ตามไปดูชุมชนพึ่งตนเองแห่ง “ชาวอโศก”ของ สมณะโพธิรักษ์

วันที่ 23 มกราคม 2567  เพจบุญนิยมทีวี ซึ่งเป็นเพจที่เสนอข่าวสารของ “สมณะโพธิรักษ์” ได้โพสต์ข้อความการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการปลูกผักของเด็กนักเรียน ความว่า บันทึกย้อนหลังการทำนาบนร่องน้ำระหว่างแปลงผัก ที่สวนเพื่อฟ้าดิน ที่บวรราชธานีอโศก ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี หลังหมดคาบเรียนวิชาการ ของนักเรียนทุกชั้นปีในเวลา 14.00 น. เรามีนัดกันที่สวนเพื่อฟ้าดิน เพื่อลงเตรียมแปลงนาของเด็กที่จับจอง ร่วมกับผู้ใหญ่

ทางโรงเรียนมอบหมายนักเรียนให้ครูแต่ละคนรับผิดชอบเด็กแต่ละชั้นปี และในแต่ละชั้นปีให้รับผิดชอบแปลงนา สองแปลง เรามีการแบ่งงานกันในแต่ละแปลงนา เริ่มจากการดายหญ้า ทำคันนาให้เรียบร้อย จากนั้นลง โกยผักบุ้ง และ หญ้าต่างๆ ออก เหลือแต่โคลนกับน้ำ จากนั้นก็วิดน้ำออก ได้ออกกำลังกายด้วยกันอีก พอน้ำเริ่มแห้ง เราก็ลงดำนาด้วยกัน สำหรับชั้น ม.3  แปลงของใสเสมอและเพื่อนๆ เสร็จก่อน แปลงที่สองน้องปลา เป้ แอ้ม ฟีโน่ เสร็จทีหลัง มีพี่วิวชั้น ปวช.2 มาช่วย น้องๆ ดำนาให้เสร็จทันเวลา กินข้าวมื้อเย็นด้วย คุรุก็วางกล้องลงดำนากับเด็ก ๆ ภาพที่นำมาฝากเป็นฝีมือการถ่ายภาพของนักเรียน ชั้น ม.3 น้องแอ้ม กับ เป้

มีเรื่องน่าประทับใจ กลุ่มที่รับผิดชอบแปลงนาที่น้ำขังสูง รุ่นพี่ที่อยู่ฐานโรงปุ๋ยมาก่อน ก็เอารถมาสูบน้ำออกบริการทั้งสวนเลย เพื่อให้ทุกแปลงดำนาได้ ทันเวลา คือความเป็นพี่เป็นน้อง คือความอบอุ่นในการทำนาวานนี้

ยิ่งได้เห็นครูทุกคนลงงานกับเด็กๆ แต่ละกลุ่มแล้ว เป็นความงดงาม และ ความลึกซึ้งของการการศึกษาบุญนิยม ที่มั่นใจ ชัดเจน ว่าเราเดินมาถูกทาง เราสร้างเด็กให้เป็นคนดีของคุณพ่อคุณแม่ เราสร้างคนให้เป็นคนดีของสังคมได้

ชุมชนสันติอโศก นับว่าเป็นชุมชนแห่งหนึ่งและแห่งแรกของไทยที่สอนเด็ก เยาวชน รวมทั้งผู้ศรัทธาให้พึ่งพาตนเอง อยู่อย่างสมณ พอเพียง โดยมีแกนนำชื่อว่า “สมณะโพธิรักษ์” หรือ อดีต พระโพธิรักษ์ โพธิรกฺขิโต

ความเป็นมาของ  สมณะโพธิรักษ์ มีชื่อเดิมว่า มงคล รักพงษ์ เกิดวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ที่จังหวัดศรีสะเกษ

ในวัยเด็กอาศัยอยู่กับมารดาที่จังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังได้เข้ามาศึกษาชั้นมัธยมที่กรุงเทพฯ เมื่อเรียนจบมัธยมปลายก็ได้เข้าศึกษาต่อ ที่โรงเรียนเพาะช่าง แผนกวิจิตรศิลป์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น รัก รักพงษ์

ขณะที่กำลังเรียนอยู่ได้เข้าทำงานที่ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เป็นผู้จัดรายการ เป็นรายการเกี่ยวกับเด็ก, การศึกษา และวิชาการ นอกจากงานทางสถานีโทรทัศน์แล้ว ก็ยังทำงานเป็น ครูพิเศษ สอนศิลปะตามโรงเรียน นักแต่งเพลง และเด็กส่งหนังสือพิมพ์

ต่อมาได้หันมาศึกษา พุทธศาสนาและได้อุปสมบทในคณะธรรมยุติกนิกาย ณ วัดอโศการาม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 ได้รับฉายาว่า โพธิรกฺขิโต มีพระราชวรคุณ  (สำรอง คุณวุฑฺโฒ) เป็นพระอุปัชฌาย์

วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2516 พระโพธิรักษ์ ได้เข้ารับการแปรญัตติฯ เป็นพระของคณะมหานิกายอีกคณะหนึ่ง โดยมิได้สึกจากคณะธรรมยุต ที่วัดหนองกระทุ่ม จ.นครปฐม โดยมีพระครูสถิตวุฒิคุณ เป็นอุปัชฌาย์ เนื่องจากมีพระคณะมหานิกายเข้ามาร่วมศึกษา และปฏิบัติตามพระโพธิรักษ์ แต่พระราชวรคุณ ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ ไม่ต้องการ ให้พระฝ่ายมหานิกายเข้ามาศึกษาด้วย

วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2516 พระโพธิรักษ์ได้คืนใบสุทธิให้ฝ่ายธรรมยุต ถือไว้แต่ใบสุทธิ ฝ่ายมหานิกาย อย่างเดียว

วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2518 พระโพธิรักษ์และคณะ ได้ประกาศ นานาสังวาส กับมหาเถรสมาคม (ประกาศลาออกจากมหาเถรสมาคม) และได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านอกรีต จากการปฏิบัติที่เคร่งครัดของพระโพธิรักษ์และคณะ ได้แก่ ฉันอาหารมังสวิรัติ, ฉันอาหารวันละ 1 มื้อ, ไม่ใช้เงินทอง, นุ่งห่มผ้าย้อมสีกรัก, ไม่มีการเรี่ยไร, ไม่รดน้ำมนต์-พรมน้ำมนต์, ไม่ใช้การบูชา ด้วยธูปเทียน, ไม่มีไสยศาสตร์ฯ

ในภายหลัง พระโพธิรักษ์ และคณะ ได้รับการพิพากษาว่าเป็น ผู้แพ้ ไม่สามารถ เรียกขานตนเองว่า พระ ได้ จึงเรียกตนเองว่า สมณะ แทน และยังคงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม

สำหรับการเกิดขึ้นของ “คดีความ”  สืบเนื่องจากทางมหาเถรสมาคมเห็นว่าพระโพธิรักประพฤติผิดพระธรรมวินัยหลายประการ คณะสงฆ์จึงเสนอเรื่องต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 มหาเถรสมาคมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นสามคณะ คือ คณะทำงานด้านธรรมวินัย คณะทำงานด้านกฎหมาย คณะทำงานด้านมวลชน เพื่อสืบหาข้อเท็จจริง คณะทำงานด้านพระธรรมวินัยมีความเห็นว่า พระโพธิรักล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ส่วนคณะทำงานด้านกฎหมายมีความเห็นว่า รักษ์ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ต่อมา ที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้ตั้งคณะการกสงฆ์เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอต่อมหาเถรสมาคม คณะการกสงฆ์ได้ประชุมกันโดยมีสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร เป็นประธาน คณะการกสงฆ์ได้มีมติสี่ประการ คือ (1) ให้มหาเถรสมาคมใช้อำนาจตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 โดยสั่งให้พระโพธิรักสละสมณเพศ (2) บริวารของพระโพธิรักซึ่งเข้าบวชโดยไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ถ้าต้องการจะบวชให้ถูกต้อง ก็ให้มารายงานตัวต่อสังฆาธิการระดับเจ้าคณะจังหวัดผู้เป็นการกสงฆ์ขึ้นไป (3) ให้ประกาศนียกรรมแก่พุทธบริษัทให้ทราบข้อเท็จจริงโดยทั่วกัน และ (4) ให้กรมการศาสนาแจ้งแก่ภิกษุสามเณรทั่วราชอาณาจักรให้ทราบข้อเท็จจริงและมิให้คบหาสมาคมรักษ์และบริวาร

มติของการกสงฆ์ดังกล่าว มหาเถรสมาคมพิจารณาแล้วเห็นชอบ แต่สำหรับมติประการแรกได้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับมาว่า มหาเถรสมาคมใช้อำนาจตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ได้ ต่อมาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) ในฐานะประธานมหาเถรสมาคม ได้มีคำสั่งให้รักษ์สละสมณเพศภายในเจ็ดวัน

ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2532 นายเสนาะ พ่วงภิญโญ รองอธิบดีกรมการศาสนาได้นำคำสั่งไปให้พระโพธิรักทราบที่ชุมชนสันติอโศก พระโพธิรักไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำสั่ง รองอธิบดีกรมการศาสนาจึงร้องทุกข์ไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว กรมตำรวจแต่งตั้ง พล.ต.ต. วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน และนายพิศาล มูลศาสตร์สาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น ได้สั่งให้จับกุมพระโพธิรักและพวกทั้งหมด รวม 105 คน ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2532 พนักงานสอบสวนจับกุม แจ้งข้อหา และสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการได้ฟ้องเป็นจำเลยจำนวน 80 คดี ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-79 มีความผิดเกี่ยวกับศาสนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 (ไม่ใช่ภิกษุสงฆ์ บังอาจแต่งกายอย่างภิกษุสงฆ์ เพื่อล่อลวงให้คนอื่นเชื่อว่าเป็นภิกษุสงฆ์) และให้จำคุกคนละ 3 เดือน ส่วนจำเลยที่ 80 คือ รักษ์ สนับสนุนให้จำเลยที่คนอื่น ๆ กระทำผิดดังกล่าวจำนวน 33 กระทง พิพากษาลงโทษจำคุกเรียงกระทง กระทงละ 2 เดือน รวมเป็นจำคุก 66 เดือน ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยบางคน โทษจำเลยที่ 80 จึงลดลงเป็นจำคุก 54 เดือน และศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ว่า

“จำเลยที่ 80 ได้บวชเป็นพระภิกษุในฝ่ายธรรมยุตนิกาย…และ…ได้สวดญัตติเข้าเป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย แสดงว่า จำเลยที่ 80 ได้ยอมรับที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และกฎมหาเถรสมาคมมาก่อน และในช่วงเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 80 ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ ไม่ปรากฏว่า จำเลยทุกคนถูกกลั่นแกล้งจากใครอย่างไรและถึงขนาดไม่อาจปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า…ไม่ปรากฏบทบัญญัติมาตราใดให้สิทธิพระภิกษุสงฆ์ไทยประกาศแยกตนให้มีผลประดุจสังฆเภทไม่ยอมอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ได้ การประกาศของจำเลยที่ 80 กับพวกดังกล่าวจึงไม่ทำให้จำเลยที่ 80 กับพวกพ้นจากการปกครองของมหาเถรสมาคมและไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 การที่ภิกษุสงฆ์นักบวชไม่อนุวัตปฏิบัติตามกฎหมายกลับมีผลเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นดังเช่นที่ปรากฏในคดีนี้”

 ที่มาภาพข้อมูล เพจ บุญนิยมทีวี -วิกิพีเดีย

Leave a Reply