เจ้าคณะจังหวัดอุบล ฯ จับมือ “ผู้ว่าฯ”  Kick off โครงการ  “อารยเกษตร”  เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ 72 พรรษา

วันที่ 5 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 น. นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดการ 28 กรกฎาคม 2567 โดยได้รับความเมตตาจากพระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายอำเภอเมืองอุบลราชธานี หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนจิตอาสา เข้าร่วมกิจกรรมฯ ณ แปลงอารยเกษตร  ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

ในส่วนของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นายปรีชา มีราช ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานและสนับสนุนการบริหารงานพัฒนาชุมชน นางศิริวรรณ นนท์ตา พัฒนาการอำเภอเมืองอุบลราชธานี ดร.ภคิน ศรีวงศ์ พัฒนาการอำเภอพิบูลมังสาหาร นางสาวรัชนี จันทสิงห์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ ตลอดจนเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองอุบลราชธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเขื่องใน และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพิบูลมังสาหาร ได้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ประกอบด้วย การเอามื้อสามัคคี ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกต้นกล้วย และการปักดำนาข้าว

พระเทพวราจารย์ เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า มีความประสงค์ใช้พื้นที่ว่างเปล่า ธรณีสงฆ์ วัดมณีวนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ประมาณ  2 ไร่ เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่ประยุกต์และอารยเกษตร ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขับเคลื่อนตามพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของจิตอาสา และภาคีเครือข่าย อันจะก่อให้เกิดพลังการขับเคลื่อน ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา โคก หนอง นา อารยเกษตร เพื่อเป็นสถานที่เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ออกกำลังกาย ของชุมชน  เพื่อเป็นสวนครัว สวนผัก สวนสมุนไพร สวนสุขภาพชุมชน เป็นปอดคนเมือง เพื่อเป็นสถานที่จำหน่ายผลผลิตจากโคก หนอง นา ของชุมชนอุบลราชธานี และเพื่อเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ของอำเภอเมืองอุบลราชธานี”

ด้าน นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มีเป้าหมายเพื่อปฏิบัติบูชาในการสร้างพื้นที่ต้นแบบ ที่ช่วยให้ประเทศมั่นคงประชาชนมีความสุข ด้วยการแก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นและความปรารถนาของ ชาวมหาดไทย ในการพัฒนาทำให้ทุกจังหวัดได้มีการพัฒนาพื้นที่ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนา คุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งจะเป็นพื้นที่การเรียนรู้น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร จำนวนกว่า 40 ทฤษฎี มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ พร้อมด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้สู่การประยุกต์ใช้จนเป็นวิถีชีวิตในรูปแบบอารยเกษตร   และได้กล่าวขอขอบคุณ ส่วนราชการ ภาคีเครือข่าย จิตอาสาพระราชทาน ทุกท่าน ที่สนับสนุนการดำเนินกิจกรรม Kick off โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริเฉลิมพระเกียรติ

ขณะที่ ดร.ภคิน ศรีวงศ์ พัฒนาการอำเภอพิบูลมังสาหาร พร้อมด้วย นายสมเกียรติ ปูคะธรรม นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพิบูลมังสาหาร ร่วมกับ ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชนตำบลหนองบัวฮี โดยคุณอัมพร วาภพ ผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิดระดับจังหวัด ผู้จัดการศูนย์เรียนรู้ “เฮือนฮ่วมแฮง” และเจ้าของร้านหนองบัวฮีวัสดุก่อสร้าง บ้านหนองบัวฮี หมู่ที่ 2 ตำบลหนองบัวฮี อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ได้ร่วมกันรวมพลังจัดหาต้นกล้าพันธุ์ข้าวปลูก เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานการ Kick off โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ในครั้งนี้ พร้อมร่วมปลูกกล้วย พืชผักสวนครัว และนาข้าว ในพื้นที่แปลงฯ ถือเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทั้งนี้ เพื่อยังเป็นการรวมพลังแห่งบุญและเป็นต้นแบบให้กับทุกอำเภอก่อนขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่อื่นต่อไป

Leave a Reply