เหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัย ปี 2482 เหรียญที่ได้รับความนิยมสูงสุดทางวัดราชบพิตรได้ให้ร้านอัมราภรณ์แกะบล็อก

เหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัยปี 2482 “…เหรียญที่ได้รับความนิยมสูงสุด ทางวัดราชบพิตรได้ให้ร้านอัมราภรณ์แกะบล็อก และเข้าพิธีพุทธาภิเษกพร้อมกับวัตถุมงคลของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์…”

“ครูบาศรีวิชัย” ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย เป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง จนได้รับการยกย่องให้เป็น “นักบุญแห่งล้านนาไทย”นอกจากนี้ กิตติศัพท์
และอภินิหารของท่านก็เป็นที่เลื่องลือทั้งด้านพุทธบารมีและคุณวิเศษ อีกทั้งยังเป็นพระนักพัฒนาที่หาผู้ใดเทียบเทียม

ครูบาศรีวิชัย เกิดที่บ้านปาง จ.ลำพูน เมื่อปี พ.ศ.2421 ช่วงที่ท่านเกิดได้มีนิมิตมหัศจรรย์ บิดามารดาจึงตั้งชื่อว่า “อ้ายฟ้าร้อง” ท่านมีผิวพรรณวรรณะผุดผ่อง ฉลาด
ว่านอนสอนง่าย มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีเมตตา ไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยเลย และที่สำคัญท่านมีความผูกพันกับพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ชอบชวนบิดามารดาเข้าวัดอยู่
เสมอ บิดามารดาจึงไปฝากเป็นศิษย์พระอธิการขัติ เจ้าอาวาสวัดบ้านปาง เพื่อศึกษาเล่าเรียนอักขระสมัยและอักษรไทย จนอายุ 18 ปีจึงบวชเป็นสามเณรและศึกษา
ภาษาพื้นเมือง ภาษาบาลี-สันสกฤต

ท่านสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและแตกฉาน เมื่ออายุครบบวชท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีฉายา “สิริวิชโย” แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า “พระศรีวิชัย” ศึกษา
พระธรรมวินัยและวิปัสสนาธุระจากพระอาจารย์จนเชี่ยวชาญ แล้วไปศึกษาเพิ่มเติมกับพระอาจารย์อุประ วัดบ้านนาแต ผู้มีชื่อเสียงทางวิปัสสนากรรมฐาน

จากนั้นออกเดินรุกขมูลธุดงควัตรไปตามป่าดงแถบภาคเหนือเป็นเวลาหลายปี จึงกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านปางดังเดิม ความที่ท่านเป็นพระที่พูดจาไพเราะ ยิ้มแย้มแจ่มใส
มีเมตตาธรรมกรุณาธรรม และเคร่งในวัตรปฏิบัติอย่างสูง ผู้คนจึงแวะเวียนมานมัสการเยี่ยมเยือนและปรึกษาหารือไม่ขาดสาย ทุกคนก็จะได้รับคำแนะนำและชี้ทางให้
เกิดความสบายใจและยึดมั่นในศีลในธรรม ท่านเป็นที่รู้จักและเคารพเลื่อมใสอย่างกว้างขวางในเวลาอันรวดเร็ว มีผู้มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหามากมายทั่วทั้งเขตภาค
เหนือ

พุทธศาสนิกชนทั่วไปที่ได้ยินชื่อเสียงกิตติศัพท์และได้มีโอกาสมากราบนมัสการ ท่านยังเป็นพระนักพัฒนาที่สร้างประโยชน์แก่พุทธศาสนามากมาย โดยได้รับความร่วม
มือจากลูกศิษย์ลูกหาทั้งด้านกำลังทรัพย์และกำลังแรงงาน ที่สำคัญมีอาทิ

บูรณะวัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ เป็นวัดหลวงและเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ บูรณะวัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ เป็นวัดที่
บรรจุอัฐิของราชวงศ์เชียงใหม่ และเมื่อท่านมรณภาพก็ได้สร้างเจดีย์เพื่อบรรจุอัฐิของท่านที่วัดนี้ด้วย สร้างทางรถยนต์ขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ ถือเป็นถนนสายประวัติ
ศาสตร์สายเดียวในเมืองไทยให้ชื่อว่า “ถนนศรีวิชัย” โดยได้สร้างอนุสาวรีย์ของพระครูบาศรีวิชัยประดิษฐานไว้ที่เชิงดอยสุเทพ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดี
และบุญบารมีของท่าน บูรณะกำแพงและโบสถ์วัดจามเทวี จ.ลำพูน ซึ่งเป็นงานชิ้นสุดท้ายของพระครูบาศรีวิชัย และเป็นสถานที่จัดงานฉลองอายุครบ 60 ปีด้วย

ท่านมรณภาพที่วัดบ้านปางเมื่อปี พ.ศ. 2481 สิริรวมอายุ 60 ปี พรรษา 42 พรรษา

วัตถุมงคลของครูบาศรีวิชัยมีมากมายทั้งเมื่อยังมีชีวิตและหลังจากมรณภาพไปแล้ว สำหรับรุ่นที่เป็นที่นิยมเล่นหากันมากในหมู่นักนิยมสะสมเหรียญคณาจารย์คือ
เหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัย ปี 2482 นับเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสูงสุด ทางวัดราชบพิตรได้ให้ร้านอัมราภรณ์แกะบล็อก และเข้าพิธีพุทธาภิเษกพร้อมกับวัตถุมงคลของ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2481 แบ่งออกเป็น 2 แบบ

เหรียญลงยา สำหรับแจกกรรมการ ทำเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ ปัจจุบันราคาอยู่หลักล้าน เหรียญรูปไข่ จะมี สองชาย และ สามชาย โดยพิมพ์สามชายได้รับความนิยมกว่าพิมพ์
สองชาย พิมพ์สองชาย ให้ดูที่ข้อมือซ้ายจะมีขีดคล้ายชายจีวร 2 เส้น หากใช้กล้องส่องอาจเห็นเส้นวิ่งกึ่งกลางเป็นติ่งยื่นลงมาระหว่างเส้นชายทั้งสองนิดเดียว ฝีมือช่าง
เดียวกัน มักพบเป็นเนื้อทองเหลืองด้วย พิมพ์สองชายราคาหลักแสนขึ้น พิมพ์สามชาย ที่ข้อมือซ้ายจะมีขีดคล้ายชายจีวร 3 เส้น และยังแบ่งย่อยออกเป็น

สามชาย อักษรมน นับเป็นพิมพ์หนึ่ง (บ้างเรียกก้นอักษรมน) ให้ดูที่ สระอู กับ ตัว ช จะไม่มีเหลี่ยม ด้านหน้าเป็นแอ่งท้องกระทะ ด้านหลังเรียบไม่แอ่น และเห็นขอบ
เส้นแผ่วๆ วิ่งรอบเหรียญ ถือว่าลึกที่สุดในสี่พิมพ์ ขอบตัดด้วยเครื่องไม่มีรอยตะไบ ห่วงเชื่อม เส้นพระเกศา พื้นไม่เรียบ เหนือกลางคิ้วขวามีไฝเม็ดซึ่งปรากฏทุกพิมพ์
ใบหน้าท่านตอบซูบเห็นเป็นเนื้อ ทุกพิมพ์ครองจีวรแบบห่มคลุม มีผ้าเล็กคลุมอีกชั้นกันหนาว เนื้อโลหะเป็นทองแดง อาจพบเนื้อทองเหลืองผสมบ้าง เรียกทองฝาบาตร
(พบเหรียญเงินจำนวนไม่มากนัก)

สามชาย อักษรสลับ เป็นพิมพ์สอง ฝีมือช่างเดียวกันกับพิมพ์หนึ่ง สระอูทำเป็นตัวมน ส่วน ตัว ช กลับเป็นฐานเหลี่ยม นอกนั้นคล้ายพิมพ์หนึ่งมาก ท้องอ่างเป็นแอ่ง
กระทะไม่ลึกเท่าพิมพ์หนึ่ง เนื้อโลหะคล้ายคลึงกัน ไมค่อยพบเนื้อเงิน เนื้อเงินสภาพดีดีหลักแสนกลาง เนื้อทองแดงหลักแสนขึ้น สามชาย อักษรเหลี่ยม พิมพ์ที่สาม (บ้าง
เรียกก้นอักษรเหลี่ยม) สระอู กับ ตัว ช เป็นเหลี่ยมไม่กลมโดยเฉพาะที่ฐานตัวอักษรเป็นมุมแหลมค่อนข้างชัดเจน ราคาหลักแสนขึ้น

หมายเหตุ : ขอบคุณภาพพระ ของ ดร. สุกิจ พูนศรีเกษม

เหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัย ปี 2482 "…เหรียญที่ได้รับความนิยมสูงสุด ทางวัดราชบพิตรได้ให้ร้านอัมราภรณ์แกะบล็อก…

โพสต์โดย พระเครื่อง ดร.สุกิจ เมื่อ วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2019

Leave a Reply