วันที่ 20 ต.ค. 65 ดร. ประสิทธิ์ แก้วศรี อาจารย์ประจำหลักสูตรจิตวิทยาชีวิตและความตาย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชเปิดเผยว่า หลักสูตรจิตวิทยาชีวิตและความตายได้บูรณาการการเรียนการสอนโดยใช้หนังสือ ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับญาณวชิระ เป็นส่วนหนึ่งในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับนิสิตปริญญาโท โดยเป็นลักษณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบ Active Learning ให้นิสิตมีส่วนร่วมและถกสาธกหาประเด็นที่น่าสนใจในเนื้อหา ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า เพื่อตอบว่าเราเกิดมาทำไม เพราะในทศชาตินั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยชี้ให้เห็นว่าเราทั้งหลายนั้นเกิดมาเพื่อสั่งสมบารมีและบ่มเพาะจิตใจให้ดีงาม ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าก่อนจะจากลาอย่างงดงาม นอกจากกระบวนการจะช่วยนิสิตได้องค์ความรู้เกี่ยวกับทศชาติและบารมี 10 แล้ว ยังช่วยสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ดังที่นิสิตได้สะท้อนหลังการเรียนรู้ ซึ่งจากการรวบรวมมีหลากหลายทัศนะจากนิสิต เช่น
“รู้สึกดีที่ได้มาเรียนรู้เรื่องนี้ ได้ร่วม Brain storm เพื่อต่อยอดความคิด และจุดประกายความคิดบางอย่างจากการศึกษาเรื่องทศชาติ การทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ประทับใจ การได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเปิดใจ รับฟังคนในกลุ่ม และได้รู้เรื่องราวละเอียด คมชัดขึ้น การต่อยอดนำเรื่องมาใช้ เป็นพลังในการดำเนินชีวิต เหมือนได้พลังชีวิต”
“ได้ความรู้ที่สามารถนำไประยุกต์ใช้กับชีวิต ทำให้อยากกลับไปศึกษายังบทอื่นๆ ต่อไป ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้เห็นความคิด ความรู้แบบสบายใจ สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้คนอื่นได้อีก สรุปคือ เรียนรู้-แลกเปลี่ยน-พัฒนา-ต่อยอด”
“ได้ความรู้ ทบทวน ทศชาติ จากการค้นคว้า พูดคุย ถกประเด็นในทศบารมี และรับฟังเพื่อนในกลุ่ม ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และสร้างความอยากรู้(กระตุ้น) ได้เป็นอย่างดี ซึ่งทั้ง 2 คือ ปัญญา+วิริยะ เป็นบารมีที่ดีมาก ทำให้ได้คิดว่าเราควรนำไปใช้ได้อย่างไร”
“ได้สังเคราะห์ ได้เรียนรู้การบูรณาการทศชาติกับบารมี 10 รู้สึกดีที่ได้อยู่กับท่านที่มีความรู้ ได้พูดคุยทำให้ตื่นรู้ ตกผลึกจากการสนทนาและความรู้ใหม่จากการสนทนา”
“ได้รู้จักพระมหาชนมากขึ้น รู้ความเป็นมาของพระมโหสถมากขึ้น รู้สึกสนุกเพลิดเพลินรู้สึกดี เหมือนมาสนทนาธรรม มงคล 38 ประการ รู้สึกเป็นนิยายมากกว่าความจริงแต่ได้แง่คิดในการดำรงชีวิตได้แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต เป็นเรื่องที่ดีที่คนรุ่นใหม่จะได้ศึกษาและนำไปต่อยอดในการดำรงชีวิต”
“จากการเรียนรู้ บารมีทั้ง 10 สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้ทุกเรื่อง ทั้งเรื่องชีวิต การเรียน การทำงาน เช่น ฝึกการให้ทาน แบ่งปัน เสียสละกับผู้อื่น /รักษาศีลไม่ให้บกพร่อง / ฝึกความอดทนในการทำงาน / มีจิตใจที่ตั้งมั่นกับสิ่งที่ทำ / มีความเมตตากรุณาให้ทั้งตนเองและผู้อื่น เป็นต้น”
“เรียนตามตรงว่าผมพึ่งรู้จักเรื่องทศชาติชาดกวันนี้เลยครับ คิดว่าคงจะได้ไปอ่านเพิ่มเติมและนำความเพียรของทั้งสิบชาติของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้กับชีวิตตนเองครับ ก่อนที่จะนำมาปรับใช้ผมเริ่มจากการอ่านให้เข้าใจแล้ววิเคราะห์ให้เกิดปัญญาครับ”
“สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางในการปฏิบัติตน และได้แรงบันดาลใจในการทำความดี และที่สำคัญคืองเห็นตนเองเป็นเพียงมนุษย์ที่เกิดมาแค่คนหนึ่งในห้วงสังสารวัฏนี้ มีหลายต่อหลายครั้งที่เราตั้งใจทำความดี หรือตั้งใจทำอะไรแล้วไม่ได้ผลดีตอบแทน หรือต้องเจอคนไม่เห็นด้วย คนไม่เข้าใจ ตลอดจนพบอุปสรรคมากมาย เราอาจเสียกำลังใจไปบ้าง ขออย่าให้ท้อแท้ ถ้าเราคิดได้ว่าเรากำลังทำความดีเพราะมันเป็นความดี ความดีย่อมควรค่าแก่การกระทำเสมอ ไม่จำเป็นต้องมีใครเห็นหรือเข้าใจหรือยอมรับ ถ้าเราทำดีมันก็จะเป็นบุญบารมีของเราเอง และมันจะเป็นอริยทรัพย์ที่ติดตัวเราไปได้เมื่อเราจากโลกนี้ไปแล้ว”
สิ่งที่สะท้อนจากการการเรียนรู้ของนิสิตทำให้เห็นว่า “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” เป็นสิ่งที่ควรแก่การส่งเสริมให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ในวงกว้างมากขึ้นและปรับประยุกต์ให้มีรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ต่อไป
Leave a Reply