รายงานพิเศษ: วิกฤตมหาวิทยาลัยไทย Lay off อาจารย์เลิกจ้างเจ้าหน้าที่ : มจร – มมร ระวังตกชะตากรรมเดียวกัน

           มหาวิทยาลัยสงฆ์ฟากศาลายาปรับ ครม.มาแล้ว 4 ครั้ง ก็ยังมีกลิ่นอายของความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วอำนาจ คือ ฝากวังหลวงกับวังบางลำพู ยังไม่ดับ ก็นับนิ้วรอวันล่มสลายได้..

          ในขณะที่ฟากวังน้อย กลุ่มคณาจารย์รุ่นเก่า ถ้ายังเกาะกลุ่มแน่นแสวงหาผลประโยชน์จากอิฐปูน ตั้งกลุ่มสัมปทานหน่วยงานที่พอสร้างรายได้กับมหาวิทยาลัย  ไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจให้กับพระภิกษุ คนทำงานรุ่นใหม่ … สุดท้าย…คงซ้ำรอยเหมือนกับมหาวิทยาลัยภายนอก..

**********************************

รายงานพิเศษ..ทีมเฉพาะกิจ

             การเกิดวิกฤติโควิด -19 กำลังถาโถมเข้ามหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาของไทยทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับโรงเรียนขนาดเล็กจนถึงระดับอุดมศึกษา อันเนื่องมาจากสถานที่ที่ก่อสร้างเอาไว้ใหญ่โต กำลังจะรกร้าง เป็นเพียงสถานที่ปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่บางแผนกเท่านั้น..การเรียน การสอน การวัดผลสอบ ต้องปรับตัวใช้ไอทีกันอย่างขนานใหญ่

            และสถานการณ์แบบนี้แม้จะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าแต่ภายใน 1-2 ปีนี้สถานการณ์แบบนี้คงคลี่คลายยาก  ซึ่งปัญหานี้คือปัญหาระยะสั้น

            ปัญหาระยะยาว สังคมไทยกำลังประสบภาวะวิกฤติคนเกิดน้อย ตอนนี้เราเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว จำนวนคนเข้าเรียนลดน้อยลง หลายโรงเรียนในต่างจังหวัดถูกยุบ สถาบันราชภัฎหลายแห่งมีนักศึกษาไม่ถึง 1 พันคน มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องยุบคณะ ต้องยุบภาควิชาลง เพราะไม่มีนักศึกษามาเรียนต่อ

            หากทุกมหาวิทยาลัยยังมุ่งสร้างอาคาร ขยายพื้นที่ใหญ่โต..ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาทรัพยากรบุคคลตามยุทธศาสตร์ชาติแน่แท้

            มหาวิทยาลัยสงฆ์สองแห่ง ทั้งมหาวิทยาลัยมหากุฎราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย “ตกอยู่ในชะตา” เดียวกันนี้

           ปีที่ผ่านมาและทั้งปีนี้ มีการ Lay off อาจารย์พิเศษ – ต้องเลิกจ้างเจ้าหน้าที่ – ต้องตัดงบประมาณออกหลายรายการที่เคยทำประจำ

        @!@! ปี พ.ศ. 2563 มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยมีผู้รับปริญญาเพียง 600 รูป/คน

        มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประมาณ 3,600 รูป/คน น้อยกว่าคณาจารย์เจ้าหน้าที่ประจำอีกด้วยซ้ำไป

            จะรอนิสิตนานาชาติ วิกฤติโควิด -19 เงียบหายหมด

            เกิดอะไรขึ้นกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

       ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งได้สะท้อนปัญหาไว้อย่างน่าสนใจว่า

                ผมต้องออกมายอมรับว่าตัวเองพยากรณ์พลาดไปมาก เพราะได้เขียนบทความว่า เมื่อมหาวิทยาลัยไทยต้อง lay off อาจารย์และเจ้าหน้าที่ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2561

        @!@! แต่สิ่งที่ผมคาดไว้กลับเกิดขึ้นไวกว่าที่ผมพยากรณ์ไว้มาก

        วันก่อนลูกศิษย์ผมที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนมาเล่าให้ฟังว่าตัวเธอเองต้องรับหน้าที่ไปบอกเพื่อนอาจารย์ว่าต้อง lay off แล้วเพราะไม่มีภาระงานสอน มหาวิทยาลัยต้องเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดใด ๆ

         มีมหาวิทยาลัยเอกชนหนึ่งแห่ง ได้ขายให้กลุ่มทุนจีนแล้ว และเปลี่ยนผู้บริหารชุดใหม่ และเริ่ม lay off อาจารย์ที่สอนได้แต่ภาษาไทยและภาษาอังกฤษออกไป และเริ่มหาอาจารย์ชาวจีนที่สอนเป็นภาษาจีนได้เข้ามาทำงานแทน

            ไม่มีนักเรียนไทยเพียงพอแล้ว เด็กไทยมีอัตราการเกิดต่ำมาก เราเป็นสังคมสูงอายุรุนแรงมาก ถ้าไม่มีนักศึกษาจีนเลยไม่มีทางไปรอดสำหรับมหาวิทยาลัยเอกชน และที่ผ่านมาก็เอาเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นเครื่องจูงใจให้เด็กมากู้เงินแล้วเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนกันมาก แต่ก็ไม่ยั่งยืนและไปไม่รอด

            นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง มีนักเรียนจีนเยอะ เด็กนักเรียนไทยหายไปมากกว่าสองในสาม กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาให้ได้ข้อตกลงเพื่อจะซื้อขายกัน แน่นอนว่าทุนจีนจะเป็นคนซื้ออีกเช่นกัน ยังไม่ได้ราคาที่ลงตัว

            ผมได้ยินข่าวมาว่ากลุ่มทุนจีนที่ทำธุรกิจพานักเรียนจีนเข้ามาเรียนในประเทศไทยจะลงทุนซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนเอง และบริหารเอง และหาอาจารย์จีนมาสอนเอง และหานักเรียนจีนมาเรียนด้วยตัวเอง ครบวงจรอย่างยิ่งครับ เข้าใจว่าจะทำหอพักและร้านอาหารรอบมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไป เรื่องนี้น่าจะมีเค้าความจริง ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวลแต่อย่างใด ที่น่ากังวลกว่าคือนักเรียนมาแล้วไม่เรียนกลับมาสนใจแต่ค้าขายรอบมหาวิทยาลัยหรือมาทำธุรกิจอย่างอื่น เรื่องนี้ต่างหากที่ไทยเราโดยเฉพาะตรวจคนเข้าเมืองต้องดำเนินการจริงจังได้แล้ว

         เอาเป็นว่า ณ บัดนี้ เริ่มมีการ lay off อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ไม่มีภาระการสอนกันแล้วอย่างเป็นเรื่องเป็นราวหลายๆ ที่ครับ ที่แย่สุดคือ รองอธิการบดี หรือ คณบดี ไม่ลงไปพูดกับผู้ถูก lay off เอง แต่ให้หัวหน้าภาควิชาลงไปพูด ทำไมไม่ลงไปบอกเองหนอ

         สาขาวิชาที่เสี่ยงจะถูก lay off คือสาขาวิชาที่ไม่มีนักศึกษาเรียนครับได้แก่

        เศรษฐศาสตร์ วันก่อนอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยออกมาพูดเองเลย

สถิติคณิตศาสตร์ฟิสิกส์ วิทยาการคอมพิวเตอร์การจัดการระบบสารสนเทศ วิชาพวกนี้ยากไป เด็กไทยไม่อยากเรียน

          ปรัชญาประวัติศาสตร์ วิชาพวกนี้จบไปไม่มีงานโดยตรง เด็กไทยก็ไม่อยากเรียน

          อาจารย์มหาวิทยาลัยในสาขาวิชาพวกนี้น่าจะไปก่อนครับผม เอาเข้าจริงเห็นอาจารย์ในสาขาวิชาเหล่านี้เริ่มถูก lay off แล้วครับ

         ส่วนสาขาวิชาบางสาขากลับขาดแคลนหนักมาก เช่น พยาบาลศาสตร์ ผลิตเท่าไหร่ก็ไม่พอ หาอาจารย์พยาบาลก็ยากลำบากเหลือเกิน สาขาแพทย์ก็ขาดแคลนแต่ไม่เท่าพยาบาล เพราะเราเข้าสังคมผู้สูงอายุ การเจ็บป่วยก็มากขึ้น ต้องการคนดูแลมากขึ้น

      การปรับตัวเป็นเรื่องจำเป็นมาก โดยเฉพาะการปรับตัวหลังถูก lay off จะไปทำอะไร อายุก็มากแล้ว และอยู่ใน comfort zone ในมหาวิทยาลัยมีอำนาจเหนือนักศึกษา และหลายคนไม่ได้ทำงานจริง ๆ มานานมาก สอนหนังสืออย่างเดียว จนทำอะไรไม่เป็นแล้วก็มีมาก

        TCAS รอบนี้ หนักหนามากครับ ระบบห่วย ซับซ้อน และซ้ำซ้อนมากเกินไป เพราะทุกมหาวิทยาลัยแย่งเด็กที่มีจำกัดมาก มีที่นั่งให้เรียนมากกว่าจำนวนเด็กที่อยากเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

        วันก่อนได้สนทนากับรองเลขาธิการ สกอ. ได้เล่าให้ผมฟังว่าปีที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยไทยขอเลิกกิจการไปสองแห่ง และขณะนี้มีการยื่นเรื่องเพื่อขอปิดมหาวิทยาลัยอีก 5 แห่ง

         มีบางมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดเล็ก ๆ รับเด็กได้สิบกว่าคนทั้งมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ไม่รอด ต้องเลิกกิจการแน่นอน

         ปีหน้าน่าจะหนักหนากว่านี้

TCAS ปีนี้ที่มีปัญหามาก ส่วนหนึ่งคือนักเรียนสมัครน้อย และเกิดการชิงเปรต แย่งเด็กกัน

TCAS เที่ยวนี้เอาเข้าจริงคือ 7 รอบ (รวม 3/1 และ 3/2) ใช้เวลานานเกือบครึ่งปี และมีระบบสอบมากกว่า 50 ระบบ

         @!@มหาวิทยาลัยแย่งเด็กกันเพราะสถานการณ์เช่นข้างบน

รอดูครับ มีแต่จะเลวร้ายลงไปกว่านี้

           พวกมหาวิทยาลัยราชภัฎ ในต่างจังหวัด ที่นักศึกษาลดลงมากก็มีการเลิกจ้างและเลย์ออฟอาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยกันมากมาย

          ที่ยังอยู่กันไล่ไม่ได้คืออาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นข้าราชการเท่านั้น ซึ่งก็เหลืออยู่ไม่มากนัก

           พวกพนักงานมีสัญญากันไม่กี่ปีตอนนี้จะเริ่มถูกเลย์ออฟครับ ถ้าไม่มีภาระงานสอน และไม่มีภาระงานอย่างอื่น

          ใครจะขึ้นมาเป็นคณบดี อธิการบดี รองอธิการบดี โปรดเตรียมตัวมาทำหน้าที่นี้เพื่อความอยู่รอดของหน่วยงานของตัวเอง โปรดเตรียมตัวไปศาลปกครองด้วย ขอให้โชคดีกันนะครับ

            มหาวิทยาลัยของรัฐก็อย่าชะล่าใจ

          มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จะมีวิธีการบริหารที่เด็ดขาดกว่า เช่น สาขาวิชาไหน ไม่มีนักศึกษาเรียนพอแล้วทำให้ขาดทุน ก็ต้องยุบไป ต้องเกลี่ยอาจารย์ไปสอนในสาขาวิชาที่มีนักศึกษา หากปรับตัวไม่ได้หรือไม่มีสาขาวิชาไหนต้องการก็ต้องลาออกไป ไม่ต่อสัญญาจ้าง จะถูกบีบให้ออก เพราะไม่มี value และ ไม่มี contribution อะไรที่มาทดแทนกันได้

           หรือไม่ก็ให้โอกาสให้ไปเขียนหลักสูตรมาใหม่ ทำให้มีนักศึกษามาเรียนให้ได้

เวลานี้สถานการณ์มหาวิทยาลัยไทย ย่ำแย่มาก ไม่มีนักศึกษา และอาจารย์กำลังจะถูก lay off มากขึ้นเรื่อย ๆ

           ประเทศเล็ก ๆ มีมหาวิทยาลัยมากเกือบสามร้อยแห่ง ยุบๆ ไปบ้าง หรือยุบรวมกันไปบ้าง มากกว่าครึ่งหนึ่งยังเหลือแหล่เกินพอเพียง โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาก็ควรยุบไปบ้างครับ ตำแหน่งครูก็ยุบลงไปรวมกันในโรงเรียนใหญ่กว่าได้ครับ

           ที่พูดมานี้ไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำอำมหิต หรือไม่เห็นใจครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่สถานการณ์จะเป็นนายของทุกคน เด็กไม่มี เงินไม่มี ก็ไม่มีเงินจะจ้าง สถานการณ์จะบีบให้ผู้บริหารต้องบีบอาจารย์มหาวิทยาลัยลาออกไปครับ

          ดังนั้นอาจารย์มหาวิทยาลัย ควรมีอาชีพอื่นหรือแหล่งรายได้อื่นสำรองได้แล้วครับ ที่จะเอาทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกก็คิดกันให้ดี ๆ กลับมาอาจจะไม่มีนักศึกษาให้สอน แล้วต้องไปทำงานธุรการก็ได้ ใครจะไปรู้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ

         นี่คือความจริงอันเจ็บปวดที่ท่านกำลังต้องเผชิญ

         แต่ที่ผมห่วงยิ่งกว่าคือเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีจำนวนมากยิ่งกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย และมีวุฒิการศึกษาน้อยกว่าอาจารย์ ซึ่งน่าจะถูกเลย์ออฟไปด้วย จะไปอยู่ที่ไหน จะไปทำงานอะไรหลังถูก lay off นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก เพราะโอกาสน่าจะน้อยกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก ก็ต้องเตรียมตัวกันให้ดีครับ.

            ากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ยังคิดแบบพระ บริหารจัดการแบบวัด  ทำงานไม่เป็นทีม ยังแบ่งพรรคแบ่งพรรค ตั้งเป็นก๊กเป็นหล่า ไม่แสวงหาลูกค้าตลาดใหม่ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ รอวันตกงานได้ทุกเมื่อ เว้นลูกท่านหลานเธอ

            ขนาดมหาวิทยาลัยฝากศาลายาปรับ ครม.มาแล้ว 4  ครั้ง ปรับ โล๊ะ ดึงคนนอกมาทำงาน เอาสตรีมานั่งระดับรองอธิการน่าจะเป็นครั้งประวัติศาสตร์ และปรับคนปฎิบัติงานหลายรอบก็ยังมีกลิ่นอายของความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วฝากวังหลวงกับวังบางลำพู ยิ่งมีข่าวลือหนาหูว่า ทั้งสองขั้วมีนายทุนเศรษฐีเงินหนามาเป็นกองสนับสนุนด้วย ถึงจะมีเงินหนา ก็นับวันรอวันล่มสลายได้

            ในขณะที่วังน้อย หากคณาจารย์รุ่นเก่า ยังเกาะกลุ่มแน่นแสวงหาผลประโยชน์จากอิฐปูน ตั้งกลุ่มสัมปทานหน่วยงานที่พอสร้างรายได้กับมหาวิทยาลัย  บริหารจัดการแบบลูกท่านหลานเธอ ผู้บริหารระดับกลางบางรูปสั่งลูกน้องไม่ได้ เพราะเป็นสายตรง การสั่งการจึงไม่เป็นไปตามสายงาน ไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจ ให้บทบาทกับผู้บริหารระดับกลาง เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนวัยทำงาน … สุดท้ายคงซ้ำรอยเหมือนกับมหาวิทยาลัยภายนอกบางแห่ง รอปิดจ๊อบ

           เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้แล..

Leave a Reply