“สีจีวร” เรื่อง “ธรรมดา” ที่ไม่ธรรมดาในสังคมสงฆ์

       

        “สีจีวร”  ของพระสงฆ์  กำลังถูกจับตามอง ใน “มุมวงแคบ” หลังจาก “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” เจ้าคุณประยุทธ์ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเจ้าคุณพระ โดย “ห่มเหลือง” ซึ่งเป็นสีดั้งเดิมของ “คณะสงฆ์มหานิกาย”

         และเมื่อวานนี้ “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” เดินทางไปค้างคืนและพบคณะสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในฐานะ “เจ้าอาวาสรูปใหม่” โดยห่ม “จีวรสีพระราชนิยม” ก่อให้เกิดความ “หวั่นไหว” เรื่องสีจีวร ในฝั่ง “คณะสงฆ์มหานิกาย” และอาจรวม “คณะสงฆ์” ภายในวัดด้วย

            เนื่องจากวัดพระเชตุพน ฯ ,พระสุทัศน์เทพวราราม,วัดสระเกศ,วัดอรุณราชวราราม,วัดราชโอรสและรวมถึงวัดปากน้ำ ล้วนห่ม “สีเหลือง” อันเป็นสีของฝ่ายมหานิกาย  และ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ถือว่าเป็น “วัดพี่ใหญ่”  ฝั่งมหานิกาย

            จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่าการไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่อง “สีจีวร” ในวัดพระเชตุพนหรือไม่

             เรื่อง “สีจีวร” มิใช่ปัญหาเรื่องใหม่ในวงการคณะสงฆ์บ้านเรา  ตอนที่ในหลวง ร.4 เสด็จออกผนวชใหม่ ๆ ประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุ ก็ทรงห่มจีวรแบบคณะนิกายเดิม คือใช้สีเหลืองและห่มพาดมังกร ต่อมาเมื่อเสด็จไปประทับ ณ วัดราชาธิวาส ทรงทำการอุปสมบทใหม่กับพระมอญวัดลิงขบ ก็ทรงหันไปนิยมการนุ่งห่มแบบมอญ ซึ่งก็คงจะหันไปใช้สีจีวรของมอญด้วย ซึ่งสีที่ว่านี้จึงกลายเป็นสีประจำคณะธรรมยุตมาจนถึงปัจจุบันคือจีวร “สีกรัก” ซึ่งเป็นสีแก่นขนุนหรือสีน้ำตาลเข้ม ขณะที่มหานิกายจะใช้ “สีเหลืองทอง”

           เมื่อในหลวง ร.3 ทรงทราบ จึงทรงโปรดให้สมเด็จฯกรมพระยาเดชาดิศร ไปว่ากล่าวตักเตือน ว่าแต่เดิมมานั้น พระสงฆ์ไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมานิยมห่มแบบพาดมังกร แต่บัดนี้ พระสงฆ์นำโดย “พระภิกษุวชิรญาณ” ซึ่งเป็นถึงเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงสุด แต่กลับหันไปนิยมการนุ่งห่มแบบมอญ ไม่รักษาไว้ซึ่งเกียรติยศของบูรพมหากษัตริย์ ทรงโปรดให้นำผ้าไตร “สีพระไทย” ไปถวายพระภิกษุวชิรญาณ 1 ไตร โดยทรงกำชับว่า “ถ้าเธอไม่รับก็ให้นำกลับมา” พระภิกษุวชิรญาณ ได้ทราบพระปรารภ จึงรีบทำหนังสือกราบบังคมทูล “ขอพระราชทานอภัยโทษ” โดยทรงอ้างว่า เห็นแก่ทางพระวินัยสิกขา มิได้คำนึงถึงพระเกียรติยศของบ้านเมือง ครั้นทราบแล้วก็ขอหันมานุ่งห่มแบบพระสงฆ์ไทยตามเดิม

           ครั้นรัชกาลที่ 3 สิ้นพระชนม์ พระภิกษุวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ได้ลาสิกขาออกมาครองราชย์เฉลิมพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” จากนั้นก็เกิดความอึดอัดกลัดกลุ้มในกลุ่มพระภิกษุธรรมยุตวัดบวรเรื่องการห่มผ้าแบบมหานิกาย จึงทำเรื่องไปกราบบังคมทูลในหลวง ร.4 เพื่อทรงมีพระบรมวินิจฉัย ปรากฏว่า ทรงวินิจฉัยว่า “เรื่องการห่มผ้าเป็นเรื่องของพระสงฆ์ โยมเป็นฆราวาสแล้ว ไม่มีอำนาจไปก้าวก่ายได้ ให้พระสงฆ์ตัดสินใจกันเอาเอง” นั่นเองที่เป็นเหตุให้พระธรรมยุต  หันไปห่มแบบมอญนับตั้งแต่บัดนั้นมาจนบัดนี้

            ย้อนหลังไปเมื่อปี 2557 นี้ก็เกิดปัญหาเรื่อง “สีจีวร” ในคณะธรรมยุต คือ “สมเด็จพระวันรัต”เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะรักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ได้ลงนามในคำสั่ง ประกาศคณะธรรมยุต เรื่อง การครองผ้าไตร “จีวรสีพระราชนิยม” ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ในหลวงรัชกาลที่ 9)  ทรงมีพระราชศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ทรงมีพระราชดำริในการที่จะให้พระภิกษุสงฆ์ครองผ้าไตรจีวรที่มีสีเหมือนกัน เพื่อความเรียบร้อยงดงาม จึงได้ทรงนำผ้าสีต่างๆ มาถวาย และมีพระราชปุจฉากับพระมหาเถระ จนได้ผ้ามีสีที่ถูกต้องไม่ผิดพระวินัย เป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานในพระองค์จัดผ้าไตรจีวรสีตามพระราชดำริพระราชทานถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ในงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวาระต่าง ๆ ซึ่งพระภิกษุสงฆ์เมื่อรับพระราชทานถวายแล้ว ได้ครองจีวรสีดังกล่าวฉลองพระราชศรัทธามาโดยลำดับ ผ้าไตรจีวรที่พระราชทานถวายนั้น ทราบกันในนามว่า “จีวรสีพระราชนิยม”  และให้พระภิกษุสามเณรคณะธรรมยุตครองผ้าไตรจีวรสีพระราชนิยมตั้งแต่วันวิสาขบูชา 2557 ซึ่งตรงกับวันที่ 13 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

            ซึ่งเรื่องนี้ “ถูกคัดค้าน”จากคณะธรรมยุต “สายวัดป่า” โดยพระสายวัดป่า อ้างว่า..หากคำสั่งให้เปลี่ยนสีจีวรมีการบังคับใช้จริงคงเป็นเรื่องใหญ่แน่ เท่ากับทำลายล้างวงกรรมฐานเลยทีเดียว ทั้งนี้ เพราะหลักปฏิบัติของพระกรรมฐานสายวัดป่าต้องยึดถือปฏิปทาตามแนวของครูบาอาจารย์หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ที่ดำเนินมากว่า 100 ปี แต่ถ้าจะมีคำสั่งมาลบล้างปฏิปทาของครูบาอาจารย์ให้สูญสิ้นไปในยุคนี้คงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยอย่างแน่นอน เพราะการนุ่งห่มจีวรของพระกรรมฐานสายวัดป่าต้องมีสีเดียวเท่านั้นคือ “สีแก่นขนุนเข้มหรือสีกรัก”  พระสายนี้ทุกรูปจะไม่นุ่งห่มผ้าที่ผลิตจากโรงงานทุกชนิด วัดป่าสายปฏิบัติกรรมฐานทุกวัดปัจจุบันก็ต้องมีเตาต้มสีสำหรับย้อมผ้าโดยใช้แก่นขนุนของต้นแก่มาต้มเคี่ยวจนได้สีที่ต้องการ จากนั้นจึงย้อมผ้าขาวบังสุกุลให้เป็นสีแก่นขนุนแล้วนำมาตัดเย็บเป็นสบง อังสะ จีวร เพื่อนำมานุ่งห่มตามพระวินัยบัญญัติ หากจะมีคำสั่งบังคับให้ต้องนุ่งห่มสีอื่นหรือจีวรที่ผลิตจากโรงงานพระวงกรรมฐานที่สืบทอดกันมาช้านานก็ต้องหมดสิ้นไม่มีเหลือ

            “พระสายวิปัสสนากรรมฐานจะยึดพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะใครบวชก่อนหลังจะเคารพกันที่พรรษา ถึงแม้จะมีสมณศักดิ์สูงก็ต้องไหว้พระที่พรรษามากกว่า ถึงแม้จะไม่มีสมณศักดิ์ก็ตาม ขณะที่การครองจีวรก็เช่นกัน จะยึดธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดมาจากรุ่นครูบาอาจารย์ ..”

         เรื่องนี้ นายสวัสดิ์ อโณทัย คณบดีคณะปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ในยุคนั้น  กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์อยากให้ คณะสงฆ์ที่จะเข้าพระราชพิธีครองจีวรสีเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงได้มีมติมหาเถรสมาคม (มส.) ออกมาว่า เวลาพระสงฆ์ทั้ง 2 นิกายเข้าวัง ก็จะต้องครองจีวรสีพระราชนิยม เพื่อเป็นการสร้างความประนีประนอมระหว่างธรรมยุตและมหานิกาย..

           ตอนหลังเรื่องสีจีวรสมเด็จพระวันรัต “อนุโลม” ตามความสมัครใจของคณะธรรมยุต แต่ในสังคมสงฆ์รับรู้ได้ทั้งฝ่ายธรรมยุตและมหานิกายให้ยึดถือธรรมเนียมปฎิบัติ เมื่อคณะสงฆ์ร่วมงาน “พระราชพิธี” ให้ห่มครอง “จีวรสีพระราชนิยม”  เพื่อฉลองพระราชศรัทธา

         เป็นเอาว่าเรื่อง “สีจีวร”  เป็นมุมคิดเล็ก ๆ และนำมาเล่าให้ฟังว่าในอดีตก็เคยเกิดปัญหาในลักษณะแบบนี้มาแล้ว

        การเปลี่ยนแปลงใดก็ตามในวงการคณะสงฆ์เป็นเรื่องยากดัง  กิเลน ประลองเชิง” ได้นำเรื่องเล่าในจดหมายเหตุว่า ครั้งรัชกาลที่ 5 ในการสมโภชพระราชมณเฑียร 14 ส.ค.2441 มีการถวายอาหารบิณฑบาต เป็นการจัดอย่างใหม่ ให้พระสงฆ์รับพระราชทานฉันด้วยช้อนส้อม อย่างโต๊ะเลี้ยงข้าราชการ

       ขณะพระสงฆ์ฉันพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรเห็น “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” (แสง ปัญญาทีโป) วัดราชบูรณะ ใช้ผ้าพันหุ้มช้อนส้อม เพราะเข้าใจว่าเป็นเงิน

      จึงมีพระราชดำรัสว่า ไม่ต้องเอาผ้าหุ้ม ไม่ใช่เงินแท้ เพราะได้หารือ “กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส”แล้ว ไม่เป็นอาบัติ

    นี่ก็เป็นปัญหาจากความเคร่งวินัย ข้อที่ว่าพระจับเงินทองไม่ได้

    ครั้งนั้นเหมือนกัน พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นหม่อมเจ้า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด เสนีย์วงศ์)   วัดพระเชตุพนฯ ไม่ทรงจับช้อนส้อม แต่ใช้หัตถ์รับพระราชทานฉัน

   มีพระราชดำรัสว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ เห็นจะไม่เคยใช้ช้อนส้อม การเลี้ยงพระด้วยช้อนส้อมเห็นจะต้องเลิก

        ปัญหาความไม่ลงรอยระหว่างเจ้าที่พยายามปฏิรูปเรื่องการใช้ส้อม…กับพระยังมีต่อไป สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเล่าไว้ในสาส์นสมเด็จ วันที่ 6 พ.ค.2479 ว่า

      เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับจากยุโรป โปรดให้มีการเลี้ยงพระสงฆ์อย่างฝรั่ง มีพระราชาคณะที่เคร่งวินัยรูปหนึ่ง บอกให้ประเคนมีดและช้อนส้อมด้วย ท่านว่าสนิมช้อนจะติดเข้าไปกับอาหาร

      ทรงประชดพระน้ำลายของท่านที่กลืนอยู่วันยังค่ำนั้น ใครจะไปประเคนให้ได้เล่า

     เรื่องที่ผู้ใหญ่บันทึกไว้นี้ชี้ว่า รัชกาลที่ 5 ทรงจัดให้เจ้านายได้ใช้ช้อนส้อมตั้งแต่ปี 2413 ให้พระสงฆ์ฉันด้วยช้อนส้อม ปี 2441 ห่างกันถึง 28 ปี เรื่องก็ยังไม่ค่อยจะเป็นไปตามพระราชประสงค์

      เฉกเช่นเดียวกัน  เรื่อง “สีจีวร” ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและต้องค่อยเป็นค่อยไป!!

Leave a Reply