ปลัดกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่ติดตามแก้จน สำรวจพบ 3.5 ล้านครัวเรือนไทยยากจนตามนิยาม “ทุกปัญหาความเดือดร้อนคือ ความยากจน”

วันนี้ 21 พ.ค. 65   เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมพระมงคลมิ่งเมือง ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานการประชุมตรวจติดตามการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดอำนาจเจริญ โดยมี นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นางรัชชุมา บุตรโพธิ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอำนาจเจริญ นายธนูสินธ์ ไชยสิริ นายศิริพันธ์ ขุ่มด้วง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นายฤทธิสาร เทพพิทักษ์ ปลัดจังหวัดอำนาจเจริญ นายภูษิต น้อยโสภากุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นที่แน่วแน่ในการแก้ไขช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ให้พ้นจากความทุกข์ ความยากลำบากในทุกด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ที่เราเรียกว่า ความยากจน และความเดือดร้อนมิติอื่น ๆ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ “ศจพ.” มีเป้าหมายในการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งคำว่า “ความยากจน” ที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยกำลังขับเคลื่อนในขณะนี้นั้น หมายถึง ทุกปัญหาความเดือดร้อนที่ประชาชนกำลังประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่หมายความเพียงแค่เรื่องเศรษฐกิจปากท้องเท่านั้น เพราะความยากจนมันเกี่ยวข้องกับโครงสร้างและเรื่องต่าง ๆ ที่ทำให้คนต้อง “อับจน” เข้าไม่ถึงสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่ง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้ลงพื้นที่มอบนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอซึ่งเป็นแม่ทัพของจังหวัดและอำเภอในการขับเคลื่อนฯ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ โดยมีทีมปฏิบัติการตำบล และทีมพี่เลี้ยง ซึ่งประกอบด้วย ปลัดอำเภอ พัฒนากร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนจิตอาสา ลงสำรวจปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทุกเรื่อง และร่วมคิด ร่วมวิเคราะห์ ร่วมหาวิธี ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ตามหลัก 4 ท คือ ทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากร ทางออก อย่างใกล้ชิด (Intensive Care) โดยการมีส่วนร่วมของครัวเรือน ตามแนวทาง 2 มิติ คือ 1) มิติยาฝรั่ง คือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนทำให้อยู่รอดอย่างรวดเร็ว ในเบื้องต้น เช่น ช่วยกันทำให้มีที่อยู่อาศัยได้เรียนหนังสือ มีอาหารกิน  มีเครื่องไม้เครื่องมือประกอบอาชีพ  และ 2) มิติยาไทย ทำให้ยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมทักษะ วิธีการ แนวทางในการแก้ปัญหา ดึงเอาความสามารถที่มีอยู่มาใช้ สามารถพึ่งพาตนเองด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งน้อมนำพระราโมบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสร้างกระบวนการกลุ่มที่มีจิตอาสาขึ้นในทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ให้ได้ เพื่อช่วยเหลือดูแลกันและกัน และส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นแหล่งอาหารประทังชีวิต เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา สร้างแหล่งยาสมุนไพรรักษาโรค มีกิน มีใช้ ด้วยความรัก ด้วยการพึ่งพาตนเอง ด้วยการแบ่งปัน

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ในด้านเป้าหมายการแก้ไขปัญหาความยากจน รัฐบาลได้กำหนดให้นำข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) ประกอบด้วย ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) และข้อมูลลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นเป้าหมายในการแก้ไขปัญหา ซึ่งในปี 2565 พบว่ามีเป้าหมายในระบบ TPMAP จำนวน 1,025,782 คน 619,111 ครัวเรือน แต่เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยตระหนักว่า อาจยังมีผู้ที่ตกหล่นจากการสำรวจ จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม ThaiQM โดยกรมการปกครอง ทำการ Re X-Ray ครัวเรือนยากจนทั่วประเทศ โดยนำฐานข้อมูลครัวเรือนจากทะเบียนบ้าน 76 จังหวัด จำนวน 19,990,231 ครัวเรือน เป็นฐานในการสำรวจ โดย ณ วันที่ 20 พ.ค. 65 ได้ทำการสำรวจแล้ว 11,570,576 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 57.88 ยังเหลืออีก 8,419,655 ครัวเรือน ซึ่งนายอำเภอทุกอำเภอต้องบูรณาการสำรวจข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิ.ย. 65 เพื่อให้มีฐานข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ หลังจากทำการสำรวจไปแล้วพบว่า ครัวเรือนมีปัญหาความยากจนเดือดร้อนมากถึง 3,529,390 ครัวเรือน เช่น ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่มีที่อยู่อาศัย มีบ้านแต่ไม่มีบ้านเลขที่ ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินส่งลูกเรียน ไม่มีทุนการศึกษา ป่วยติดเตียงหรือสูงอายุแล้วไม่มีญาติมิตรลูกหลานดูแล ไม่มีเงินใส่ฟันปลอม ไม่มีเงินตัดแว่นตา มีลูกหลานติดยาเสพติดในครอบครัว เป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งตรงกับข้อมูลในระบบ TPMAP 647,139 ครัวเรือน และเป็นครัวเรือนที่ได้สำรวจพบเพิ่มเติมจากการทุ่มเททำงานอย่างเอาจริงเอาจัง 2,882,251 ครัวเรือน โดยเมื่อจำแนกตามสภาพปัญหาที่สำรวจพบ ได้แก่ ด้านที่อยู่อาศัย 544,912 ครัวเรือน ด้านน้ำดื่ม/น้ำใช้ 736,588 ครัวเรือน ด้านการศึกษา 745,749 ครัวเรือน ด้านรายได้และอาชีพ 1,342,174 ครัวเรือน ด้านความปลอดภัย 319,666 ครัวเรือน กลุ่มเปราะบาง ป่วยติดเตียง คนพิการ เด็กเล็กไม่มีผู้ดูแล 337,513 ครัวเรือน และความเดือดร้อนอื่น ๆ 1,945,861 ครัวเรือน และจะได้ดำเนินการสำรวจเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จเพื่อสามารถวางแผนบูรณาการทำงานทั้งระบบให้สำเร็จต่อไป

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำว่า สำหรับเป้าหมายการแก้ไขปัญหาความยากจนในครั้งนี้ที่ถือเป็นความท้าทาย คือ ต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. 65 เพราะงานทุกงานต้องมีระยะเวลาในการทำงานที่ชัดเจน เพื่อที่จะเป็นเครื่องกระตุ้นให้พวกเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะแม่ทัพของจังหวัด และนายอำเภอในฐานะแม่ทัพของอำเภอ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและข้าราชการทุกกระทรวงในพื้นที่ในฐานะขุนศึกทั้งหลาย ได้มุ่งมั่นทำงาน ด้วยจิตใจรุกรบ โหมการทำงาน ซึ่งเรามั่นใจว่าจะมีความสำเร็จ แต่ความสำเร็จ 100% จำเป็นต้องใช้ความเพียรพยายามและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นอกจากนี้ ในวันที่ 30 ก.ย. เป็นวันที่ข้าราชการหลายท่านจะต้องเกษียณอายุราชการ จึงเป็นโอกาสที่จะได้มุ่งมั่นทุ่มเททำงานรับใช้ประชาชนจนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิตข้าราชการ “ดังนั้น ในวันที่ 30 ก.ย. 65 นี้ ทุกครัวเรือนจะต้องได้รับการแก้ไขปัญหาครบถ้วน แต่หากบางปัญหาได้แก้แล้วแต่ยังไม่ครบ 100% ก็จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่กำหนดต่อไปจนเสร็จ”

     “พวกเราข้าราชการทุกคนคือข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้รับเงินเดือนมาจากภาษีของพี่น้องประชาชน โดยมีสำนึกรับผิดชอบว่า เราจะทำงานแก้ไขปัญหาความยากจนที่ถือเป็นข้าศึกอริราชศัตรู ยอมตายถวายชีวิตเพื่อทำสิ่งที่เป็นอุดมการณ์ของพวกเราทุกคน นั่นคือการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประชาชน ด้วยการร่วมมือกับทุกกระทรวง ทุกภาคส่วน ทุกภาคีเครือข่ายทำงานอย่างไม่ย่อท้อเหน็ดเหนื่อย เพราะเรื่องที่กำลังทำนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เกี่ยวกับความมุ่งมั่น ทุ่มเท เพื่อแก้ไขปัญหาความจนให้แล้วเสร็จในวันที่ 30 ก.ย. 65 นี้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวย้ำ

 ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal : SDGs) เพราะศัตรูที่สำคัญที่สุดของการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน คือ “ความยากจน” ดังนั้น ถ้าพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมก็จะเกิดความยั่งยืน บัดนี้ พวกเราทุกคนกำลังทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่ของโลกที่จะยังประโยชน์อันมหาศาลให้กับประเทศชาติ หากพวกเราทุกคนทำได้สำเร็จ จะเป็นการ Dream come true นั่นคือ “ทำความฝันให้เป็นจริง” เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของครอบครัว สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเราจะร่วมกันขับเคลื่อนทำความฝันของพี่น้องประชาชนให้เป็นจริง

ด้าน นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า จังหวัดอำนาจเจริญ ได้ดำเนินการนำแพลตฟอร์ม ThaiQM ทำการ Re X-Ray ครัวเรือนยากจนในพื้นที่พบว่ามีสภาพปัญหาตามลำดับ ได้แก่ ด้านบ้าน/ที่อยู่อาศัย ไม่มีบ้านอยู่ 1,504 คน บ้านมีสภาพชำรุดทรุดโทรม 2,601 ครัวเรือน ไม่มีส้วม 1,507 ครัวเรือน มีส้วมแต่ไม่ถูกสุขลักษณะ 3,131 ครัวเรือน บริเวณบ้านปลูกผักสวนครัว 53,225 ครัวเรือน มีการแยกขยะ 57,266 ครัวเรือน ด้านน้ำดื่ม/น้ำใช้ ไม่มีน้ำดื่ม 4,013 ครัวเรือน ไม่มีน้ำสะอาดใช้ 3,301 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบจากมลพิษ 2,703 ครัวเรือน ด้านการศึกษา เด็ก 3-5 ปีไม่ได้เข้าศูนย์เด็กเล็ก 2,685 คน เด็ก 6-14 ปีไม่ได้เรียนหนังสือ 2,892 คน จบม.3 ไม่ได้เรียนต่อ 5,003 คน มีคนในครอบครัวอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ 2,411 คน คนในครอบครัวคิดเลขอย่างง่ายไม่ได้ 2,691 คน ด้านรายได้และอาชีพ คนในครอบครัวรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 40,000 บาท/ปี 9,135 คน อายุ 15-59 ปี ไม่มีอาชีพ/รายได้ 5,348 คน อายุ 60 ปี ไม่มีอาชีพ/รายได้ 5,505 คน ไม่มีเงินออม 8,373 คน ด้านความปลอดภัย ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 1,877 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบยาเสพติด 2,072 ครัวเรือน กลุ่มเปราะบาง มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ได้รับการดูแล ช่วยเหลือ 1,570 คน มีผู้ป่วยติดเตียงไม่ได้รับการดูแล 1,505 คน มีผู้พิการไม่ได้รับความช่วยเหลือ 1,628 คน มีผู้สูงอายุไม่ได้รับความช่วยเหลือ 1,880 คน ไม่สามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลได้ 1,906 คน และปัญหาความเดือดร้อนอื่น ๆ เช่น คนในบ้านไม่มีบัตรประชาชน 460 ครัวเรือน 483 คน บ้านไม่มีเลขที่บ้าน 1,217 ครัวเรือน ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน 1,294 ครัวเรือน ไม่มีทางเข้าบ้าน 1,157 ครัวเรือน ไม่มีไฟฟ้าใช้ 1,467 ครัวเรือน ไม่มีประปาใช้ 1,869 ครัวเรือน คนในบ้านเป็นหนี้นอกระบบ 2,039 คน คนในบ้านถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศ 1,237 คน คนในบ้านถูกหลอก/โกง 1,568 คน  คนในบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม 997 คน มีที่ดินทำกิน แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 10,856 คน

      “ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ และนายอำเภอทุกอำเภอ ในการบูรณาการทุกส่วนราชการ และทุกภาคีเครือข่าย แก้ไขปัญหาความยากจนด้วยความมุ่นมั่น ทุ่มเท เพื่อให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในวันที่ 30 กันยายน 2565 นี้ ด้วยอุดมการณ์ของพวกเราทุกคนในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน ดังที่ชาวมหาดไทยได้ร่วมกันทำกันมาตลอด 130 ปี เพื่อสร้างความผาสุกให้กับประเทศชาติ พี่น้องประชาชนทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้นอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply