รัฐขึ้น “เงินเดือน”กำนันผู้ใหญ่บ้าน “นิตยภัต” คณะสงฆ์ยังไม่ไปไหน??

“พระคุณเจ้า” ผู้มีชื่อเสียงรูปหนึ่ง ส่งอัตราเงินเดือนหรือเรียกชื่อแบบมิให้น่าเกลียดว่า “ค่าตอบแทนตำแหน่ง” ของ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านพร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า บทบาทภารกิจของ “เจ้าคณะตำบล” กับ  “กำนัน”  คล้ายกับ “เจ้าอาวาส” กับ “ผู้ใหญ่” บ้าน เหมือนกัน แต่ “ค่าตอบแทน” ต่างกันมาก  ในขณะที่ “ทั้งสอง” เป็น “เจ้าพนักงานของรัฐ” เหมือนกัน พร้อมทั้งตั้งคำถามต่ออีกว่า “ยุคนี้” คณะสงฆ์ทำงาน “สนองงานรัฐ” และมีบทบาทภารกิจกิจการคณะสงฆ์มากกว่าในอดีตเป็นทวีคุณ โดยเฉพาะ เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส อันนี้ยังไม่ได้นับ “ไวยาวัจกร”  ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ช่วยเจ้าอาวาสทุกวันนี้ “ไม่มีค่าตอบแทน” อะไรเลย ทั้งคณะสงฆ์และรัฐบาล “มองข้าม” คนกลุ่มนี้ไปหมด

ในคำประกาศอัตราเงินเดือนของกำนันผู้ใหญ่ ฉบับนี้ ลงนามโดย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2566 นี้ เป็นอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งใหม่ ดังนี้ (1) กำนันให้ได้รับเพิ่มอีกคนละ 2,000 บาท (2) ผู้ใหญ่บ้านให้ได้รับเพิ่มอีกคนละ 2,000 บาท (3) แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ให้ได้รับเพิ่มอีกคนละ 1,000 บาท ในคำประกาศบัญชีเงินตอบแทนท้ายระเบียบดังกล่าว ระบุด้วยว่า กรณีเงินตอบแทนของกำนัน ขั้นสูง คือ 15,000 บาท ขั้นต่ำ 12,000 บาท, ผู้ใหญ่บ้าน เงินตอบแทนขั้นสูง 13,000 บาท ขั้นต่ำ 10,000 บาท, แพทย์ประจำตำบล เงินตอบแทนขั้นสูง 10,000 บาท ขั้นต่ำ 6,000 บาท, สารวัตรกำนัน เงินตอบแทนขั้นสูง 10,000 บาท ขั้นต่ำ 6,000 บาท, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง เงินตอบแทนขั้นสูง 10,000 บาท ขั้นต่ำ 6,000 บาท, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความมั่นคง เงินตอบแทนขั้นสูง 10,000 บาท ขั้นต่ำ 6,000 บาท

“ผู้เขียน” ลองไปเปรียบเทียบดูกับ “เงินนิตยภัต” ของ “เจ้าคณะตำบล”  กับ “กำนัน” ที่มีบทบาทภารกิจคล้ายคลึงกัน คือ เจ้าคณะตำบล ปัจจุบันระดับ พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นเอก รับนิตยภัต 3,100 บาท พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นโท 2,700 บาท และ พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นตรี รับ  2,500 บาท ในขณะที่ “กำนัน” รับสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ต่ำสุด 12,000 บาท ต่างกันถึง 11,900 บาท  แบบนี้ “คณะสงฆ์” นิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไร ไม่ส่ง “สัญญาณ” อะไรกันบ้างหรือไร อย่าลืมว่าพวกท่านโดยตำแหน่งเป็น “เจ้าพนักงานของรัฐ” เหมือนกัน หากผิดพลาดประการใดมาตรา 157 รอประเคนให้เหมือนกัน ทำงานหนักไม่แพ้กำนันในตำบล และทุกวันนี้ “ภารกิจ” เจ้าอาวาสมิได้มีเฉพาะแค่ มาตรา 37 ใน พ.ร.บ. คณะสงฆ์เท่านั้น มีงานงอกมาอีกมายมาย ทั้งเรื่อง สาธารณสงเคราะห์ หมู่บ้านรักษาศีล 5 ,บ้านประชารัฐสร้างสุข การช่วยเหลือชาวบ้านผู้ป่วยติดเตียง คนยากไร้ จิปาถะไปหมด เงินนิตยภัตแค่ 3,000 ค่าน้ำมันรถ ค่าจ้างคนขับรถก็ไม่เพียงพอแล้ว

ส่วน “เงินนิตยภัต” ของ “เจ้าอาวาส” กับ  “ผู้ใหญ่บ้าน”  ซึ่งมีบทบาทคล้ายคลึงกันเช่นกันคือดูแลระดับ หมู่บ้าน พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอกได้รับนิตยภัต    2,700 บาท พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท 2,500 บาท พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นตรี รับ  2,200 บาท ส่วนพระอธิการ 1,800 บาท หากแถมพระภิกษุรูปนั่นเป็นจำพวกประโยค 9 ด้วย เป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลด้วยได้แค่ 4,100 บาท เพราะหน่วยงานรัฐให้รับตำแหน่งเดียวคือที่ได้ค่าตอบแทนสูงสุดคือประโยค 9

ในขณะที่ผู้ใหญ่บ้านตามคำประกาศของกระทรวงมหาดไทยฉบับใหม่ รับค่าตอบแทนสูงสุดถึง 13,000 บาท ต่ำสุด 10,000 บาท ต่างกันมาก ซึ่งอันนี้ไม่นับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอีกที่ได้รับ 10,000 ต่ำสุด 6,000 บาท ในขณะที่  “ไวยาวัจกร” ผู้ช่วยของเจ้าอาวาส คนรับใช้พระ “ทำทุกอย่าง” เพื่อพระสงฆ์ เพื่อพระพุทธศาสนา ได้รับแค่ “บุญ”  บางหมู่บ้าน บางชุมชน “ลูก-เมีย” ให้เลิกเข้าวัดก็มี..เจอแบบนี้

โลกเปลี่ยน..สังคมไทยเปลี่ยน บทบาทคณะสงฆ์เปลี่ยน “มัวแต่รอ” ให้โยมมาประเคนเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ทุกอย่างต้อง “แอคชั่น” อยากได้ต้องทำเอง??

ทุกวันนี้ “คณะสงฆ์” ต้องปรับตัวเข้ากับสังคมยุคใหม่ จำต้องบำเพ็ญตนเป็น “พระโพธิสัตว์” สงเคราะห์ญาติโยมบ้าง  ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดูแลพัฒนาชุมชนบ้าง  ดังเช่น ที่ “มหาเถรสมาคม” ได้คิดและผลักดันมาหลายโครงการทั้งเรื่อง หมู่บ้านรักษาศีล 5 ,โครงการวัด ประชารัฐสร้าง สุข หรือแม้กระทั้งหน่วยอบรมประชาชน ทุกอย่างเป้าหมายอยู่ที่..ประชาชน แทบทั้งสิ้น

หลายปีที่ผ่านมา “รัฐบาล” ละเลย “ความจริง” ที่เกิดขึ้นกับ “คณะสงฆ์” อันนี้รวมถึงขอตำหนิ “มหาเถรสมาคม” และหน่วยงานภาครัฐอย่าง “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” ด้วย มอบหมายแต่ “งาน-ภารกิจ” แต่ “งบประมาณ” ให้หาเอง ในขณะที่ “นิตยภัต” ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางรูป  “ตกเบิก” หลายเดือนกว่าจะได้

ยุคปัจจุบัน “ภาครัฐ” หลายกระทรวง หลายหน่วยงาน หันมาสนใจและเพิ่มบทบาทและภารกิจให้กับ “คณะสงฆ์” โดยเฉพาะเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล ในฐานะเป็นหน่วยงานเบื้องต้นต้องรับภาระหนักทั้งเรื่องสถานที่ การจัดงาน และค่าใช้จ่ายอันหมายถึง “ค่าน้ำ ค่าไฟ”

ยุคนี้..มีบาตรและผ้าไตรเพียง 1 ชุด เป็น “เจ้าอาวาส” เป็น “เจ้าคณะตำบล” หรือเป็นเจ้าคณะปกครอง ไม่ได้แล้ว

เรื่องนี้ต้องฝากถึง..รัฐบาลใหม่นำโดย “พรรคเพื่อไทย” ขอหันมาเหลียวแลคณะสงฆ์บ้างได้หรือไม่??

Leave a Reply