จักรวรรดิเมารยะ หลังสิ้น “พระเจ้าอโศกมหาราช”

จักรวรรดิเมารยะ (Maurya Empire) ในสมัยของ พระเจ้าอโศกมหาราช (268-232 ปีก่อนคริสตกาล) ถือเป็นช่วงเวลาที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล และเรืองอำนาจที่สุด จักรวรรดิของพระองค์ครอบคลุมพื้นที่ตอนเหนือกับตอนกลางทั้งหมดของอินเดีย บริเวณบังกลาเทศ ปากีสถาน และบางส่วนของอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ส่วนทางทิศใต้แผ่ขยายลงมาจนเกือบสุดขอบอนุทวีปอินเดีย

ความนิยมทำสงครามและการประหัตประหารของพระเจ้าอโศกมหาราช มีส่วนสำคัญต่อการแผ่ขยายจักรวรรดิขนาดมหึมาที่พระองค์สืบทอดมรดกมาจาก พระเจ้าจันทรคุปต์ (Chandragupta) พระอัยกา ที่นักประวัติศาสตร์ยกย่องเป็นผู้รวบรวมแผ่นดินอินเดียให้เป็นปึกแผ่น

หากพระเจ้าจันทรคุปต์คือผู้ทำให้อินเดียเป็นปึกแผ่น พระเจ้าอโศกมหาราช ถือเป็นผู้ที่หล่อหลอมความเป็นปึกแผ่นนั้นให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทรงอำนาจมากขึ้น และแผ่ขยายอิทธิพลจากเดิมไปทั่วทุกสารทิศ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงสำคัญในสมัยของพระองค์ ที่ชาวพุทธจดจำได้ขึ้นใจ คือ บทบาทในการน้อมรับและเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วจักรวรรดิอันกว้างใหญ่ รวมถึงดินแดนห่างไกลอื่น ๆ ที่อยู่พ้นไปจากดินแดนชมพูทวีป ดังปรากฏหลักฐานเป็น “เสาอโศก”

การขุดค้นพบเสาอโศกที่เมืองสารนาถ ค.ศ. 1905

ชะตากรรมของจักรวรรดิเมารยะหลังยุค พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นอย่างไร?

กล่าวอย่างสรุป คือ ราชวงศ์เมารยะค่อย ๆ เสื่อมอำนาจลง จนสูญสิ้นความสามารถในการควบคุมดินแดนภายในพื้นที่ปกครองส่วนต่าง ๆ สุดท้ายจึงล่มสลายลงอย่างสมบูรณ์ ภายใน 50 ปี หลังสิ้นสุดสมัยของพระองค์ ไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับจักรวรรดิขนาดใหญ่นี้บ้าง…

หลังสิ้นพระเจ้าทศรถ พระเจ้าสัมปราติ (Samprati) พระราชนัดดา จากพระราชโอรสอีกพระองค์ของพระเจ้าอโศกฯ ครองราชย์ต่อ ช่วงเวลานี้เองที่จักรวรรดิเมารยะเผชิญปัญหาการแปรพักตร์ของหัวเมืองต่าง ๆ ทางใต้ ทั้งภายใต้การนำของเหล่าเจ้าชายหรือพระราชวงศ์เอง กับบรรดาเจ้าเมืองท้องถิ่น เหล่านี้กลายเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

มีจักรพรรดิราชวงศ์เมารยะครองราชย์ต่อจากพระเจ้าสัมปราติอีก 4 พระองค์ ในช่วงเวลาเพียง 31 ปี จากหลักฐานใน คัมภีร์ปุราณะ ของฮินดู เล่าว่า พระเจ้าศาลิศุกะ (Shalishuka) พระราชโอรสของพระเจ้าสัมปราติ ที่ครองราชย์ต่อจากพระราชบิดานั้นมีชื่อเสียงด้านร้าย ทั้งถูกกล่าวถึงในฐานะ “ทรราชย์” เสียเป็นหลัก ส่วนจักรพรรดิองค์ถัดมา ได้แก่ พระเจ้าเทววรมัน (Devavarman) พระเจ้าศตธันวัน (Shatadhanvan) และพระเจ้าพฤหทรถะ (Brihadratha) มักมีเรื่องวิวาทภายในราชวงศ์เกี่ยวกับตำแหน่งรัชทายาทอยู่เสมอ

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น อำนาจของราชวงศ์เมารยะค่อย ๆ เสื่อมอิทธิพลลงตามลำดับตั้งแต่สิ้นพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว เพราะเจ้าเมืองที่อยู่ใต้อาณัติต่างแยกตนเป็นอิสระ ขณะที่อำนาจส่วนกลางไม่เข้มแข็งพอจะควบคุมหรือปราบปรามได้ มีเพียงสมัยของพระเจ้าสัมปราติเท่านั้นที่มีการกำราบดินแดนทางใต้สำเร็จ แต่ก็เป็นเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ จักรวรรดิเมารยะยังเผชิญการรุกรานจากภายนอก คือดินแดนอริทางตะวันตกเฉียงเหนือ นั่นคือ อาณาจักรบาคเตรีย (Bactria) ของกษัตริย์อินโด-กรีก ผู้สืบเชื้อสายขุนศึกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์กรีกผู้พิชิตเปอร์เซีย เอเชียกลาง และบางส่วนของอินเดีย ร่วมสมัยกับ พระเจ้าจันทรคุปต์ พระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช

ชาวกรีกกลุ่มนี้เองที่สถาปนารัฐราชาธิปไตยปกครองชนพื้นเมืองบริเวณเอเชียกลาง และอยู่ประชิดจักรวรรดิเมารยะมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว โดยมีกษัตริย์องค์สำคัญคือ เมดันเดอร์ที่ 1 (Menander I) หรือ “พระเจ้ามิลินท์” องค์เดียวกับที่ปรากฏในหนังสือ มิลินทปัญหา (Milinda Panha) นั่นเอง

เมแนนเดอร์ วาดตามภาพต้นแบบ โดย ม. วรพินิต

อีกภัยคุกคามของจักรวรรดิเมารยะ คือ การขยายอำนาจของชนพวก คุชชาน (Kushan) หรือกุษาณะ อนารยชนหรือเผ่าเร่ร่อนจากเอเชียกลาง ซึ่งต่อมาสามารถสถาปนาราชวงศ์กุษาณะปกครองทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียได้สำเร็จเมื่อราว 200 ปีก่อนคริสตกาลด้วย

เฉกเช่นเดียวกับจักรวรรดิทั้งหลาย เมื่ออำนาจส่วนกลางไม่มั่นคง และต้องรับมือภัยคุกคามจากภายนอก มหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราช จึงค่อย ๆ ล่มสลาย ทั้งจากภายใน และ ภายนอก

จักรวรรดิเมารยะหมดอำนาจอย่างสมบูรณ์ในปี 185 ก่อนคริสตกาล เมื่อ พระเจ้าพฤหทรถะ จักรพรรดิเมารยะองค์สุดท้าย ถูกขุนนางฮินดูตระกูล ศุงคะ (Shunga) ภายใต้การนำของผู้บัญชาการทหารนาม ปุศยมิตรา (Pushyamrita) ร่วมกับเหล่าพราหมณ์-ปุโรหิตทั้งปวง ยึดอำนาจ และ ปลงพระชนม์พระองค์ นำไปสู่การสถาปนา ราชวงศ์ศุงคะ ปกครองอินเดียในเวลาต่อมา…

 

ที่มา https://www.silpa-mag.com /ผู้เขียน ธนกฤต ก้องเวหา

Leave a Reply