วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 พระธรรมวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) กล่าวเปิดโครงการพัฒนาบุคลากร “แนวทางการพัฒนาหลักสูตรตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร พ.ศ. 2565” จัดโดยบัณฑิตวิทยาลัยร่วมกับกองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมแบบ Onsite ห้อง 401 และOnline ผ่านระบบ Zoom โดยมีพระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร, รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร และรักษาการคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มจร กล่าวถวายรายงานมีประเด็นสำคัญว่า ในปี 2565 เป็นช่วงรอยต่อกับเกณฑ์มาตรฐานเดิม จึงส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเตรียมความพร้อมสู่เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร พ.ศ. 2565 ตามกระทรวงของ อว. ซึ่งเป็นการประกาศใหม่ล่าสุดตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับหลักสูตรต่างๆ ในเท่าทันการเปลี่ยนแปลง เป็นการสร้างความเข้าใจการบริหารหลักสูตรให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ผู้บริหารหลักสูตร อาจารย์ประจำหลักสูตร ผู้รับผิดชอบหลักสูตร และเจ้าหน้าที่ประจำหลักสูตร ให้ทราบโดยทั่วกัน
พระธรรมวัชรบัณฑิตปาฐกถานำมีประเด็นสำคัญว่า เรื่องเร่งด่วนในปัจจุบันคือการพัฒนาหลักสูตรตามเกณฑ์มาตรฐาน พ.ศ.2565 ถือว่าเป็นภาระงานเร่งด่วนและเป็นงานใหม่ให้ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว อย่ารอเวลาให้เหมือนกบถูกต้ม เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลักคิดในการพัฒนาหลักสูตรปรับปรุงหลักสูตรของ มจร ประกอบด้วย 1) มจร สังกัดกลุ่มที่ 4 พัฒนาปัญญาด้วยคุณธรรมด้วยหลักศาสนา 2)เจตนารมณ์ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร พ.ศ.2565 โดยมองตัวชี้วัดศักยภาพองค์กร ประกอบด้วย สัดส่วนหน่วยกิตของวิชาที่มุ่งเน้นการศึกษาหลักศาสนาหรือนำหลักศาสนามาบูรณาการหลักวิชาการ ความเชี่ยวชาญของบุคลากรด้านศาสนาหรือการพัฒนาคุณธรรม ความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสังคม โดยตัวชี้วัดผลการดำเนินการจะพัฒนาบัณฑิตมีคุณลักษณะทางสติปัญญาและคุณธรรม บุคลากรที่มีบทบาทหรือผลงานที่ได้รับการอ้างอิง เป็นต้น
ในการพัฒนาหลักสูตรจะต้องทบทวนอดีตที่ผ่านมาว่าโดยย้ำว่า “วิชากรรมฐานและวิชาพระพุทธศาสนา” จะขาดไม่ได้เลยสำหรับการจัดการศึกษาของ มจร จึงควรแยกว่าควรจะออกแบบหลักสูตรอย่างไรให้ตอบโจทย์ในยุคปัจจุบัน โดยการปรับหน่วยกิตให้มีความเหมาะสมกับผู้เรียน โดยจะต้องมอง “ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ของ มจร” โดยจะออกแบบหลักสูตรภายใต้อัตลักษณ์ของมหาจุฬา นำไปสู่ “เก่ง ดี นำสันติสุข” ผ่านปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ โดยการออกแบบหลักสูตรจะต้องตอบโจทย์ ภายใต้กลุ่มที่ 4 พัฒนาปัญญาด้วยคุณธรรมด้วยหลักศาสนา โดยวิชาที่ออกแบบจะต้องมีผลลัพธ์การเรียนรู้ ผ่านกรอบ 1)สชาติกปัญญา คือ วิชาของมนุษยชาติ 2)วิปัสสนาปัญญา คือ วิชาชีวิต 3)ปาริหาริกปัญญา คือ วิชาการ พร้อมบูรณาการนวลักษณ์ของนิสิต มจร 9 ข้อ ศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา มีความรู้ดี มีคุณธรรม นำสันติสุข จะต้องออกแบบรายวิชาให้สามารถตอบโจทย์ไปสู่นวลักษณ์ ควรมีคณะกรรมการและคณะทำงานขับเคลื่อนแต่ละชุดมุ่งนำผู้เชี่ยวชาญมาออกแบบจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีรูปแบบกลางต่างเพียงจากหลักสูตร
รศ.ดร. โกนิฏฐ์ ศรีทอง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตรนานาชาติ มจร บรรยายเรื่อง “การดำเนินการหลักสูตรตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร พ.ศ.2565” มีประเด็นสำคัญว่า เป็นการพลิกโฉมการศึกษาอุดมศึกษา ซึ่งสาระสำคัญของเกณฑ์มาตรฐาน 2565 และการดำเนินการหลักสูตร ตาม มคอ.2 โดยเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร 2565 มีผลใช้บังคับวันที่ 27 กันยายน 2565 ซึ่งทุกหลักสูตรจะต้องใช้ตามปี 2565 โดยอาจารย์ประจำหลักสูตร และอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรไม่จำเป็นบุคลากรสายวิชาการ (อาจารย์ ผศ. รศ. ศ.)ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น สามารถนำเครือข่ายที่มีความร่วมมือภายใต้ Mou มาร่วมเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรได้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญขออนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย
ในหลักสูตรปี 2565 โดยสภามหาวิทยาลัยสามารถกำหนดคุณวุฒิที่สัมพันธ์กับสาขาวิชาของหลักสูตรได้ หากคุณวุฒิสามารถส่งเสริมให้การเรียนการสอนในหลักสูตรสาขาวิชานั้นบรรลุการเรียนรู้ของนิสิตได้ตามที่กำหนดในหลักสูตร โดยคุณสมบัติของอาจารย์พิเศษ มีการเปิดกว้างมีคุณวุฒิหรือสัมพันธ์กับวิชาที่สอน มีชั่วโมงสอนไม่จำกัด แต่ไม่ปล่อยให้อาจารย์พิเศษสอนอย่างเดียว โดยอาจารย์ประจำหลักสูตรต้องเข้าไปกำกับดูแลด้วย ปัจจุบันมีการเปิดให้สภาออกแบบรายวิชาให้สะท้อนอัตลักษณ์ตัวตนของเรา ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานปี ๒2565 มอบการตัดสินใจให้สภามหาวิทยาลัย ถือว่าให้อำนาจในการตัดสินใจ สามารถแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม อาจารย์ผู้สอบวิทยานิพนธ์ได้โดยไม่ต้องแจ้ง กมอ. ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกนั้นไม่จำเป็นต้องมีคุณวุฒิทางวิชาการ ซึ่งนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยสามารถเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมและอาจารย์สอบวิทยานิพนธ์ได้ โดยผลงานเพื่อใช้สำเร็จการศึกษาของนิสิตระดับปริญญาโท เอก จะไม่จำกัดเฉพาะผลงานตีพิมพ์เท่านั้น แต่สามารถใช้ผลงานนวัตกรรม สิทธิบัตรหรือผลงานสร้างสรรค์มาทดแทนได้ โดยสภามหาวิทยาลัยสามารถกำหนดระบบการประกันคุณภาพหลักสูตรที่เหมาะสมได้ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยสามารถออกแบบระบบการจัดการเรียนศึกษาที่เหมาะสมได้ เช่น ภาคการศึกษา การจัดการศึกษาเป็นชุดวิชา ระยะเวลาการศึกษา และเกณฑ์การจบการศึกษา สิ่งที่มหาวิทยาลัย มจร จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย
1)ปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตร ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้อง 2)กำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน 3)กำหนดกระบวนการเรียนรู้ เช่น การศึกษา การฝึกอบรม การฝึกปฏิบัติ 4)กำหนดมาตรฐานหลักสูตรตามระดับการศึกษา 5)ออกแบบฟอร์มต่างๆ เช่นรายละเอียดหลักสูตร รายการของหลักสูตร 6)กำหนดขั้นตอนการเสนอขอเปิด ปิด หลักสูตรพร้อมเอกสารประกอบ
สิ่งที่อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรจะต้องดำเนินการ ประกอบด้วย 1)ตรวจสอบหลักสูตรว่า ระยะเวลาการครบรอบการปรับปรุง 2)หากใกล้จะครบรอบต้องดำเนินการตามขั้นตอนการปรับปรุงหลักสูตร 2565 3)ตรวจสอบรายละเอียด องค์ประกอบหลักสูตรตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร 2565 4)ดำเนินการเสนอร่างหลักสูตรเพื่อขอความเห็นชอบ อนุมัติ ตามลำดับ 5)ดำเนินการส่งหลักสูตรให้ สป.อว.รับทราบ 6)ดำเนินการจัดการเรียนการสอน
Leave a Reply