“พระนิสิตนานาชาติ มจร” ลงพื้นที่วัดสามชุกสุพรรณบุรี ศึกษาวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นไทย แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมชาวพุทธระหว่างประเทศ
วันที่ 7 ต.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานยว่า ดร.สุภาพรรณ เพิ่มพูน อาจารย์ประจำคณะและหัวหน้าโครงการศึกษาวัฒนธรรมนอกสถานที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พาพระนิสิตนานาชาติจากประเทศเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งกำลังศึกษาอยู่คณะมนุษยศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มจร จำนวน 85 รูป ลงพื้นที่ศึกษาวัฒนธรรมไทยของชาวพุทธระดับท้องถิ่น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมไทยของชาวพุทธระหว่างกัน โดยมีเป้าหมายศึกษาโครงการที่วัดสามชุก ต.สามชุก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ซึ่งยังคงรักษาวัฒนธรรมไทยชาวพุทธระดับท้องถิ่นไว้อย่างครบถ้วน
ทั้งนี้พระนิสิตนานาชาติเที่ยวชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ ภายในวัด เช่น พิพิธภัณฑ์ประจำท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ภายในวัด มณฑปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระพุทธรูปสมัยอยุธยา หงส์สัมฤทธิ์โบราณ และรอยพุทธบาท 4 รอยสมัยอู่ทอง
หลังจากนั้นพระนิสิตนานาชาติได้สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น ร่วมกับพระสงฆ์ไทยที่อาศัยอยู่ภายในวัดสามชุก และสร้างกิจกรรมเรียนรู้ระหว่างกันและกัน เช่น การเล่าเรื่องวัฒนธรรมชาวพุทธในประเทศของตน และกิจกรรมที่สำคัญที่สุดของโครงการนี้ คือ การนิมนต์ให้พระนิสิตนานาชาติสวดมนต์ตามแบบฉบับของประเทศตน ปรากฏว่าแต่ละประเทศมีเอกลักษณ์การสวดมนต์ของตนแทบทั้งสิ้น
พระนิสิตประเทศที่ได้รับความสนใจจากชาวบ้านมากที่สุดคือ ประเทศเมียนมา เนื่องจากมีการนั่งยองยองหรือการนั่งกระโหย่งสวดมนต์ ซึ่งการนั่งสวดมนต์ดังกล่าวเป็นการให้ความเคารพสูงสุดต่อพระรัตนตรัย
และในตอนเช้าพระสงฆ์ไทยได้พาพระนิสิตนานาชาติออกรับบาตรจากชาวพุทธที่ตลาด 100 ปี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเดียวกับสถานที่ทำการอำเภอสามชุก ชาวพุทธจำนวนมากได้ให้ความสนใจและร่วมใจกันใส่บาตรแด่พระนิสิตนานาชาติจำนวนมาก
ชาวพุทธที่มาใส่บาตรต่างกล่าวว่า “รู้สึกมีบุญที่ได้ทำบุญกับพระสงฆ์ในวันเดียวถึง 5 ประเทศ ไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้ทำบุญที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้ อยากให้มีแบบนี้บ่อย ๆ”
ส่วนพระนิสิตนานาชาติกล่าวว่า “รู้สึกดีใจและประทับใจที่ได้เห็นวัฒนธรรมไทยระดับท้องถิ่น ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ต้นแบบของตนอย่างเหนี่ยวแน่น เมื่อเรียนจบแล้วจะนำเอาความรู้ที่ได้ไปสั่งสอนชาวพุทธภายในประเทศของตน โดยจะสอนและแนะนำให้ชาวพุทธรู้จักคุณค่าวัฒนธรรมของประเทศตน วัด บ้าน โรงเรียน และการปกครองควรเป็นวัฒนธรรมเดียวกัน”
สำหรับโครงการดังกล่าวนั้น พระสุนทรกิจโกศล, ดร. พระครูสุวรรณวิจิตร, ดร. พระสมุห์วรวิทย์ ผาสุโก, ดร. และพระมหาณัฐพงษ์ ฐิตปญฺโญ, ดร. เป็นคณะที่ให้การต้อนรับและบรรยายให้กับ พระนิสิตนานาชาติ มจร ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมชาวพุทธระหว่างประเทศ ในครั้งนี้ด้วย
Leave a Reply