วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ พระธรรมวัชรบัณฑิต, ศาสตราจารย์ ดร. อธิการบดีมหาวิทยลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานเปิดงานการฝึกอบรม “สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่” ลูกไก่ รุ่นที่ ๑๒ โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ระหว่างวันที่ ๙-๑๓ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๔ จัดแบบออนไลน์ โดยมีวิทยาลัยสงฆ์น่านเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน โดยได้กล่าวประเด็นสำคัญว่า การวิจัยที่มีการบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ถือว่าเป็นความสำคัญ การวิจัยถือว่าเป็นวัฒนธรรมการวิจัย เป็นวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นการศึกษาอย่างเป็นระบบแสดงถึงหลักฐานที่ศึกษาที่ชัดเจน เป็นการศึกษาค้นหาความจริงของชีวิตโดยใช้กระบวนการวิจัย ซึ่งมีหลักกาลามสูตรเป็นฐานของการวิจัยในทางพระพุทธศาสนา จะต้องศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยพระพุทธเจ้าศึกษาค้นหาวิจัยด้วยพระองค์เอง ซึ่งเป็นการวิจัยในชุมชนลงพื้นที่วิจัยในชนบทในอินเดียสมัยนั้น
จึงมีคำสอนเกี่ยวกับหลักกาลามสูตร ด้วยคำว่า มา แปลว่า อย่าเพิ่งเชื่อแต่ไม่ได้บอกว่าอย่าเชื่อ สำหรับคนที่มีศรัทธาถือว่าเป็นดาบสองคมที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ไม่มั่นคง พระพุทธองค์จึงทรงแสดงกาลามสูตร ว่าด้วย วิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่ตนสงสัย หรือหลักความเชื่อ ๑๐ ประการ เป็นหลักตัดสิน คือ อย่าเพิ่งเชื่อด้วยการฟังตามๆ กันมา อย่าเพิ่งเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา อย่าเพิ่งเชื่อด้วยการเล่าลือ อย่าเพิ่งเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ อย่าเพิ่งเชื่อเพราะตรรกะ อย่าเพิ่งเชื่อเพราะการอนุมาน อย่าเพิ่งเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ อย่าเพิ่งเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา จึงต้องศึกษาและวิจัยอย่างเป็นระบบค่อยเชื่อ
หลักกาลามสูตรถือว่าเป็นแนวทางของนักวิจัยที่ควรยึดมั่น การวิจัยจึงเป็นแนวทางของพระพุทธศาสนา ผู้จะเป็นนักวิจัยจะต้องยึดมั่นในหลักกาลามสูตร จะต้องศึกษาให้เป็นระบบแล้งจึงค่อยเชื่อ นักวิจัยจะช่วยป้องกันประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมคือ เฟกนิวส์ (Fake News) หรือข่าวปลอม ถูกปล่อยจากคนหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หวังโจมตีกล่าวร้ายหรือไม่ประสงค์ดีใดๆ ก็แล้วแต่ ที่ชอบปล่อยกันในทางโซเซียล เพราะแพร่กระจายเร็วเหมือนไวรัส โดยนักวิจัยต้องยึดมั่นในแนวทางของอริยสัจตามแนวทางพระพุทธศาสนา อดีตเราวิจัยเพื่อรู้ ได้องค์ความรู้เป็นเพียงปริยัติธรรม แต่จะต้องวิจัยเพื่อละ ด้วยการละสาเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง มองปัญหามองสาเหตุการวิจัยให้มีความชัดเจน โดยสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์จะต้องมองยุทธศาสตร์ให้มีความชัดโดยตระหนักว่า วิจัยเพื่อให้เกิดความรู้ และการวิจัยเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาสังคมประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่อยากให้มุ่งเพียงระเบียบวิจัยเท่านั้นแต่ต้องตระหนักว่าวิจัยที่เราจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมประเทศชาติอย่างไร
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ยกพระพุทธเจ้าต้นแบบนักวิจัยในพื้นที่ชนบทเริ่มต้นจากการวิจัยตนเองก่อน ซึ่งนักวิจัยพึงยึดหลักกาลามสูตรและอริยสัจเป็นฐาน และสิ่งสำคัญนักวิจัยจะต้องช่วยป้องกันเฟกนิวส์ (Fake News) ในสังคมไทยที่มีการสื่อสารอย่างแพร่หลาย โดยอดีตเราวิจัยเพื่อรู้ได้องค์ความรู้ซึ่งเป็นเพียงปริยัติเท่านั้น จึงขอฝากให้มีการวิจัยเพื่อละ หมายถึง ละสาเหตุของปัญหา สามารถนำไปแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง โดยอย่ามุ่งเพียงระเบียบวิจัยเท่านั้นแต่ต้องตระหนักว่าวิจัยนำไปสู่การพัฒนาสังคมประเทศอย่างไร โดยในส่วนตัวจึงมองว่า การฝึกอบรมหลักลูกไก่เป็นโครงการที่ดีมาก ขออนุโมทนากับผู้บริหารและผู้จัดการฝึกอบรมทุกรูปท่าน
Leave a Reply