น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ “ปลัดเก่ง” ลงชายแดนใต้ เปิดงาน “”วันท้องถิ่นไทย”   ด้วยความจงรักภักดี

วันที่  18 มี.ค. 66  เวลา 08:10 น. ที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลานศิลปวัฒนธรรม ถนนสายบุรี ตำบลสะบารัง อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีถวายเครื่องราชสักการะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันท้องถิ่นไทย ประจำปี 2566 จังหวัดปัตตานี โดยมี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม นายณัฐกฤช สิทธิโอสถ นายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายไชยพร นิยมแก้ว ปลัดจังหวัดปัตตานี นายมนัส หนูรักษ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดปัตตานี นายอรรณพ คณานุรักษ์ ท้องถิ่นจังหวัดปัตตานี หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี นายนิอันนุวา สุไลมาน นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดปัตตานี ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่าย กว่า 500 คน ร่วมในพิธี

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถวายราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศใช้พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ รัตนโกสินทร์ศก 116 ขึ้น อันเป็นต้นแบบของการดำเนินงานสุขาภิบาล ครั้นเมื่อรัตนโกสินทร์ศก 123 พระองค์ได้เสด็จประพาสต้นผ่านมา ณ ตำบลท่าฉลอมครั้งหนึ่ง และตำบลมหาชัยอีกครั้งหนึ่ง ทรงเล็งเห็นถึงความพร้อมของตำบลท่าฉลอม ซึ่งถือเป็นชุมชนที่มีความเจริญมากกว่าชุมชนอื่น ๆ ตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กราบบังคมทูลพระกรุณาใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสนอ จึงทรงตัดสินพระทัยประกาศจัดตั้ง “สุขาภิบาลตำบลท่าฉลอม” ขึ้นเป็นสุขาภิบาลหัวเมืองนอกมณฑลกรุงเทพฯ แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 (รัตนโกสินทร์ศก 124) ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่า ทรงมีพระบรมราโชบายที่จะเปิดโอกาสแก่ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการบริหารราชการ ซึ่งจากผลการทดลองจัดตั้งสุขาภิบาลที่ท่าฉลอมแห่งนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการที่สมุหเทศาภิบาลหลายแห่ง ขอนำไปใช้ในพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครองของประเทศไทย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ได้ทรงวางรากฐานการพัฒนาท้องถิ่นรูปแบบการปกครองตนเอง ให้มีความมั่นคงตราบจนถึงปัจจุบันนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศมีความเจริญมั่นคง โดยมีระบบการบริหารจัดการ มีการแก้ไขปัญหา และเป็นแกนหลักในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองให้มีความเจริญก้าวหน้า ประชาชนมีความเข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งนำความภาคภูมิใจมาสู่ปวงชนชาวไทย ตราบจนถึงปัจจุบัน” ปลัด มท. กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรก ณ ตำบลท่าฉลอม อันเป็นต้นกำเนิดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบต่าง ๆ ในปัจจุบัน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา นอกจากนั้น ยังคงประกอบพระราชกรณียกิจอันใหญ่หลวงนานัปการ เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และสร้างความร่มเย็นเป็นสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ และประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์

“กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งของจังหวัดปัตตานี รวมถึงทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ขอถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ และน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมแสดงกตัญญกตเวที ถวายเครื่องราชสักการะ ด้วยเดชะและพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และอำนาจสัตยาธิษฐานของทุกภาคส่วนนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นพลังส่งเสริมให้แก่เหล่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการสร้างความเจริญก้าวหน้า ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีความอยู่ดีกินดี อันจะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศชาติสืบไปอย่างยั่งยืน” ปลัด มท. กล่าวถวายราชสดุดีในช่วงท้าย

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย อ่านสารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ความว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ 18 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันท้องถิ่นไทย”  เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอมขึ้นเป็นสุขาภิบาลท่าฉลอม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2448 ถือเป็น “ปฐมบทแห่งการปกครองท้องถิ่นไทย” และเป็นรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น นับถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 118 ปี ประเทศไทยมีจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา รวมทั้งสิ้น 7,850 แห่ง ถือเป็นหน่วยของการบริหารราชการแผ่นดินที่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน สามารถแก้ไขปัญหา และตอบสนองต่อความต้องการ ของประชาชนได้อย่างเกิดผลสัมฤทธิ์ มีผลสำเร็จในการจัดการ และการจัดบริการสาธารณะ มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาใช้ในโครงการต่าง ๆ เกิดนวัตกรรมท้องถิ่น ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชน และเครีอข่ายในพื้นที่ได้เป็นวงกว้าง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งยึดหลักธรรมาภิบาล ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ มาเป็นแนวทางในการบริหารงานท้องถิ่น มุ่งเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกกลุ่ม เน้นการบูรณาการร่วมกันกับภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคีเครีอข่ายในพื้นที่ อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อความผาสุกของพี่น้องประชาชน

“ขอขอบคุณนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกท่าน ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ผนึกกำลังบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเป็นส่วนสำคัญในระดับพื้นที่ ในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการอุปโภค บริโภคและการท่องเที่ยว เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง” ปลัด มท. กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply