ตั้งกก.สอบ พี่ชาย “ชวน หลีกภัย” อดีตนายก อบจ.ตรัง ใช้งบหลวง 82 ล้าน สร้างมัสยิดตรัง 15 ปี ยังไม่เสร็จ ชี้ “อบจ.” ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสร้าง

วันที่ 17 มี.ค. 67  เมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานความคืบหน้ากรณี นายกิจ หลีกภัย ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ตรัง ใช้งบประมาณโดยผ่านสภาฯ เมื่อปี พ.ศ.2552 จำนวน 10 ล้านบาท ในการปรับพื้นที่ และอีก 25 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างตัวอาคารมัสยิดกลาง จ.ตรัง หรือโครงการก่อสร้างศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลาม ประจำ จ.ตรัง หมู่ที่ 1 ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ซึ่ง อบจ.ตรัง มีการเบิกจ่ายงบประมาณในการปรับปรุงสถานที่ไปแล้วจำนวน 82,184,972 บาท

จากนั้นก่อนที่ นายกิจ หลีกภัย จะหมดวาระลง ได้ทิ้งทวนตั้งงบประมาณอีกจำนวน 8,842,000 บาท เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ แต่ปรากฏว่า ระยะเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบันกว่า 15 ปีแล้วนั้น มัสยิดกลางดังกล่าว ยังไม่แล้วเสร็จ และไม่ได้เปิดใช้เพื่อปฏิบัติศาสนกิจได้ตามวัตถุประสงค์ จึงยังไม่สามารถดำเนินการส่งมอบให้กับทางคณะกรรมการกลางอิสลาม จ.ตรัง นำไปใช้ประโยชน์ได้

ป.ป.ช.ตรัง ฟันอาญา อดีตนายก‘กิจ หลีกภัย’ พี่ชาย‘ชวน’ จัดซื้อที่ดินราคาสูงเกินจริง

ปัจจุบันตัวอาคารและอุปกรณ์หลายส่วน เกิดการชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา มีหญ้าและวัชพืชปกคลุมพื้นที่ ต่อมานายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายก อบจ.ตรัง ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งต่อจาก นายกิจ หลีกภัย จึงมีการใช้งบประมาณผ่านสภาฯ จำนวน 2 ล้านบาท ในการปรับปรุงหลังคา เนื่องจากมีน้ำรั่วจนฝ้า เพดาน และตัวอาคารด้านในได้รับความเสียหายต่อมาเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดตรัง และภาค 9 รวมทั้งสำนักงาน สตง. และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมทั้งนายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง ได้ทำหนังสือร้องไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 14 (จังหวัดนครศรีธรรมราช) เพื่อให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างมัสยิดดังกล่าว

ผลการตรวจสอบปรากฏว่า มีข้อบกพร่อง เนื่องจากการดำเนินการไม่เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือหน่วยรับตรวจ จึงได้แจ้งข้อบกพร่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปแล้วนายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายก อบจ.ตรัง ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด สืบเนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 14 (จังหวัดนครศรีธรรมราช) ได้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามประจำจังหวัดตรัง (มัสยิดกลางจังหวัดตรัง) ของ อบจ.ตรัง

ผลการตรวจสอบปรากฏว่า มีข้อบกพร่อง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือหน่วยรับตรวจ

การสร้างศาสนสถานหรือมัสยิดไม่ได้อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของ อบจ. และอบจ.ตรัง ตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพื่อก่อสร้างศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามประจำจังหวัดตรัง (มัสยิดกลางจังหวัดตรัง) โดยไม่มีอำนาจหน้าที่เป็นการปฏิบัติไม่ชอบตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 34

การจ่ายเงินและก่อหนี้ผูกพันโครงการก่อสร้างมัสยิดกลางจังหวัดตรังไปแล้ว จำนวน 82,184,972.58 บาท เป็นการปฏิบัติไม่ชอบตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 67 ให้ อบจ.ตรัง ดำเนินการเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ จำนวน 82,184,972.58 บาทจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานพบว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวและการเบิกจ่ายเงินในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2550-2562 อบจ.ตรัง ได้รับความเสียหายเป็นเงิน จำนวน 72,430,271.25 บาท อาศัยอำนาจตามความในข้อ 8 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิด ทางละเมิดในเรื่องดังกล่าว

ประกอบด้วย 1.นางนาฏยา หนูสมจิตต์ ผอ.กองสวัสดิการสังคม เป็นประธานกรรมการ 2.นางนุชลักขณ์ สุขประเสริฐ หัวหน้าสำนักปลัด อบจ.ตรัง เป็นกรรมการ 3.นางนิตยา นุ้ยเอียด นิติกรชำนาญการ เป็นกรรมการ 4.นายทัยวรรณ ไกรทอง นิติกรชำนาญการ เป็นกรรมการ 5.น.ส.กาญฎา ทองเหลือ นิติกรชำนาญการ เป็นกรรมการ/เลขานุการ 6.นางพงษ์ทิพา ณ นคร ผู้ช่วยนิติกร เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ดำเนินการตรวจสอบ สอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานกรณีดังกล่าว โดยถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์ การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการทราบคำสั่ง

ในกรณีที่คณะกรรมการฯ ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาได้ ให้คณะกรรมการฯ รายงานเหตุที่ทำให้การดำเนินการไม่แล้วเสร็จต่อผู้แต่งตั้งเพื่อพิจารณาอนุมัติ ขยายระยะเวลาการดำเนินการตามความจำเป็นครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จ แล้วสรุปสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด พร้อมเสนอความเห็นต่อผู้แต่งตั้งเพื่อพิจารณา สั่งการต่อไป สั่ง ณ วันที่ 21 ก.พ. 2567

ทางสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง มีการปักหมุดโครงการก่อสร้างมัสยิดกลางไว้ในหมุดความเสี่ยงต่อการทุจริต และมีการดำเนินการติดตามตรวจสอบมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดดังกล่าว มีการย้ำให้คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา

 

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์

Leave a Reply