วันที่ 9 ต.ค. 65 ในช่วงหลัง วันออกพรรษา ของทุกปี จะมีประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานก็คือ ประเพณีตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหณะ ซึ่งแต่ละจังหวัด แต่ละท้องที่ ก็จะมีการจัดงานตักบาตรเทโวโรหนะที่บริเวณพระอุโบสถ โดยมีขบวนแถวของพระสงฆ์ออกบิณฑบาต หรือบริเวณใดบริเวณหนึ่งภายในวัด หรือแม้กระทั้งนอกวัด หลายจังหวัดก็นิยมจัดงาน สำหรับวันตักบาตรเทโวโรหณะ ปี นี้จะตรงกับวันที่ 11 ตุลาคม 2565 หลังวันออกพรรษา 1 วัน โดย วันออกพรรษา ตรงกับพรุ่งนี้ วันที่ 10 ตุลาคม 2565
วัดสุธรรมวดี แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร งานตักบาตรเทโวโรหณะ ได้จัดขึ้นภายในวันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม 65 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแรงงานและพุทธศาสนิกชนซึ่งส่วนใหญ่หยุดงานกันวันอาทิตย์ได้มีโอกาสมาร่วมตักบาตรเทโวโรหณะ ปีนี้เป็นไปด้วยความคึกคัก มีแรงงานมอญที่มาทำงานในประเทศไทยร่วมตักบาตรเทโวโรหณะ หลายพันคน
ภูมิหลังตักบาตรเทโวโรหณะ
การตักบาตรเทโวเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ตักบาตรเทโว หรือเรียกว่า การตักบาตรเทโวโรหณะ ซึ่งคำว่า “เทโว” ย่อมาจาก “เทโวโรหณะ” แปลว่า การเสด็จจากเทวโลก การตักบาตรเทโวจึงเป็นการระลึกถึงวันที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาในเทวโลก ประเพณีการทำบุญกุศลเนื่องในวันออกพรรษานี้ ทุกวัดในประเทศไทย ก็จะมีการจดพิธีการตักบาตรเทโวนี้
ตักบาตรเทโว หรือตักบาตรเทโวโรหณะ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ในเวลาเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลังจากที่พระองค์ทรงจำพรรษาที่นั้นเป็นเวลา 3 เดือน ความสำคัญของวันเทโวโรหณะ เป็นวันที่มีการทำบุญตักบาตรที่พิเศษวันหนึ่ง กล่าวคือ ในพรรษาหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แสดงพระอภิธรรมโปรด พระมารดา และทรงจำพรรษาที่นั้น พอออกพรรษาก็เสด็จลงจากเทวโลกนั้นมายังโลกมนุษย์ โดยเสด็จลงที่เมืองสังกัสส์ ใกล้เมืองพาราณสี ชาวบ้านชาวเมืองทราบข่าวก็พากันไปทำบุญตักบาตรพระพุทธองค์ที่นั้น และเป็นการรับเสด็จพระพุทธองค์ด้วย กล่าวกันว่า ในวันนี้ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก ต่างมองเห็นซึ่งกันและกัน จึงเรียกวันนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” คือ เปิดให้เห็น กันทั้ง 3 โลกนั้นเอง
การตักบาตรรับเสด็จพระพุทธเจ้าได้ปฏิบัติสืบเนื่อง ต่อกันมาเป็นประเพณี จนถึงเมืองไทย จึงเรียกประเพณีนี้ ว่า การตักบาตรเทโวโรหณะ เพื่อให้สะดวกในการสื่อความหมายนิยมสั้นๆ ว่า การตักบาตรเทโว ด้วยเหตุนี้ วันเทโวโรหณะจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วันตักบาตรเทโว และเมื่อถึงวันตักบาตรเทโว พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตรกันที่วัด โดยแต่ละที่จะเตรียมของไปทำบุญ ในแบบที่อาจตะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับที่สัดในแต่ละที่ เช่น เตรียมอาหารในตอนเช้า อาหารที่เตรียมเพื่อตักบาตรเป็นพิเศษในวันนี้ คือ ข้าวต้มมัด และข้าวต้มลูกโยน วัดบางวัดอาจจะจำลองสถานการณ์วันที่ พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกชั้นดาวดึงส์ คือ ประชาชนจะนั่งหรือยืนสองฝั่งทางลงจากอุโบสถ หรือศาลา ให้พระสงฆ์เดินเข้าแถวเรียงลำดับรับบาตรตรงกลาง โดยมีมัคนายก เดินอัญเชิญพระพุทธรูปนำหน้าแถวพระสงฆ์ หลักจากตักบาตรแล้ว มีการอาราธนาศีล สมาทานศีล และรักษาศีล ฟังธรรมและทำสมาธิตามโอกาส เพื่อทำให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส แผ่เมตตา และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติ ผู้ล่วงลับ และสรรพสัตว์
Leave a Reply