เหตุเกิด ณ มจร เชียงใหม่

“ช่างใจ” อยู่นานพอสมควรว่าจะเขียนดีหรือไม่ดี กรณีมีอาจารย์ท่านหนึ่งจาก “มจร เชียงใหม่” ส่งหนังสือร้องเรียน เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ใน “มจร เชียงใหม่” เหตุผลที่ช่างใจอยู่นานอันเนื่องจาก หนึ่ง ข้อมูลที่ส่งมาเป็นข้อมูลฝ่ายเดียวของอาจารย์อาวุโสท่านนี้ สอง มีการถวายฏีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและร้องต่อศาลปกครองแล้ว สาม คดีบางอย่างน่าจะฟ้องร้องกันอยู่ในชั้นศาลแล้ว และ สี่ เอกสารที่ส่งมามีการระบุชื่อและกล่าวโทษหากเป็นฆราวาสเป็น “คดีอาญา” แต่หากเป็นพระภิกษุมีโทษสูงสุดเป็นชนิด “ตาลยอดด้วน”

“ผู้เขียน” พยายามอ่านหนังสือทั้ง 2 ฉบับแล้ว  ซึ่งเขียนด้วยลายมือทั้ง 2 ฉบับหลายรอบ มีหลายสิบหน้า เริ่มจากหนังสือร้องถึง “ศาลปกครอง” เป็นเรื่องของการ“เลิกจ้างงาน” โดยไม่เป็นธรรม อาจารย์อาวุโส มจร ท่านนี้ เล่าทำนองว่าเป็นผู้คนหนึ่งในการริเริ่มก่อตั้ง  “มจร เชียงใหม่” มาตั้งแต่ปี 2527 ยุค 5 ปีแรกไม่ได้มีค่าตอบแทนแต่ประการใด ทำด้วย “หัวใจ” ซ้ำมี “คุณแม่” คอยอุปถัมภ์ มจร เชียงใหม่ด้วย ซึ่งก็เหมือนกับคณาจารย์ยุคแรก ๆ ของ มจร ส่วนกลาง หากจะมีค่าตอบแทนบ้างก็พอเป็น “ค่ารถ” และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เอาติดตัวไป..ถูกพระนิสิตขอ “บิณฑบาตร” ให้เลี้ยงน้ำปานะหมด

อาจารย์อาวุโสวัย 73 ปีท่านนี้เล่าว่า เริ่มสอนคณะพุทธศาสตร์ คณะแรกและคณะเดียวในยุคนั้น สมัยนั่นมีพระนิสิตประมาณ 15 รูปเท่านั้น  ต่อมาในปี 2540  “มจร” มีงบประมาณเป็นของตนเอง จึงได้รับเงินเดือนและเกษียณอายุราชการในปี 2552  ชีวิตหลังเกษียณ มจร จ้างต่อเป็นรายปีตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท  แต่สุดท้ายถูกเลิกจ้าง จากคำกล่าวอ้างของอาจารย์อาวุโสท่านนี้ระบุว่า ผู้บริหาร มจร เชียงใหม่ เลิกจ้าง อ้าง ข้อ 9 (ไม่ระบุว่าระเบียบอะไร)  เพราะ “พฤติกรรมไม่เหมาะสมและไม่มีประสิทธิภาพในการสอน หรืออ้างว่ามีอายุเกิน 60 ปีไปแล้ว ซึ่งกรณีนี้อาจารย์อาวุโสท่านนี้ยังระบุต่ออีกว่า ใน มจร มีคณาจารย์อายุเกิน 60 ปีอย่างน้อย 5 ท่าน ที่ถูกจ้างต่อและแต่ละคนเงินเดือนเกิน 15,000 บาททั้งนั้น

การเลิกจ้าง อาจาย์อาวุโสท่านนี้ นอกจากร้อง “ศาลปกครอง” แล้วท่านทำหนังสือร้อง “ขอความเป็นธรรม” ถึงผู้บริหารส่วนกลางคือ มจร วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา แต่เรื่อง..กลับเงียบ

คงต้องจับตา.รอดูต่อไปว่า ผู้บริหาร มจร ส่วนกลาง จะมีท่าทีและหาทางออกอย่างไร??

ในหนังสือฉบับที่ 2 เป็นหนังสือยื่นถวายฏีกาต่อ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เอกสารทั้งหมดเป็น “ลายมือเขียน” จำนวน 23 หน้า อาจารย์อาวุโสท่านนี้ เล่าเรื่อง เริ่มต้นเหมือนกับฉบับแรก ที่ท้าย ๆ  เล่าตั้งคำถามทำนองว่า พฤติกรรมแบบนี้ อาจมีการทุจริตที่เกิดขึ้นใน มจร เชียงใหม่ “ใช่หรือไม่”  เพื่อขอทรงพระกรุณาให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ชำระคดีเพื่อความเป็นธรรม เนื้อหาค่อนข้างรุนแรง และมี “บุคคลหลายคนปรากฎชื่ออยู่” ในเอกสารฉบับนี้..จึงไม่อาจนำมาเล่าได้

“ผู้เขียน” ในฐานะศิษย์เก่า “มจร” แน่นอนว่า “รู้จัก” คณะผู้บริหารเกือบทุกระดับชั้น และ “เคารพ” ครูบาอาจารย์อย่างยิ่งยวด ที่ผ่านมาเคย “กระตุกจีวร” บ้าง “กระชากจิตสำนึก” บ้าง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน “มจร” หลายครั้ง ทั้ง โรงพิมพ์ ทั้ง ตึก 92 (โรงแรม) และรวมทั้งพฤติกรรมครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ บางราย มีข้อมูลจากคำเล่าบ้างจากเอกสารภาครัฐบ้าง ว่า หลายท่านมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อผิดกฎหมาย ผิดจริยธรรม คุณธรรม และรวมทั้ง “พระวินัย”  มี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” จำเป็นต้อง “กระตุก” เพื่อดึง “สติ” กลับมา ในฐานะ “มจร” แม้จะอยู่ในกำกับของรัฐ แต่ภาพลักษณ์คือ ความเป็น “มหาวิทยาลัยสงฆ์” เรื่อง คุณธรรม จริยธรรม เรื่องการส่อไปทาง “ทุจริต”  การคดโกง การเรียกร้องผลประโยชน์  ให้เกิดขึ้นภายใน “มจร” มิได้ รวมทั้งการบริหารต้องคำนึงถึง “ธรรมาภิบาล” ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง

หากมีเหตุการณ์เหล่านี้นอกจากภาพลักษณ์ “มจร” เสียหายแล้ว กระทบถึง คณะสงฆ์ และพระพุทธศาสนาโดยรวมด้วย

ส่วนกรณีเกิดขึ้นใน “มจร เชียงใหม่”  ผู้เขียนนำมาเล่า มิใจมีเจตนา “กล่าวหา” ผู้บริหาร มจร เชียงใหม่ ทั้งเรื่องหมิ่นเหม่ส่อไปทางทุจริต เรื่องชู้สาว หรือเรื่องอื่น  แต่ประการใดไม่ เพราะทั้งการ “เลิกจ้าง” ถือว่าเป็นเรื่องการบริหาร เป็นอำนาจของ “สภา มจร”  ส่วนเรื่อง “จิตสำนึก” เป็นอีกประการหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนไม่รู้สาเหตุตื้นลึกหนาบางด้านพฤติกรรมอาวุโสท่านนี้และรวมทั้งข้อจำกัดด้าน งบประมาณของ มจร เชียงใหม่ ส่วนเรื่องหมิ่นเหม่ส่อไปทาง “ทุจริต” นั่นเป็นอำนาจ ของ ปปช. สตง.หรือปปท.ไปดำเนินการว่า “จริงหรือเท็จ” 

“ผู้เขียน”  เพียงแต่นำมาเล่าสิ่งที่ “อาจารย์อาวุโส” ท่านนี้ส่งเอกสารขอความเป็นธรรม “ผ่านสื่อ” มาเท่านั้น และภายในเอกสารนี้มีทั้งการ “ถวายฏีกาและร้องต่อศาลปกครอง” จึงนำบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง..ซึ่งเอกสารเหล่านี้ “เผาทิ้ง” เรียบร้อยแล้ว

และแม้น รวมแม้นคณะผู้บริหาร “มจร เชียงใหม่” ต้องการ “ชี้แจง” ผ่านสื่อ โดยอาศัย “ช่างทาง” นี้ ก็สามารถกระทำได้เช่นกัน

เพียงแต่ขอคำชี้แจงเป็น “เอกสาร” เท่านั้น ห้ามผ่านบุคคลหรือผ่านการเล่าทางโทรศัพท์ทัั้ง จาก “บุคคล มจร เชียงใหม่” และ “บุคคลส่วนกลาง” หรือบุคคลอื่น ๆ 

“พวกเรา” ชาว “มจร” ที่ผ่านมาอยู่เสมือน “พี่น้อง” ใน มจร ส่วนกลาง “หลายท่าน” ผู้บริหารโดยเฉพาะ คณาจารย์ ในคณะสังคมศาสตร์ “บางคน” แม้เกษียณแล้ว “ผู้บริหาร” ก็จ้างให้อยู่ต่อโดยใช้ “เงินพิเศษ” เงินรายได้จากโครงการหลักสูตรต่าง ๆ  เงินนอกงบประมาณแผ่นดิน สาเหตุที่จ้างต่อได้เพราะผู้บริหารคณะสังคมศาสตร์มี “กึ๋น”และอยู่ร่วมกันแบบ“บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” อาจารย์บางคนของพวกพวก นอกจากสอนแล้วทำอะไรไม่เป็น ยากจน เงินบำเหน็จบำนาญก็ไม่มี ซ้ำบางคน “ลูก” ก็ไม่มีเพราะบวชนาน “น้ำเชื้อ” หมดสภาพ

หวังว่าผู้บริหาร  “มจร เชียงใหม่”  คงได้ยินสุภาษิตที่พระเรามักนำมาอ้างสอนโยมพูดกันบ่อย ๆ ว่า  “ดื่มน้ำจากบ่อ อย่าลืมคนขุดบ่อ”

 

ขอบคุณภาพเพจ..มจร เชียงใหม่

Leave a Reply