พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) รายงาน
เป็นที่แน่ชัดและรับรู้กันโดยทั่วไปในสังคมไทยว่า กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในการอุปถัมภ์ค้ำชูพระสงฆ์ และดูแลวัดวาอารามในยุคปัจจุบัน คือ กลุ่มคนที่ในวัย Baby Boomer ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
แต่คำถามสำคัญที่มักจะมีการพูดถึงอยู่เนืองๆ คือ หากกลุ่มคนเหล่านี้ล้มหายตายจากไปแล้ว บทบาทในการดูแลพระสงฆ์และวัดวาอารามจะยังมีการส่งต่อให้ Gen X Gen Y หรือ Gen Z รับหน้าที่ต่อไปหรือไม่อย่างไร กล่าวง่ายๆ เด็กรุ่นใหม่ยังสนใจช่วยดูแลพระสงฆ์ และดูแลวัดวาอารามเช่นเดียวกับพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือไม่?
การจะตอบคำถามเหล่านี้ จึงขึ้นอยู่กับ 2 ตัวแปรด้วยกัน กล่าวคือ (1) พระสงฆ์และวัดวาอารามจะสามารถนำเสนอคุณค่าหลักให้สอดรับกับความต้องการของเด็กรุ่นใหม่ใน Gen ต่างๆ ได้มากน้อยเพียงใด (2) เด็ก Gen ต่างๆ ยังมองเห็นว่าพระสงฆ์ และวัดวาอารามสามารถตอบโจทย์ชีวิต ชุมชน และสังคมได้มากน้อยเพียงใด
ทั้งข้อ (1) และ (2) ข้างต้น จึงสอดคล้องและสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออก การที่พระสงฆ์ในวัดวาอารามต่างๆ สามารถนำหลักการที่เป็นแก่นแท้มาออกแบบเป็นบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ที่สอดรับกับความต้องการของเด็ก จนเขาได้ประโยชน์
เมื่อเด็กเห็นคุณค่าแท้และเห็นความจำเป็นของการมีพระสงฆ์และวัดวาอาราม เขาจะช่วยกันหวงแหนและรักษาพระสงฆ์และวัดวาอารามให้เป็นที่พึ่งพาอาศัยของรุ่นเขาและรุ่นต่อๆ ไป
อย่างไรก็ตาม ถ้าเขาไม่เห็นประโยชน์อันใดของการมีพระสงฆ์ และวัดวาอาราม ก็ไม่มีความจำเป็นอันใดต้องรักษาไว้ให้ตัวเอง และคนรุ่นต่อไป อีกทั้งไม่มีประโยชน์ที่จะต้องเรียนพระพุทธศาสนา และเคารพกราบไหว้พระสงฆ์อีกต่อไป
คำถามจึงย้อนกลับมาที่พระสงฆ์ องค์กรพระพุทธศาสนา ว่าจะออกแบบพระพุทธศาสนาอย่างไร จึงจะสมสมัยและสอดรับกับความต้องการของกลุ่ม Gen ต่างๆ ในยุคปัจจุบัน แทนที่จะพากันก่นด่าเด็กๆ ที่เห็นต่าง แต่หันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง (Self Criticism) ดังเช่นที่หลายคนกำลังทำอยู่ในขณะนี้
Leave a Reply