเนินการได้โดยการแบ่งกลุ่ม 2 กรณีได้แก่ กรณีที่ 1 วัดจัด Home Isolation/Temple Isolation สำหรับพระสงฆ์ในวัดของตน กรณีที่ 2 จัดเป็น Community Isolation โดยประสานวัดที่มีความพร้อมเพื่อรับรองพระสงฆ์ในพื้นที่อื่น และเพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประสานผ่านกลไกการปกครองคณะสงฆ์เพื่อกำหนดนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

ในส่วนของผู้แทน มมร.พระมงคลธรรมวิธาน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการคณะสงฆ์และผศ.ดร.ภาษิต สุขวรรณดี ผู้ช่วยอธิการบดี วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า มมร ได้ร่วมมือกับภาครัฐ โดยเริ่มจากการเป็น local quarantine และกำลังยกระดับเป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับประชาชนผู้ป่วยโควิดที่ส่งต่อจากโรงพยาบาล ในส่วนพื้นที่ มมร ส่วนกลางที่ศาลาใช้เป็นพื้นที่สำหรับฉีดวัคซีนของหน่วยงานในพื้นที่

หลังจากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมเสนอความเห็นตามประเด็นที่กำหนดและร่วมกำหนดแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้

1.การประสานส่งต่อพระสงฆ์อาพาธที่ยังรอเตียงไปยัง community isolation จากสถานการณ์ความต้องการเตียงเพิ่มใน รพ.สงฆ์ สำหรับผู้ป่วยโควิด19 ที่แสดงอาการและเป็นผู้ป่วยหนักที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในรพ. ทำให้พระสงฆ์จำนวน 27 รูปที่ตรวจพบเชื้อโควิด (ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2564) เป็นกลุ่มไม่แสดงอาการหรือสีเขียว จำเป็นต้องประสานส่งตัวไปรักษาต่อในระบบ community isolation ปัจจุบันมีวัดที่ดำเนินการร่วมกับกทม.อยู่แล้วเบื้องต้นจำนวน 6 วัด กรณีนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อวัดอินทรวิหาร โดย   พระโสภณธรรมวงศ์ เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร ได้จัดพื้นที่และหาเตียงเพิ่มสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะจำนวน 30 เตียง และดำเนินการดูแลรักษาต่อในระบบร่วมกับโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

2.การเตรียมความพร้อมรองรับกับจำนวนพระสงฆ์อาพาธผู้ติดเชื้อ ที่มีสถิติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกทม. และปริมณฑล เห็นควรประสานวัดที่มีความพร้อมเป็น community isolation (ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อในวัด) ซึ่งดำเนินการอยู่แล้วร่วมกับกทม. ในเบื้องต้นมีจำนวน 6 วัด และ มมร วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย เพื่อดำเนินการจัดพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับพระสงฆ์ที่อาจติดโควิด-19 เพิ่มขึ้น รวมถึงประสานงานวัดที่มีศักยภาพและมีความพร้อมหรือกำลังจัดตั้งเป็น community isolation ผ่านกลไกการปกครองคณะสงฆ์ของกทม.ผ่านเจ้าคณะ กทม. เช่น วัดสุทธิวราราม

3.การตรวจคัดกรองเชิงรุกสำหรับพระสงฆ์ในกรุงเทพฯ ปัจจุบันมี 3 รูปแบบ คือ 1) สำนักพระราชวังตรวจเชิงรุกในวัดพระอารามหลวง  2) ห้องตรวจคัดกรองและตรวจผู้เสี่ยงติดโควิด-19 (ARI Clinic) โดยโรงพยาบาลสงฆ์ และ3) จัดบริการจุดตรวจคัดกรองในโรงพยาบาลแก่ประชาชนทั่วไปและในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดโดยกรุงเทพฯ ทั้งนี้ยังไม่พบรูปแบบการจัดบริการตรวจคัดกรองเชิงรุกสำหรับพระสงฆ์ในต่างจังหวัด จึงเสนอให้มีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการตรวจคัดกรองและตรวจผู้เสี่ยงติดโควิด-19 ให้กับคณะสงฆ์ และอาจร่วมกำหนดแนวทางในการตรวจคัดกรองเชิงรุกสำหรับพระสงฆ์ผ่านระบบกลไกที่รัฐสนับสนุนเพื่อป้องกันการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ เช่น ประสานจุดคัดกรองที่มีอยู่แล้วให้รองรับการตรวจของพระสงฆ์ การมีจุดคัดกรองเชิงรุกในศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อในวัด ตึกสงฆ์อาพาธ สถานศึกษาสงฆ์ เป็นต้น

4.กรณีวัดที่มีพระสงฆ์ติดโควิด-19 แบบไม่แสดงอาการ(สีเขียว) เบื้องต้นให้แจ้งขอความร่วมมือให้วัดนั้นๆดำเนินการตามแนวปฏิบัติการดูแลในระบบ home หรือ temple isolation เพื่อดูแลอาการเบื้องต้นในกุฎิในวัด หรือระหว่างรอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วกลับไปกักตัวต่อที่กุฎิในวัด และกรณีประสงค์ดูแลในระบบศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อในวัด โดยผ่านกลไกการปกครองคณะสงฆ์โดยดำเนินการผ่านเจ้าคณะภาค

5.จัดตั้งศูนย์พักคอยในวัดหรือสถานการศึกษาสงฆ์ในต่างจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมและรองรับการดูแลพระสงฆ์และช่วยประชาชนผู้ติดโควิด-19 ที่มีสถิติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดำเนินการโดยรายงานสถานการณ์และแนวทางในการดำเนินงานต่อมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบและแจ้งเจ้าคณะภาคเพื่อขอความอนุเคราะห์ดำเนินการตามนโยบายของมหาเถรสมาคมผ่านกลไกการปกครองคณะสงฆ์ตามลำดับต่อไป

Leave a Reply