โอกาสคณะสงฆ์ไทยใน : เวียดนาม – อินโดนีเซีย ตรงจาก “ผู้มีระสบการณ์”

ตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงบัดนี้ ผู้เขียนมีโอกาสตามคณะสงฆ์ไปร่วมประชุมงานวิสาขบูชานานาชาติ อย่างน้อย 2 ประเทศในอาเซียน คือ ประเทศเวียดนาม ซึ่งมีระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์และอีกประเทศหนึ่งคือประเทศอินโดนีเซีย เป็นประเทศประชากรส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิมและเป็นประเทศที่มีประชาชนนับถือมุสลิมมากที่สุดในโลก ซึ่งในอดีตทั้ง 2 ประเทศนับถือพระพุทธศาสนาแบบ “มหายาน” มาก่อน  ตรงนี้แหละเป็นโอกาสของคณะสงฆ์ไทยต้องเข้าฟื้นฟูและกระตุ้นให้ประชาชนทั้ง 2  ประเทศกลับมาสู่ “รากเหง้าเดิม” ของตนเองคือ พระพุทธศาสนา

ประเทศเวียดนาม เท่าที่ฟังจาก Ven .Dr.Nguyen Anh Anh Tuan  ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาสันติศึกษา (นานาชาติ)   มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อาศัยอยู่เมืองโฮจิมินห์ ท่านพูดไทยคล่องเคล่วเล่าว่า  ตอนนี้ประเทศเวียดนามมีประชากรประมาณ 98 ล้านคน มีคนกลับมานับถือพุทธศาสนาไม่ต่ำกว่า 45 ล้านคน ประเทศเวียดนามแม้จะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ แต่เรื่องศาสนาไม่กีดกั้นรัฐบาลให้อิสระเสรี ที่นี้พระสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นมหายาน เถรวาทมีไม่มาก แต่มหายาน เถรวาท เราอยู่ร่วมกันได้

“อนาคตพระพุทธศาสนาในเวียดนามจะก้าวหน้ามาก เรามีมหาวิทยาลัยสงฆ์ 3 แห่ง เปิดโอกาสให้พระภิกษุมาเรียนได้ พระภิกษุณีที่เวียดนามมีไม่ต่ำกว่า 20,000 รูป ภิกษุณีถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเจริญและความมั่นคงให้กับพระพุทธศาสนา”

สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ พระผาเหล็ก ยติสกฺโก  อายุ 31 ปี พระภิกษุชาวไทยจากวัดพระธรรมกาย ที่อาศัยอยู่ในประเทศเวียดนามมาแล้ว 5 ปี ท่านเล่าความหลังตอนที่มาศึกษาที่เวียดนามว่า

อาตมามาเรียนที่ประเทศเวียดนามตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2563 ตอนนี้จบแล้วชื่อ มหาวิทยาลัยสาโฮยินวัน เมืองโฮจิมินห์ หากแปลเป็นภาษาไทยชื่อเต็ม ๆว่า มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และวัฒนธรรม คณะภาษาศาสตร์ เอกภาษาเวียดนามสำหรับคนต่างประเทศ  เป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังของที่นี้ มีสาขาหลายเมืองรวมทั้งกรุงฮานอย  มาครั้งแรกมาในฐานะนักท่องเที่ยวก่อนและมาโดยไม่มีความรู้ภาษาเวียดนามอะไรเลย เพื่อนชวนมาก็มา กอ่นมาก็ไปขออนุญาตหลวงพ่อวัดพระธรรมกายท่านก็อนุญาตและให้ทุนเรียนด้วย เมื่อถึงที่นี่ก็เรียนภาษาเวียดนามก่อนคอร์ส ๆ ละ ประมาณ 7,000 บาท

“ครั้งแรกที่มาก็มาอยู่เวียดนาม ไปอยู่ที่เมืองเว้ก่อน กับพระมหาการุณ เป็นพระภิกษุชาวเวียดนาม หลวงพี่มหาการุณท่านเคยอยู่วัดปากน้ำภาษีเจริญมาก่อนจบประโยค 4  โยมที่รู้จักกันไปฝากให้อยู่กับท่าน ก็ไปอยู่ตรงนั้นเพื่อเรียนภาษาเวียดนาม ตอนหลังเพื่อนที่ชวนมาเรียนด้วยก็ลาสิกขาไป แต่ก็มีรุ่นน้องจากวัดพระธรรมกายตามมาสมทบด้วยอีกรูป โดยวัดให้ทุนมาเรียนเช่นเดียวกับอาตมา..”

หลังจากเรียนภาษาเวียดนามได้ประมาณ 2 ปีหลวงพี่มหาการุณท่านก็ไปฝากให้ไปอยู่วัดที่เมืองโฮจิมินห์เมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

“ชีวิตการเป็นอยู่ที่นี่ไม่อิสระเหมืองเมืองไทยไปไหนมาไหนต้องแจ้งเจ้าอาวาสไปไหนไปกี่วัน หากเราจะไปอยู่ต่างถิ่นเจ้าอาวาสหรือบ้าน ๆ นั้น ๆ ต้องแจ้งผู้ใหญ่บ้านหรือตำรวจประจำหมู่บ้านให้ทราบ ทุกสามเดือนต้องต่อวีซ่าและเคยมีคนมาบอกว่าตำรวจประจำหมู่บ้านเขาจะมาสืบสอบถามเพื่อนบ้านเรือนเคียงพฤติว่า พฤติกรรมของเราด้วย..”

เนื่องจากประเทศเวียดนามตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนและตะวันตกมานาน ความหวาดระแวงคนต่างถิ่นค่อนข้างสูง แต่เมื่อคุ้นเคยกันแล้ว ความมีน้ำใจ ความเป็นกัลยาณมิตรค่อนข้างสูงดังพระผาเหล็ก เล่าต่อว่า

“คนเวียดนามชอบพวก หากเราส่งภาษาต่างชาติเขาอาจระแวง แต่หากเราพูดภาษาเดียวกับเขา อยู่กับเขานาน ๆแล้วจะรู้ว่าคนเวียดนามเป็นคนมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือแบบเอาหัวใจไปเลย”

เมื่อถามถึงระบบการปกครองของคณะสงฆ์ของประเทศเวียดนาม ซึ่งมีทั้งมหายาน เถรวาท และผสมผสานระหว่างมหายานและเถรวาทที่เรียกว่า “คัตสี” พระผาเหล็กบอกว่า ประเทศเวียดนามประธานคณะสงฆ์ของเขาแต่งตั้งโดยรัฐบาล มหายานยืนหนึ่ง ส่วนนิกายอื่น ๆ ก็เป็นรองประธาน เถรวาทที่นี้แบ่งย่อยออกไปเป็นเถรวาทแบบเวียดนามแท้และเถรวาทผสมแบบกัมพูชาเรื่องดูจากการห่ม “สีจีวร”

สำหรับคณะสงฆ์ไทยคิดจะมาสร้างวัดหรือเปิดศูนย์ปฎิบัติธรรมค่อนข้างยาก เพราะรัฐบาลเขาไม่เปิดโอกาสให้

“มีพระไทยรูปหนึ่งอยู่วัดแถวฝั่งธนบุรี มาสร้างวัดที่นี่สุดท้ายสร้างได้แต่เป็นอาวาสไม่ได้ เพราะต่างชาติรัฐบาลเขาไม่เปิดโอกาสให้ ท่านเล่าว่า ต้องมอบวัดให้กับพระเวียดนามแล้วให้พระเวียดนามมอบให้ท่านมาดูแลต่อไป”

สำหรับพระภิกษุไทยที่ประสงค์จะมาเรียนต่อที่ประเทศเวียดนาม ต้องฝึกภาษาก่อนเป็นอันดับแรก อันดับที่สองคือหาวัดให้ได้ก่อน ส่วนค่าเทอมตลอดหลักสูตรระดับปริญญาตรีไม่เกิน 200,000 บาท ค่าครองชีพไม่แพงมาก การขึ้นรถประทางหากเรามีบัตรนักศึกษาก็ลดให้ครึ่งหนึ่ง

ปัจจุบันประเทศเวียดนามมีคนนับถือพระพุทธศาสนามากกว่า 45 ล้านคน จากประชากรประมาณ 98 ล้านคน ซึ่งข้อมูลนี้คงหมายรวมถึงการนับถือแบบความเชื่อ “แบบดั้งเดิม” ผสมเข้ามาด้วย ส่วนพระภิกษุ และภิกษุณีมีทั้งหมด 44,498 รูป  มีวัดมากกว่า 14,775 วัด    คณะสงฆ์เวียดนามมีนิกายหลัก 3 นิกาย คือ มหายาน เถรวาท และ นิกายแบบผสมผสานระหว่างมหายานกับเถรวาท (คัตสี)ในส่วนของนิกายมหายานนับว่ามีความโดดเด่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีภิกษุณี หรือ หญิงที่บวชเป็นพระมากที่สุดในโลกราว 22,000 รูป ทั้งพระภิกษุและภิกษุณีได้รับการศึกษาทางด้านศาสนาจากมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยดึกซู มหาวิทยาลัยเว้เหงียม และ มหาวิทยาลัยหว่านฮั่งห์ โดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยวันฮั่งห์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งพระพุทธศาสนาจัดตั้งขึ้นโดยสหพุทธจักรเวียดนามและได้รับการรับรองจากรัฐบาลเวียดนาม เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2507 ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยฮันห์ ทำการเปิดสอน 4 คณะคือ คณะพุทธศาสตร์และบูรพาวิทยา คณะอักษรศาสตร์ คณะมนุษย์และสังคมศาสตร์ และคณะภาษาศาสตร์

เท่าที่ฟังจาก พระผาเหล็ก ยติสกฺโก คนเวียดนามเป็นคนศรัทธาในพระพุทธศาสนามากนิยมเข้าวัดและปฎิบัติธรรม ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นโอกาสของคณะสงฆ์โดยเฉพาะ “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ รวมทั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ควรที่จะต้องหาแนวทางเชื่อมโยงกับคณะสงฆ์เวียดนามเพื่อเชื่อมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างคณะสงฆ์ทั้งสองประเทศ อันนี้รวมทั้งประเทศอินโดนีเซียด้วย แม้จะเป็นประเทศประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่เป็นประเทศเปิดกว้างด้านศาสนา ปัจจุบันมีวัดไทยมากกว่า 100 วัด แต่วัดไทยต้องอยู่ภายใต้สมาคมที่รัฐบาลรับรองพระไทยจึงเป็นเจ้าอาวาสได้ ต่างกับประเทศเวียดนามพระไทยจะเป็นเจ้าอาวาสเองไม่ได้ ซึ่งเท่าที่ฟังจากพระคุณเจ้าทั้งสายธรรมยุตและมหานิกาย ประชาชนคนมุสลิมและคนจีนเชื้อสายอินโอนีเซียที่นี้ค่อนข้างตื่นตัวอยากสัมผัสหลักธรรมในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะการปฎิบัติวิปัสสนา การนั่งสมาธิ  เป็นที่นิยมชื่นชอบมาก และสำคัญประชาชนอินโอนีเซียเชื่อมั่นต่อ พระพุทธศาสนาในประไทยและคณะสงฆ์ไทยมาก  ถูกต้องแล้วที่สมเด็จพระมหาธีราจารย์ส่ง “มหาแจ็ค” ไปร่วมปรึกษาหารือเพื่อให้เกิดสมัชชาสงฆ์เถรวาทประเทศอินโดนีเซีย แต่หากให้ดีกว่านี้ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ต้องหาแนวทางจัดตั้ง “องค์การความร่วมมือชาวพุทธโลก”เหมือนกับองค์การความร่วมมืออิสลาม (The Organization of Islamic Cooperation) หรือ OIC ที่มีกำลังต่อรอง มีกองทุนสนับสนุน และมีทีมงานล๊อบบี้ยิสต์ไปทั่วโลก เป็นถึง “สมเด็จพระราชาคณะ”  มันต้องคิดให้เหนือกว่า  “พระราชาคณะสามัญ”   ตำแหน่งโลกไม่จดจำ แต่ผลงานคือ “ตำนาน”  โลกจะจดจำไว้ตลอดกาลครับ..

Leave a Reply