เศรษฐินีใจบุญมอบที่ดินสร้างวัดสังกัดคณะสงฆ์ “อนัมนิกาย”

            วันนี้ (1 มีนาคม 2564) พระดร.พิสิษฐ์ เถี่ยนบ๊าว หรือ พระครูองพจนกรโกศล เจ้าอาวาสวัดธรรมปัญญารามบางม่วง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ประธานมูลนิธิพระยูไลไภษัชย์สงเคราะห์ ได้เปิดเผยว่า   คุณแม่งามศรี สุขุมพัฒน์ ได้มอบถวายที่ดินพร้อมที่พักและสวนเกษตรจำนวน 35 ไร่ ให้กับ พระครูองพจนกรโกศล เจ้าอาวาสวัดธรรมปัญญารามบางม่วง เพื่อดำเนินการสร้างวัดในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน สังกัดอนัมนิกาย ประจำจังหวัดเลย วันนี้ได้ดำเนินการเรียบร้อยด้วยดี

          โดยได้ใช้ชื่อวัดตามความประสงค์ของเจ้าภาพ คือ วัดอนัมงามศรีสุขุมพัฒน์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย

            สำหรับความเป็นมาของพระอนัมนิกาย (พระญวน) มีพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ บันทึกไว้ดังนี้

           เรื่องที่พวกญวนมาอยู่ในประเทศสยามนี้ จะเป็นมาอย่างไรในสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีข้าพเจ้ายังไม่ได้สืบสวนขึ้นไปถึง เคยสืบแต่เรื่องพงศาวดารของพวกญวนที่อยู่ใน กรุงเทพมหานคร นี้ ได้ความว่าเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๑๖ เกิดกบฏขึ้นที่เมืองเว้อันเป็นราชธานีของประเทศญวน พวกกบฏชิงเมืองได้เมืองแล้วฆ่าฟันเจ้านายเสียเป็นอันมาก พวกราชวงศ์ญวนที่รอดอยู่ได้พากันหนีพวกกบฏลงมาทางเมืองไซ่ง่อนหลายองค์ องเชียงซุนราชบุตรที่ ๔ ของเจ้าเมืองเว้มาอาศัยอยู่ที่เมืองฮาเตียน ซึ่งต่อแดนเขมรมณฑลบันทายมาศของเขมร พวกกบฏยกกองทัพมาติดตาม เจ้าเมืองฮาเตียนเห็นเหลือกําลังที่จะต่อสู้ ก็อพยพครอบครัวพาองเชียงซุนเข้ามายังกรุงธนบุรี เมื่อราวปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับไว้แล้วพระราชทานที่ให้ญวนพวกองเชียงซุน ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกพระนครทางฝั่งตะวันออก คือตรงที่แถวถนนพาหุรัดทุกวันนี้ จึงเรียกกันว่าบ้านญวนมาจนสร้างถนนพาหุรัด อยู่มาองเชียงซุนพยายามจะหนี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตเสีย๑ พวกองเชียงซุนเป็นญวนพวกแรกที่อพยพเข้ามาตั้งภูมิลําเนาอยู่ในประเทศนี้ เมื่อภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึกแล้ว

       ต่อมาถึงชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อรัชกาลที่ ๑ มีราชนัดดาของเจ้าเมืองเว้อีกองค์หนึ่งชื่อองเชียงสือ เดิมหนีพวกกบฏมาอาศัยอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน พวกญวนที่เมืองไซ่ง่อนนับถือถึงยกย่องให้ครองเมืองแต่รักษาเมืองต่อสู้ศัตรูไม่ไหว จึงหนีมาอาศัยอยู่ที่เกาะกระบือในแดนเขมร พระยาชลบุรีคุมเรือรบไทยไปลาดตระเวนทางทะเล ไปพบองเชียงสือ ๆ จึงพาครอบครัวโดยสารเรือพระยาชลบุรีเข้ามาขอพึ่งพระบารมีอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖ อันเป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณารับทํานุบํารุงและพระราชทานที่ให้ ญวนพวกองเชียงสือตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่นํ้าฝั่งตะวันออกที่ตําบลคอกกระบือ คือตรงที่ตั้งสถานทูตโปรตุเกสทุกวันนี้ พวกญวนที่นับถือองเชียงสือมีมาก ครั้นรู้ว่าองเชียงสือได้มาพึ่งพระบารมีเป็นหลักแหล่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ก็พากันอพยพครอบครัวติดตามเข้ามาอีกเน่ือง ๆ จํานวนญวนที่เข้ามาในคราวองเชียงสือเห็นจะมากด้วยกัน จึงปรากฏว่าองเชียงสือได้ควบคุมพวกญวนไปตามเสด็จในการทําสงครามกับพม่าหลายครั้ง องเชียงสืออยู่ในกรุงเทพมหานคร ๔ ปี ครั้นถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙ องเชียงสือเขียนหนังสือทูลลาวางไว้ที่ที่บูชาแล้วลอบลงเรือหนีไปกับคนสนิท เนื้อความในหนังสือนั้นว่า ตั้งแต่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมทํานุบํารุงเป็นอเนกประการ ถึงให้กองทัพไทยไปช่วยตีเมืองไซ่ง่อนพระราชทานก็ครั้งหนึ่ง แต่การยังไม่สําเร็จเพราะกรุงเทพมหานครติดทําสงครามอยู่กับพม่า จะรอต่อไปก็เกรงว่าพรรคพวกทางเมืองญวนจะรวนเรไปเสีย ครั้นจะกราบถวายบังคมลาโดยเปิดเผยก็เกรงจะมีเหตุขัดข้องจึงได้หนีไป เพื่อจะไปคิดอ่านตีเอาเมืองไซ่ง่อนคืน ถ้าขัดข้องประการใดขอพระบารมีเป็นที่พึ่งทรงอุดหนุนด้วย เมื่อได้เมืองแล้วจะมาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาสืบไป องเชียงสือหนีไปพักอยู่ที่เกาะกูด เมื่อข่าวที่องเชียงสือหนีทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไม่ทรงถือโทษ แต่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงขัดเคืององเชียงสือ ในครั้งนั้นจึงโปรดให้ญวนพวกองเชียงสือย้ายขึ้นไปตั้งบ้านเรือนอยู่เสียที่บางโพ ยังมีเชื้อสายสืบมาจนทุกวันนี้มีพวกญวนที่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยภายหลังครั้งองเชียงสือมาเมื่อในรัชกาลที่ ๓ อีก ๓ คราว คือ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๗๗ พระเจ้าแผ่นดินญวนมินมางประกาศห้ามมิให้พวกญวนถือศาสนาคริสตัง และจับพวกญวนที่เข้ารีตทําโทษต่าง ๆ จึงมีพวกญวนเข้ารีตอพยพครอบครัวหนีภัยเข้ามาพึ่งพระบารมีอยู่ในประเทศนี้ มาอยู่ที่เมืองจันทบุรีโดยมาก ที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานครก็เห็นจะมีบ้าง ชะรอยจะมาอยู่ที่บ้านโปรตุเกสเข้ารีตซึ่งอพยพเข้ามาจากเมืองเขมร และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานที่ให้อยู่ที่สามเสนนั้น ภายหลังจึงโปรดให้ญวนเข้ารีตไปอยู่ที่ตําบลนั้นต่อมาอีก ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า

       ญวนอพยพมาอีกคราวหนึ่งเมื่อครั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ไปตีเมืองญวนเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ ได้ครัวญวนส่งเข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อปลายปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๗๗ ครัวญวนที่เข้ามาคราวนี้เป็น ๒ พวก คือเป็นพวกถือพระพุทธศาสนา พวกหนึ่ง เป็นพวกถือศาสนาคริสตังพวกหนึ่ง พวกญวนที่ถือพระพุทธศาสนานั้นโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี สําหรับรักษาป้อมเมืองใหม่ซึ่งทรงสร้างขึ้นที่ปากแพรก แต่พวกญวนที่ถือศาสนาคริสตังนั้นเห็นจะเป็นเพราะมีญวนเข้ารีตอยู่ที่สามเสนมาแต่ก่อนบ้างแล้ว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตําบลสามเสนในกรุงเทพมหานคร ติดต่อกับบ้านพวกคริสตังเชื้อโปรตุเกส ซึ่งอพยพเข้ามาจากเมืองเขมร และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขึ้นอยู่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดํารงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงฝึกหัดเป็นทหารปืนใหญ่

       ญวน ๒ พวกที่กล่าวมานี้ ถึงรัชกาลที่ ๔ พวกญวนคริสตังย้ายสังกัดไปเป็นทหารปืนใหญ่ฝ่ายพระบวรราชวัง (คือญวนพวกพระยาบันฤาสิงหนาท) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบว่าพวกญวนที่อยู่เมืองกาญจนบุรีโดยมากอยากจะมาอยู่ในกรุงเทพมหานครเหมือนกับญวนพวกอื่น จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขุดใหม่นั้น แล้วให้จัดเป็นทหารปืนใหญ่ฝ่ายวังหลวงสืบมา ที่เมืองกาญจนบุรี ยังมีวัดญวนและมีชื่อตําบล เช่นเรียกว่า “ชุกยายญวน” ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ เชื้อสายพวกญวนที่ไม่อพยพเข้ามากรุงเทพมหานครยังคงอยู่ที่เมืองกาญจนบุรีก็เห็นจะมีบ้าง

       ครัวญวนที่อพยพเข้ามาครั้งหลังในรัชกาลที่ ๓ นั้น มาเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๘๓ มีเรื่องปรากฏในจดหมายเหตุว่า เวลานั้นกองทัพไทยกับเขมรกําลังรบพุ่งขับไล่กองทัพญวนที่เข้ามาตั้งอยู่ในแดนเขมร กองทัพญวนถูกล้อมอยู่หลายแห่ง เผอิญเกิดความไข้ขึ้นในค่ายญวน พวกญวนหนีความไข้ออกมาหาเขมรประมาณ ๑,๐๐๐ คนเศษ เจ้าพระยาบดินทรเดชาบอกส่งเข้ามากรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ญวนพวกนี้ไปที่บางโพกับเชื้อสายญวนพวกองเชียงสือ

       พวกญวนที่มาอยู่ในประเทศสยาม มีทั้งที่ถือพระพุทธศาสนาและที่ถือศาสนาคริสตัง พวกญวนที่ถือพระพุทธศาสนา มาตั้งภูมิลำเนาอยู่แห่งใดก็นิมนต์พระญวนมาสร้างวัดเป็นที่บําเพ็ญการกุศลของพวกญวนซึ่งอยู่ ณ ที่แห่งนั้น พวกญวนที่ถือศาสนาคริสตังได้อาศัยฝรั่งบาทหลวงเป็นผู้ควบคุมแต่ครั้งยังอยู่ในเมืองเขมร เมื่อมาอยู่ในประเทศสยามนี้ พวกฝรั่งบาทหลวงก็สร้างวัดและดูแลควบคุมพวกญวนคริสตังทํานองเดียวกัน จะกล่าวในตํานานนี้แต่ด้วยเรื่องวัดญวนและพระญวนในพระพุทธศาสนา

       ในบรรดาศาสนาไม่เลือกว่าศาสนาใด เมื่อท่านผู้ตั้งศาสนาล่วงลับไปแล้ว นานมาผู้ที่เลื่อมใสศาสนานั้นก็เกิดถือลัทธิต่างกัน เช่นศาสนาคริสตังก็เกิดถือต่างกันเป็นลัทธิคริสต์ ลัทธิโรมันคาทอลิกและลัทธิโปรเตสแตนต์ ศาสนาอิสลามก็เกิดถือต่างกันเป็นลัทธิสุหนี่และลัทธิเซียะ (คือแขกเจ้าเซ็น) พระพุทธศาสนาก็เกิดถือต่างกันเป็น ๒ ลิทธิมาตั้งแต่ชาวอินเดียยังถือพระพุทธศาสนากันอยู่แพร่หลาย ลัทธิเก่าซึ่งเกิดขึ้นมคธราฐทางใต้ ได้นามว่า ลัทธิ “หินยาน” ลัทธิใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในคันธารราฐทางฝ่ายเหนือ ได้นามว่า ลัทธิ “มหายาน” เมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายไปยังนานาประเทศ พวกชาวอินเดียที่ถือลัทธิหินยาน เชิญพระพุทธศาสนามาทางทะเลเที่ยวสั่งสอนในลังกาทวีป และประเทศพม่า มอญ ไทย เขมร จึงถือพระพุทธศาสนาตามลัทธิหินยานมาจนทุกวันนี้ พวกชาวอินเดียที่ถือลัทธิมหายานเชิญพระพุทธศาสนาไปทางบก เที่ยวสั่งสอนในประเทศทิเบต ประเทศอาเซียนตอนกลางตลอดไปจนประเทศจีนและญี่ปุ่น ประเทศญวนรับลัทธิพระพุทธศาสนาอย่างมหายานมาจากจีน พวกญวนจึงบวชเรียนและประพฤติกิจในศาสนาผิดกับไทย เพราะฉะนั้นเมื่อพวกญวนมา สร้างวัดและมีพระญวนขึ้นในประเทศนี้ ชั้นเดิมก็มีผู้นับถือและอุดหนุนแต่พวกญวน แต่ในสมัยนั้นยังไม่มีวัดพระจีนในประเทศนี้ พวกจีนก็มักไปทําบุญที่วัดญวนด้วยเพราะลัทธิศาสนาของญวนกับจีนเหมือนกัน และทําพิธีต่าง ๆ เช่น กงเต๊ก เป็นต้น อย่างเดียวกัน ส่วนไทยแม้ไม่สู้นับถือก็ไม่เกลียดชังพวกญวน เพราะเห็นว่านับถือพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน

       วัดญวนที่มาสร้างขึ้นในประเทศนี้ ก็อนุโลมตามเรื่องที่พวกญวนเข้ามาอยู่ในประเทศสยาม คือ ญวนพวกที่มากับองเชียงซุนครั้งกรุงธนบุรีมาสร้างวัดขึ้นที่บ้านหม้อ ๒ วัด คือ
๑.วัดกามโล่ตื่อ (วัดทิพยวารีวิหาร)๒ ยังอยู่ที่หลังตลาดบ้านหม้อ ในพระนคร แต่ปัจจุบันเป็นวัดในการปกครองของคณะสงฆ์จีนนิกาย
๒. วัดโห่ยคั้นตื่อ (วัดมงคลสมาคม) เดิมอยู่ที่บ้านญวนข้างหลังวังบูรพาภิรมย์ ครั้นจะตัดถนนพาหุรัดวัดนั้นก็กีดแนวถนน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทําผาติกรรมอย่างวัดไทย คือพระราชทานที่ดินและให้สร้างวัดขึ้นใหม่แลกวัดเดิม ย้ายไปตั้งที่ริมถนนแปลงนามในอําเภอสัมพันธวงศ์ญวนพวกที่มากับองเชียงสือเมื่อรัชกาลที่ ๑ สร้างวัดญวน ๒ วัด คือ
๓. วัดคั้นเยิงตื่อ (วัดอุภัยราชบํารุง) ที่หลังตลาดน้อย (ริมถนนเจริญกรุง) ในอําเภอสัมพันธวงศ์
๔. วัดกว๋างเพื้อกตื่อ (วัดอนัมนิกายาราม) ที่บางโพ เรียกกันเป็นสามัญว่า วัดญวนบางโพ

       ญวนพวกที่มาเมื่อรัชกาลที่ ๓ สร้างวัดญวน ๓ วัด คือ
๕. วัดคั้นถ่อตื่อ (วัดถาวรวราราม) อยู่ที่เมืองกาญจนบุรี เมื่อญวนพวกนั้นย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานคร มาสร้างอีกวัดหนึ่ง คือ
๖. วัดกั๋นเพื้อกตื่อ (วัดสมณานัมบริหาร) อยู่ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ในอําเภอดุสิต
๗. วัดเพื้อกเดี้ยนตื่อ (วัดเขตร์นาบุญญาราม) อยู่ที่เมืองจันทบุรี
       มีวัดญวนซึ่งพวกญวนและพวกจีนช่วยกันสร้างขึ้นภายหลังมาอีก ๔ วัด คือ
๘. วัดโผเพื้อกตื่อ (วัดกุศลสมาคร) อยู่ในอําเภอสัมพันธวงศ์ ใกล้ถนนราชวงศ์
๙. วัดตี๊หง่านตื่อ (วัดชัยภูมิการาม) อยู่ในอําเภอสัมพันธวงศ์ ที่ตรอกเจ๊สัวเนียม
๑๐. วัดเบี๋ยนเพื้อกตื่อ (วัดบําเพ็ญจีนพรต) อยู่ในอําเภอสัมพันธวงศ์ ใกล้ถนนเยาวราช ปัจจุบันเป็นวัดในปกครองของคณะสงฆ์จีนนิกาย
๑๑. วัดตื่อเต๊ตื่อ (วัดโลกานุเคราะห์) อยู่ในอําเภอสัมพันธวงศ์ ซอยผลิตผล ถนนราชวงศ์
๑๒. วัดคั้นถ่อตื่อ (วัดถาวรวราราม) อยู่ในอําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑

       พระญวนในประเทศสยาม ชั้นแรกก็คงบวชเรียนมาจากเมืองญวน แต่เห็นจะมีเช่นนั้นเพียงในรัชกาลที่ ๑ ต่อนั้นมาเมืองญวนกับไทยเกิดเป็นอริกันมาตลอดรัชกาลที่ ๒ และ รัชกาลที่ ๓ ชาวประเทศทั้งสองฝ่ายมิได้ไปมาหากันอย่างปกติ พระญวนในประเทศนี้ก็มีแต่บวชเรียนในประเทศนี้เอง แต่ยังมีที่เป็นญวนนอกลงมาเพียงพระครูคณานัมสมณาจารย์ (ฮึง) และพระครูคณานัมสมณาจารย์ (กร่าม) ท่านทั้งสองนี้เมื่อยังเป็นเด็กตามบิดามารดาเข้ามาในรัชกาลที่ ๓ แล้วมาบวชในกรุงเทพมหานครนี้ ชั้นต่อมาเป็นญวนเกิดและบวชในประเทศนี้ทั้งนั้น ถึงรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ เมืองญวนกับไทยมิได้เป็นอริกัน ปรากฏว่ามีพระญวนในประเทศนี้ได้พยายามไปสืบศาสนาในเมืองญวน แต่การที่ไปไม่สะดวกด้วย เมืองญวนตกอยู่ในอํานาจฝรั่งเศส พระญวนในประเทศสยามกับพระญวนในประเทศญวนก็มิได้ติดต่อกัน ต่างฝ่ายต่างก็ถือคติตามประเทศที่ตนอยู่ พระญวนที่มาอยู่ในประเทศสยามมาแก้ไขคติหันมาตามพระสงฆ์ไทยหลายอย่าง เป็นต้นว่ามาถือสิกขาบทวิกาลโภชน์ไม่กินข้าวเย็น ครองผ้าสีเหลืองแต่สีเดียว ไม่ใช้ต่างสี ไม่ใส่เกือกและถุงตีนเหมือนเช่นพระในเมืองจีนเมืองญวน แต่ส่วนข้อวัตรปฏิบัติอย่างอื่นตลอดจนเป็นกิจพิธี คงทําตามแบบในเมืองญวนมาจนในรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีสมณฐานันดรศักดิ์ และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นิมนต์มาทําพิธีกงเต๊กเป็นการหลวงบ่อย ๆ จึงแก้ไขเพิ่มเติมกิจพิธีคล้ายกับพระไทยยิ่งขึ้นอีกหลายอย่าง

       มูลเหตุที่พระญวนจะได้รับความยกย่องในราชการนั้น ได้ยินเล่ากันมาว่าเมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ ใคร่จะทรงทราบ ลัทธิของพระญวน จึงทรงสอบถามองฮึง (ซึ่งได้เป็นพระครูคณานัมสมณาจารย์องค์แรกเมื่อรัชกาลที่ ๕) จึงได้ทรงคุ้นเคยชอบพระราชอัธยาศัยมาแต่ครั้งนั้น ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว องฮึงได้เป็นอธิการวัดญวนที่ตลาดน้อย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมช่วยปฏิสังขรณ์ (ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงช่วยอีก จึงเป็นเหตุให้พระราชทานนามวัดนี้ว่า วัดอุภัยราชบํารุง) พระญวนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าแหนได้ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ข้อนี้พึงเห็นได้ในงานเฉลิมพระชันษา พระญวนยังเข้าไปถวายธูปเทียนและกิมฮวยอั้งติ๋วอยู่ทุกปีจนบัดนี้ ส่วนพิธีกงเต๊กที่ได้ทําเป็นงานหลวงนั้น ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทําเป็นครั้งแรกเมื่องานพระศพสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ ต่อนั้นมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทําพิธีกงเต๊กที่ในพระบวรราชวังอีกครั้งหนึ่ง ต่อนั้นถึงงานพระศพกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศก็โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพิธีกงเต๊ก การพิธีกงเต๊กจึงได้เข้าในระเบียบงานพระศพซึ่งเป็นการใหญ่ถึงรัชกาลที่ ๕ ทําพิธีกงเต๊กในงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก ต่อนั้นก็มาทําในงานพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๒๓ และงานพระศพอื่นซึ่งเป็นงานใหญ่เป็นประเพณีสืบมา

 

       แต่การกงเต๊กที่ทําเมื่อครั้งพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์นั้น เป็นต้นประเพณีที่เกิดขึ้น และมีสืบมาจนทุกวันนี้ ๒ อย่าง คือ อย่างที่ ๑ วิธีทําบุญหน้าศพ ตามประเพณีจีนและญวนนั้น ญาติวงศ์ผู้มรณภาพย่อมทําบุญหน้าศพทุก  ๆ วันนับตั้งแต่วันมรณะไปจนครบ ๗ วัน เมื่อครบ ๗ วันแล้วแต่นั้น ทําบุญ ๗ วันครั้งหนึ่ง ไปอีก ๗ ครั้งครบ ๕๐ วัน แล้วหยุดงานพิธีไปจนถึง ๑๐๐ วัน (สันนิษฐานว่าเมื่อจะฝังหรือเผาศพ) ทําพิธีเป็นการใหญ่ครั้งสุดท้าย พิธีกงเต๊กในงานพระศพก็ทําเช่นนั้น เป็นต้นแบบที่ทําบุญหน้าศพซึ่งเรียกว่า สัตตมวาร ปัญญาสมวาร และสตมาหะ ที่ทํากันอยู่ด้วยไม่เกี่ยวข้องแก่กงเต๊ก จนทุกวันนี้ อีกอย่างหนึ่งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภถึงความภักดีของพระญวนและพระจีนที่มาทําพิธีถวายในครั้งนั้น ทรงพระราชดําริว่าพวกญวนทั้งพระและคฤหัสถ์ ซึ่งมีอยู่ในพระราชอาณาเขตในเวลานั้น ตกมาถึงชั้นนั้นเป็นญวนเกิดในพระราชอาณาเขต เป็นแต่เชื้อสายญวนที่เข้ามาแต่เมืองญวน เช่นเดียวกับพวกมอญ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งพระสงฆ์มอญให้มีสมณศักดิ์เหมือนอย่างพระสงฆ์ไทยฉันใด สมควรจะทรงตั้งพระสงฆ์ญวนให้มีสมณศักดิ์ขึ้นบ้าง แต่พระสงฆ์ญวนถือลัทธิมหายานจะเข้าทํากิจพิธีร่วมกับพระสงฆ์ไทยไม่ได้เหมือนอย่างพระมอญ จึงทรงพระราชดําริให้มีทําเนียบสมณศักดิ์สําหรับพระญวนขึ้นต่างหาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีสมณศักดิ์สําหรับพระจีนด้วยในคราวเดียวกัน และทรงเลือกสรรพระญวนที่เป็นคณาจารย์ตั้งเป็นตําแหน่งพระครู พระปลัด รองปลัด (เทียบด้วยสมุห์) ผู้ช่วย (เทียบด้วยใบฎีกา) ส่วนพระจีนนั้นหัวหน้าเป็นตําแหน่งพระอาจารย์ (เทียบด้วยพระครูวิปัสสนา) และมีฐานานุกรมเป็นปลัดและรองปลัดเช่นเดียวกันกับพระญวน พระราชทานสัญญาบัตร มีราชทินนามกับพัดยศซึ่งจําลองแบบพัดพระไทย แต่ทำให้ขนาดย่อมลง

       ตั้งแต่พระญวนได้สมณฐานันดรศักดิ์ และได้รับนิมนต์เข้ารับปัจจัยทานในงานพิธีหลวงดังกล่าวมา คณาจารย์ที่เป็นผู้ใหญ่ก็คิดระเบียบการพิธีเพิ่มเติมคล้ายกับพระสงฆ์ไทยขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น สวดมาติกา สวดสดับปกรณ์ และสวดอนุโมทนายถาสัพพี เป็นต้น ตลอดจนพิธีกาลทาน เช่น กรานกฐิน เป็นแต่สวดในภาษาญวน เรื่องนี้พระญวนชี้แจงว่า ในคัมภีร์ญวนก็มีทั้ง ๓ ปิฎก เหมือนกับคัมภีร์ของพระไทย เป็นแต่พระสงฆ์ในเมืองญวน เมืองจีน เลือกประพฤติแต่คติที่เหมาะแก่ภูมิประเทศ ครั้นมาอยู่ในประเทศสยามนี้ เมื่อเห็นสมควรจะมีกิจพิธีเพิ่มเติมขึ้นก็ไปค้นเอามาจากคัมภีร์ของญวนหาได้มาคิดขึ้นใหม่ไม่ แต่มีพระญวนบางองค์ได้พยายามศึกษาพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ไทย เช่น พระครูคณานัมสมณาจารย์ (หลับ) วัดสมณานัมบริหาร ซึ่งยกย่องเกียรติคุณกันมาแต่ก่อนว่าเป็นผู้ประพฤติเคร่งครัด ก็ปรากฏว่าได้ไปศึกษาพระวินัยต่อสมเด็จพระวันรัต (ทัย) วัดโสมนัสวิหาร ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันกับวัดสมณานัมบริหาร ความข้อนี้ยังมีสืบมาเหมือนอย่างพระครูคณานัมสมณาจารย์ (บี๊) ที่ถึงมรณภาพนี้เป็นผู้คุ้นเคยกับข้าพเจ้ามาก ได้สนทนากันถึงเรื่องพระธรรมวินัย ข้าพเจ้าก็สังเกตเห็นว่าได้ศึกษามากทั้งพระธรรมวินัยตามลัทธิญวนและลัทธิไทย ทั้งตั้งใจปฏิบัติกิจในศาสนาโดยซื่อ จึงเป็นผู้ซึ่งข้าพเจ้านับถือตั้งแต่ได้คุ้นเคยกันมาจนตลอดอายุของท่าน

////////////////////////////////

ขอบคุณ เวปไซต์.https://www.anamnikayathai.com/
เพจสียงธรรมส่องโลก

Leave a Reply