ผู้ว่าฯสุราษฎร์ธานียก “โคก หนอง นา บ้านสวนป่าดอนสัก” ต้นแบบศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่

ผู้ว่าฯสุราษฎร์ ชื่นชม อำเภอดอนสัก น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” สู่ต้นแบบรูปธรรม ในศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่โคก หนอง นา บ้านสวนป่า

วันที่ 7 ตุลาคม 2565 เวลา 13.30 น. นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า นายจักรกฤษณ์ ฝั่งชลจิตร์ นายอำเภอดอนสัก ได้เป็นประธานจัดกิจกรรมการปลูกผักสวนครัว ณ แปลง โคก หนอง นา บ้านสวนป่า หมู่ที่ 1 ตำบลปากแพรก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยมีนายพิชัย มณีลาภ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นายสมยศ คงทอง รักษาราชการแทนพัฒนาการอำเภอดอนสัก หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ครูและนักเรียนโรงเรียนองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้กาญจนดิษฐ์ (อ.อ.ป.) และประชาชนบ้านสวนป่า เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จำนวน 50 คน

นายวิชวุทย์ จินโต กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบโคก หนอง นา ได้มีการปรับปรุงพื้นที่ จำนวน 4 ไร่ เป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ประชาชนในหมู่บ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งภายในศูนย์เรียนรู้ฯ ประกอบด้วย 5 จุดเรียนรู้ ได้แก่ 1.จุดเรียนรู้การทำปุ๋ยหมัก 2.จุดเรียนรู้การทำถังขยะเปียก 3.จุดเรียนรู้การเลี้ยงปลาบ่อดิน 4.จุดเรียนรู้การเลี้ยงกบ และ 5.จุดเรียนรู้การปลูกผักสวนครัว โดยได้น้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” โดยปรับพื้นที่แปลงตัวอย่างในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ พร้อมขยายผลสู่การสร้างความสุขให้กับคนในชุมชนและพื้นที่ข้างเคียงอย่างยั่งยืน ซึ่งในการจัดกิจกรรมในวันนี้ได้ ประกอบด้วย พิธีรับมอบเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ถั่วฝักยาวสีม่วง เบอร์ 1 กิจกรรมปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร กิจกรรมการทำถังขยะเปียก กิจกรรมศึกษาและเยี่ยมชมจุดเรียนรู้การเลี้ยงปลาบ่อดินและจุดเรียนรู้การเลี้ยงกบ และกิจกรรมการทำปุ๋ยหมัก

“ศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ โคก หนอง นา บ้านสวนป่า มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือสังคม ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 โดยการช่วยเหลือครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง ตามข้อมูลจากระบบ ThaiQM และ TPMAP ตามนโนบายขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของอำเภอดอนสัก ซึ่งได้นำมาต่อยอดในโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการและสร้างผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง (CAST) โดยการขยายผลการขับเคลื่อนผ่านกลไก 3 ระดับ 5 กลไกการมีส่วนร่วม และการประสานงาน 7 ภาคีเครือข่าย นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาคน เพื่อให้คนไปพัฒนาพื้นที่ สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ได้อย่างยั่งยืน ด้วย Passion ที่จะ Change For Good เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ สู่สังคมไทยต่อไป” นายวิชวุทย์ฯ กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply