ชาวอุดรธานีร้อยรวมพลังร่วมพิธีบวงสรวงกี่ทอผ้า ถวายความจงรักภักดี “พระองค์หญิง”

ชาวอุดรธานีร้อยรวมพลังถวายความจงรักภักดี “พระองค์หญิง” ในพิธีบวงสรวงกี่ทอผ้า เพื่อทอผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ผืนยาวที่สุดในโลก เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา 8 มกราคม 2566

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 เวลา 08:39 น. ที่ศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ต.หนองนาคำ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานในพิธีบวงสรวงกี่ทอผ้าเพื่อทอผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ย้อมด้วยดอกบัวแดง 228,200 ดอก ความยาว 1,139 เมตร เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา 8 มกราคม 2566 โดยมี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นางนงรัตน์ คงเกษม ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุดรธานี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม นางจิรวรรณ เพ็ญพาส นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ นางวรสุดา รัตนสุคนธ์ อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย นางสุจิตรา ศรีนาม นางนฤมล ล้อมทอง ที่ปรึกษานายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ร่วมในพิธี โดยมี นายอภิชาติ พลบัวไข ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 18 บ้านโนนกอก ต.หนองนาคำ ประธานกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก และสมาชิกกลุ่ม ร่วมให้การต้อนรับและประกอบพิธี

โอกาสนี้ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เปิดกรวยกระทงดอกไม้ถวายราชสักการะหน้าพระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา แล้วจุดเทียนมงคล คล้องมาลัยเสากี่ทอผ้าทั้ง 4 ต้น และกระทบเส้นด้ายเส้นแรกที่กี่ทอผ้าเป็นปฐมฤกษ์

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของพวกเราคนไทยทุกคนที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตั้งพระปณิธานที่แน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านศิลปาชีพที่พระองค์ท่านได้โดยเสด็จตามสมเด็จย่าของพระองค์เยี่ยมเยียนราษฎรและทรงเรียนรู้ซึมซับพระราชกรณียกิจมาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ในทั่วทุกภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ทำให้ทรงรับรู้ความสำคัญของการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างสรรค์และสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องจากอดีตสู่ปัจจุบัน และทรงรับงานศิลปาชีพในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงมาเป็นพระราชภาระเพื่อทรงสืบสานพระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งนี้

“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงนำประสบการณ์ส่วนพระองค์ทั้งจากการทรงงานและทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมืองมาพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้ทันสมัย เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังคงไว้ซึ่งลวดลายของผืนผ้าที่สื่อถึงความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค ด้วยพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบที่นำสมัยจึงทรงนำมาประยุกต์ปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัยได้อย่างสวยงาม สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับช่างทอผ้าทุกท้องถิ่น ท้องที่ ผ่านโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และพระราชทานลายผ้า เช่น ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายขิดนารีรัตน์ราชกัญญา ลายท้องทะเลไทย ลายป่าแดนใต้ เป็นต้น นอกจากนี้ พระองค์ทรงมีพระดำริในการส่งเสริมองค์ความรู้ทางวิชาการ โดยทรงเป็นบรรณาธิการหนังสือ “Thai Textiles Trend Book” ทรงรวบรวมทฤษฎีแฟชั่นสมัยใหม่ มาประยุกต์เข้ากับวิถีชีวิตและอาชีพทอผ้าของคนไทย และยังทรงเน้นย้ำในเรื่องของความยั่งยืน ด้วยการทรงส่งเสริมให้ช่างทอผ้าได้ย้อมสีผ้าด้วยสีธรรมชาติ และปลูกต้นไม้ทดแทนบรรดาพันธุ์ไม้ที่นำไปย้อมสี เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาชาญ ที่ทำให้พี่น้องช่างทอผ้าทุกคนลืมตาอ้าปาก ทำให้กี่ทุกกี่ได้มีลมหายใจ และมีเสียงกระทบอีกครั้งหนึ่ง และส่งต่อไปสู่คนรุ่นต่อไป อันนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน” ดร.วันดีฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายอภิชาติ พลบัวไข ประธานกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก กล่าวว่า เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีต่อช่างทอผ้าท้องถิ่นทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการตื่นตัวในการทอผ้าและพัฒนาฝีมือสร้างสิ่งใหม่เข้าสู่ตลาดและยังแสดงให้เห็นถึงฝีมือของผู้ทอที่มีความแตกต่างหลากหลายในเทคนิคที่ผสมผสาน นำมาซึ่งรายได้ของกลุ่มที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอกจึงได้จัดทำ “โครงการทอผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ย้อมด้วยดอกบัวแดง 228,200 ดอก ความยาว 1,139 เมตร เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา 8 มกราคม 2566” ขึ้น โดยผ้ามัดหมี่ที่ทอในครั้งนี้เกิดจากการร้อยรวมพลังด้วยการอาศัยช่างทอที่ต้องมีฝีมือและมีความอดทนร่วมไม้ร่วมมือกันทอผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ที่ยาวที่สุดในโลก เพื่อที่จะเฉลิมพระเกียรติ “พระองค์หญิง” ซึ่งเป็นผืนผ้าที่เป็นความภาคภูมิใจของพี่น้องชาวบ้านโนนกอกตลอดจนจังหวัดอุดรธานี

“ถ้าไม่มีโครงการพระดำริของพระองค์หญิงที่พระราชทานให้กับช่างทอผ้ามาในช่วงวิกฤตโควิด-19 ช่างทอผ้าก็จะไม่สามารถดำเนินงานได้ต่อไป ซึ่งปัจจุบันช่างทอผ้าในพื้นที่บ้านโนนกอกกว่า 300 ชีวิต สามารถลืมตาอ้าปากได้ด้วยน้ำพระทัยของพระองค์ท่าน ทำให้ปัจจุบันทุกคนที่เคยไม่มีอาชีพสามารถระบุอาชีพตนเองได้แล้วว่าเป็น “ช่างทอผ้า” มียอดสั่งและจำหน่ายผ้าบ้านโนนกอกในปี 2564 จำนวนกว่า 46 ล้านบาท จนทุกวันนี้มีงานทุกวัน เรียกได้ว่า “ประสบปัญหาทอผ้าไม่ทัน” จากกี่ที่เคยเงียบสงัด กลายเป็นความมั่นคงในชีวิตของชาวบ้านทุกด้านทุกฝ่าย ซึ่งพวกเราทุกคนขอเทิดทูนพระองค์ท่านไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม และจะน้อมนำพระดำริที่พระองค์พระราชทานให้กับพวกเรา มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว มาเป็นเครื่องมือปฏิบัติ เพื่อทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” ผู้ใหญ่บ้านโนนกอก กล่าวเพิ่มเติม

Leave a Reply