“พ่อเมืองนครพนม” จับมือภาคีเครือข่ายสนับสนุนเครื่องแบบ ลูกเสือเนตรนารี ให้กับนักเรียนที่ขาด

วันที่  20 ก.ย. 66 เวลา 09.00 น. ณ ห้องโถง ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในพิธีมอบเครื่องแบบและเครื่องหมายประกอบเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารีให้แก่นักเรียนที่ขาดแคลน ซึ่งผู้ปกครองมีรายได้ไม่เพียงพอ ไม่สามารถดำเนินการจัดหาชุดลูกเสือและเนตรนารีให้แก่บุตรหลานได้ โดยมี นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล นายวิจิตร กิจวิรัตน์ นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม หัวหน้าส่วนราชการ คณะผู้บริหาร อาจารย์ ร่วมพิธีฯ ซึ่งเครื่องแบบและเครื่องหมายประกอบเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารีนี้ได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อันไปประกอบไปด้วย มูลนิธิพญาศรีสัตตนาคราช และมูลนิธิกระจกเงา

นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนจากฐานราก โดยจังหวัดนครพนม ได้พิจารณาเห็นว่า การแต่งกายชุดลูกเสือ เนตรนารี เป็นการปลูกฝังความภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของลูกเสือ เนตรนารี การดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีและความมีระเบียบวินัย โดยมีผู้มีจิตศรัทธา นั่นคือ มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิพญาศรีสัตตนาคราช ร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย โดยไม่ใช้งบประมาณจากภาครัฐ อันเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงมหาดไทย ที่ถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันให้กับลูก ๆ หลาน ๆ

“เครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี เป็นเครื่องแบบที่ล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์พระปิยมหาราช ได้พระราชทานกำเนิดการศึกษาให้กับลูกหลานคนไทย พระองค์ทรงเคยพระราชทานพระราชดำรัสใจความสำคัญว่า “การแต่งเครื่องแบบจะทำให้ลูกเจ้า ลูกนาย ลูกขุนนาง ลูกพ่อค้า ลูกตาสีตาสา ลูกชาวบ้าน มีความเหมือนกัน เพราะเป็นนักเรียนเหมือนกัน” ถ้าไม่ให้แต่งเครื่องแบบก็จะใส่ไปตามฐานะของครอบครัว ที่คนนึงจะใส่กำไลทอง ทั้งข้อมือ ข้อเท้า และสร้อยทองที่คอ ใส่เสื้อผ้าที่หรูหรา กลายเป็นปมด้อยของเด็กก็จะเกิดขึ้น กลายเป็นความแปลกแยก เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ และที่สำคัญที่สุด “เครื่องแบบนักเรียนก็มีราคามาตรฐาน” ซึ่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงเล็งเห็นความสำคัญที่จะฝึกกุลบุตร กุลธิดา ให้เป็นผู้มีระเบียบวินัย สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในทุกสถานการณ์ ก็จำเป็นต้องให้ฝึกลูกเสือ โดยแรกเริ่มก็คือลูกเสือหลวง กองเสือป่า ซึ่งพระองค์ท่านทรงมีแนวพระราชดำริเฉกเช่นสมเด็จพระบรมชนกนาถว่า “จำเป็นต้องมีเครื่องแบบ” โดยทรงพระราชวินิจฉัยให้ชุดลูกเสือในสมัยนั้นเป็นแบบอย่าง โดยพระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองเสือป่าขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 และต่อมาอีก 2 เดือน คือ วันที่ 1 กรกฎาคม 2454 พระองค์ได้พระราชทานกำเนิด “ลูกเสือไทย” ขึ้น เพราะทรงต้องการให้ลูกหลานไทยของเราได้รับการฝึกหัดให้รู้จักมีระเบียบมีวินัย มีความเข้มแข็ง สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และเป็นกำลังสำคัญของคนที่จะช่วยรักษาประเทศชาติ พระศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้มีความวัฒนาถาวร ทำให้ประเทศชาติเรามีความเป็นเอกราชมาได้ โดยชุดลูกเสือของกองเสือป่าที่จัดตั้งครั้งแรกนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนเก่าของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง คือ นายชัพน์ บุญนาค เป็นผู้ที่แต่งชุดลูกเสือเป็นคนแรกมาให้ทอดพระเนตร และหลังจากนั้น ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็น “เครื่องแบบลูกเสือ” และร้านตัดเสื้อผ้าที่ตัดชุดลูกเสือเป็นร้านแรกของประเทศไทย คือ “ร้านวิวิธภูษาคาร” ถนนเฟื่องนคร ซึ่งตั้งอยู่ด้านข้างกระทรวงมหาดไทย จึงเป็นที่มาของเครื่องแบบลูกเสือที่พวกเราได้ใช้มาจวบจนถึงปัจจุบัน” นายวันชัยฯ กล่าว

นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวเพิ่มเติมว่า สังคมไทยเรานั้น ถือว่าเป็นสังคมแห่งความช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งเป็นสังคมสังคหวัตถุ 4 สังคมแห่งความเมตตา ความเอื้อเฟื้อความเผื่อแผ่ ดังนั้น “ปัญหาของเด็กทุกคนทุกครัวเรือนก็เป็นปัญหาของเราในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็นปัญหาของท่านนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องช่วยทำให้เด็ก ทำให้ครอบครัวของเด็ก มีความสะดวกสบาย มีความเท่าเทียมกัน ในการที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้ลูกหลานได้ศึกษาเล่าเรียนในทุกแขนงวิชาที่อยากศึกษาเล่าเรียน “โดยเฉพาะวิชาลูกเสือ” ที่เป็นวิชาที่นอกจากจะทำให้ลูกหลานของเรามีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แล้ว จิตวิญญาณของลูกเสือยังเป็นจิตวิญญาณแห่งการช่วยเหลือผู้อื่น หรือจิตวิญญาณของจิตอาสาให้กับพี่น้องประชาชนและสังคม

“นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาความยากจนในภาคการศึกษาของจังหวัดนครพนม ไม่ได้หยุดยั้งแค่เรื่องของเครื่องแต่งกาย แต่ยังมีนัยไปจนถึงเรื่องของทุนการศึกษาที่ได้บูรณาการภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี เชิญชวนทุกภาคส่วนบริจาคจัดหาทุน โดยให้นายอำเภอทุกคน เป็นผู้นำของอำเภอ ในการชวนท่านผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และพี่น้องทุกภาคส่วน ได้ช่วยกันเตรียมทุนการศึกษาไว้ให้ลูกหลาน เพราะเรื่องใหญ่ที่สำคัญที่สุด คือ “ผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องช่วยกันในการที่จะช่วยเสาะแสวงหาข้อมูล” และสร้างการรับรู้ไปยังครู อาจารย์ ว่าอย่าเพิกเฉย อย่าเฉยเมยกับลูกศิษย์ที่เขาเดือดร้อน และต้องการความช่วยเหลือ โดยต้องแจ้งขอรับการสนับสนุนมายังท่านนายอำเภอ มายังท่านนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อฝ่ายบ้านเมืองจะได้มีข้อมูลและนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือต่อไป” ผวจ.นครพนม กล่าวในตอนท้าย

Leave a Reply