ปลัดมหาดไทย ย้ำหลักการทำงานคนมหาดไทย ต้องน้อมนำพระราชดำริ “แก้ไขในสิ่งผิด” มุ่งมั่นตั้งใจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”

วันนี้ (27 มี.ค. 67) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยได้รับเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระพิพัฒน์วชิโรภาส และพระปัญญาวชิรโมลี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม โดยมีนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ นายเชษฐา โมสิกรัตน์ นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (VCS) ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการส่วนภูมิภาค

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และประธานแม่บ้านมหาดไทย รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ที่ได้ร้อยรวมใจกันถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อันเป็นการถวายกำลังใจให้ทรงมีกำลังพระทัยและทรงพระเกษมสำราญ ซึ่งพระองค์ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้ที่เข้าเฝ้า โดยทรงชื่นชมผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี จึงขอให้พวกเราทุกคนได้น้อมนำพระราชดำรัสองค์นี้เป็นหลักชัยว่า พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ และคนมหาดไทยทุกคน ที่สำคัญทรงกล่าวถึงบทบาทการเป็นผู้นำในการดูแลบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังตรัสถึงพระราชกรณียกิจจากการทรงงานโดยตรงในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลว่าทรงได้รับความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทรงกล่าวถึงทหารที่ช่วยดูแลพี่น้องประชาชนในถิ่นทุรกันดารห่างไกล นอกจากนี้ ทรงเล่าถึงพระราชจริยวัตรในการจดบันทึกในสมุดบันทึกส่วนพระองค์ โดยทำ Checklist ว่าต้องลงพื้นที่เสด็จพระราชดำเนินไปที่ใด ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพระองค์ทรงงานหนักจนตกเย็นตกค่ำ แต่ยังมีพื้นที่อีกมากมายที่พระองค์ตั้งใจจะเสด็จพระราชดำเนินไป อันเป็นการจุดประกายการทำงานที่สำคัญที่พวกเราทุกคนควรเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทเพื่อทำให้การขับเคลื่อนงานทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ประสบความสำเร็จ และยังเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย สอดคล้องกับหลักการทำงานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตามหลักการทำงานแบบ “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด”

“”หนังสือศาสตร์พระราชา ในตำราดอยคำ” โดย รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร เป็นหนังสือที่นำเอาแนวพระราชดำริและสิ่งที่เป็นหลักการทำงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชจริยวัตรในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาในพื้นที่ราบสูง โดยหนังสือดังกล่าวได้สรุปใจความสำคัญว่า ในพื้นที่ป่าเขา พระองค์ท่านไม่รู้ว่าเขาอยู่กันอย่างไร จึงต้องเสด็จฯ ลงไปดูด้วยพระองค์เอง ซึ่งเป็นไปตามหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ก่อเกิดเป็นความรู้จากการเยี่ยมเยียนคลุกคลีตีโมงกับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งวานนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำรัสที่ทรงห่วงใยด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามโครงการพระราชดำริ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ต้องปลูกพืชที่สอดคล้องกับภูมิสังคม รวมถึงรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทั้งโปรตีนจากเนื้อปลา เป็ด ไก่ หรือไข่ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทำให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ จึงขอให้พวกเราทุกคนได้น้อมนำพระราชดำรัสไปขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในทุกพื้นที่ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของพี่น้องประชาชนคนไทย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า “การพัฒนาพื้นที่บึงสีไฟ” อำเภอเมืองพิจิตร เป็นโครงการพระราชดำริโดยแท้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการทรงมุ่งมั่น “แก้ไขในสิ่งผิด” ดังพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของบึงสีไฟ ที่เคยเป็นพื้นที่รับน้ำจำนวนมาก แต่ปัจจุบันกลับลดลง ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่โดยรอบก็ลดลง จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาบึงสีไฟ คือ การกักเก็บน้ำที่จากเดิม จำนวน 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 12 ล้านลูกบาศก์เมตร จากนั้นปรับปรุงพื้นที่โดยรอบที่รกร้างเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน เป็นที่ออกกำลังกาย ที่พักผ่อนหย่อนใจ เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้ ตลอดจนเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ในพื้นที่โดยรอบ นอกจากนี้ ยังมีถนนทางปั่นจักรยาน ความยาว 10.28 กิโลเมตร มีสนาม BMX ขนาดมาตรฐานโลก มีสนามจักยานขาไถ (Balanced Bike) ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กมีความกล้าหาญแล้วยังมีพัฒนาการร่างกายจิตใจ สมองที่ดี อีกทั้งเป็นที่อยู่ของสัตว์นานาชนิด และอนุรักษ์พันธุ์พืชเดิมในพื้นที่ เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของนกน้ำ ปลา พืชน้ำ ซึ่งเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด ช่วยกันดูแล ช่วยกันใช้และต่อยอดทำให้ดีขึ้น สามารถมาศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศ ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการพระราชดำริที่มาจากพระอัจฉริยภาพและความตั้งพระหฤทัยมั่นที่ทรงมีพระราชปณิธานมุ่งมั่นในการทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข พวกเราจึงต้องช่วยเผยแพร่พระราชเกียรติคุณให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้เป็นโครงการในพระราชดำริ ซึ่งจะต่อยอดและขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำมาขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ อาทิ คลองเปรมประชากร คลองแสนแสบ คลองเมืองเก่า คลองโอ่งอ่าง คลองแม่ข่า รวมถึงบึงสีไฟ และบึงบอระเพ็ด ซึ่งทุกจังหวัดได้ช่วยกันตรวจสอบและฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่ให้กลับมามีสภาพที่ดีและเป็นพื้นที่ของทุกคนเฉกเช่นในอดีต นอกจากนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้เป็นธุระในการจารึกเรื่องราวแนวพระราชดำริที่อยู่ในพื้นที่ของท่าน ได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาทำเพิ่มเติมพร้อมขยายผลไปในพื้นที่อื่น ๆ ให้ปรากฏชัดเจน แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อพสกนิกรไทย

การบริหารจัดการที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำนวน 77 แปลงทั่วประเทศ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีที่ดินของมูลนิธิฯ ตั้งอยู่ ได้เชิญเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด นายอำเภอ ธนารักษ์พื้นที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้ง ร่วมพูดคุยปรึกษาหารือและดำเนินการ เช่น การจัดทำทำป้าย รั้ว หลักหมุดอาณาเขตหรือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงเขตที่ดิน การบริหารจัดการให้พื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้น โดยนำแนวทางการบูรณาการต่อยอดการพัฒนาพื้นที่บึงสีไฟ และการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่ให้มีอรรถประโยชน์สูงสุดเข้าด้วยกัน เพื่อสนองพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” และขอให้ช่วยกันดูแลพื้นที่สาธารณะ ด้วยการสำรวจ ตรวจสอบ ระดมสมอง ทำให้พื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่องค์กรการกุศล ตลอดจนพื้นที่ของส่วนราชการ เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน เพื่อสร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ ในการจัดฝึกอบรมวิทยากรผู้บอกเล่าประวัติศาตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นที่กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกันขับเคลื่อนร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยปัจจุบันได้ดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว จำนวน 12 รุ่น จากทั้งหมด 18 รุ่น จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญกับครูวิทยากรทุกคนที่ผ่านการอบรม ด้วยการวางแผน กำหนดแนวทางการขับเคลื่อน ด้วยการพูดคุยหารือ และเดินหน้าทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง พร้อมทั้งขยายผลให้ “ครู ก” ไปสร้าง “ครู ข” เพื่อทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทำให้คนในชาติได้สำนึกรักและหวงแหนแผ่นดินไทย นอกจากนี้ ในด้านสิ่งแวดล้อม ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำให้ทุกครัวเรือนมีการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง พร้อมทั้งปลุกระดมสร้างแรงจูงใจนำเอาความสำเร็จของธนาคารขยะไปขยายผลให้ครบทุกหมู่บ้าน เกิดผลเชิงคุณภาพ สิ่งสำคัญคือจำนวนสมาชิกครัวเรือนที่ทั่วประเทศมีมากกว่า 14 ล้านครัวเรือนจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกสวัสดิการชุมชน ซึ่งความสำเร็จที่เราภาคภูมิใจ คือ ปัจจุบันทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีธนาคารขยะครบทุกแห่งทั่วประเทศ โดยมี อปท. ทั้งสิ้น 7773 แห่ง และมีธนาคารขยะ รวม 14,658 แห่ง

“ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยกันดูแลวางแผนขับเคลื่อนโครการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ตลอดจนขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ในการการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ การดำเนินการสำรวจครัวเรือนเป้าหมายจากระบบ ThaiQM อย่างเอาใจใส่ในทุกเรื่อง ซึ่งการจะทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน ต้องทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” โดยการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้รักสามัคคี มีจิตอาสา รวมกลุ่มเป็นกลุ่มบ้าน คุ้ม ป๊อก หย่อม ทำให้เกิดความเข้มแข็ง สร้างความมั่นคงด้านอาหาร สร้างความมั่นคงที่อยู่อาศัย สืบสานรักษาประเพณีวัฒนธรรม ทั้งหมดมีเป้าหมายเดียวกันในการตอบสนองตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้งการมีแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคภายในชุมชน มีภาคีเครือข่ายหรือ Partnership ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ที่ต้องเป็นผู้นำไปช่วยสร้างทีมจังหวัด อำเภอ ตำบล บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนร่วมกับภาคีเครือข่าย และติดตามการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้เป้าหมาย “ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน” เกิดผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply