เยือน เมืองผลไม้  ถิ่นพระเจ้าตากรวมญาติกู้ชาติ : สัมผัสวิถีชีวิตชาว โคก หนอง นา

          “ขอให้ไปพูดคุยกับคนของกรมการพัฒนาชุมชนที่อยู่ตามแนวชายแดน ถิ่นทุรกันดาร ด้วย ไปดูการเป็นอยู่ วิถีชีวิตและการทำงานของพวกเขา พวกเขาเหล่านี้คือผู้ปิดทองหลังพระ โคก หนอง นา ประชาชนให้ความสนใจกันมาก เกิดจากการทุ่มเทการทำงานของคนกรมการพัฒนาชุมชนทั้งนั้น  เพื่อการอยู่ดี มีสุข ของประชาชน ช่วยไปดูและเขียนให้ประชาชนได้รับทราบตามความเป็นจริงหน่อย..”

          “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทยแนะนำการลงพื้นที่ให้ทีมงาน พร้อมกับเปิดเผยต่ออีกว่า การขับเคลื่อนโครงการ โคก หนอง นา ยังคงดำเนินต่อไป แม้ตนเองจะไปรับตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้วก็ตามที

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

         “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” เดิมตั้งใจจะไปอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก แต่เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ถนนขาด น้ำท่วมฉับพลันจึงเบี่ยงเข็มไปยังจังหวัดที่ติดกับประเทศกัมพูชา คือ จังหวัดจันทบุรี แทน

          “จังหวัดจันทบุรี” เป็นจังหวัดทางชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย สภาพภูมิประเทศประกอบไปด้วยป่าไม้ ภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบลุ่มน้ำ และที่ราบชายฝั่งทะเล ในส่วนของพื้นที่ป่าไม้มีประมาณ 3 ใน 10 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด เป็นจังหวัดที่มียอดเขาสูงสุดในภาคตะวันออก คือ เขาสอยดาว มีความสูง 1,675 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดจันทบุรีอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดโดยอาชีพที่ประชากรในจังหวัดนิยมประกอบอาชีพมากที่สุดคือเกษตรกรรมและประมง  แบ่งการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ 76 ตำบล 731 หมู่บ้าน การเดินทางใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร

         “ทีมงานข่าวเฉพาะกิจ”  ติดต่อขอความร่วมมือจากพัฒนาการจังหวัดว่า ขอลงพื้นที่ 2 อำเภอที่ติดกับชายแดน คือ อำเภอโป่งน้ำร้อน และ อำเภอสอยดาว ซึ่งคิดว่าน่าจะทุรกันดาร เพื่อไปพูดคุยกับคนของกรมการพัฒนาชุมชน และผู้ร่วมทำโคกหนองนา คิดเห็นอย่างไร

        การลงพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อนติดขัดเล็กน้อยหลังจากเกิดการผิดพลาด การประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่พัฒนาการชุมชนจังหวัดกับเจ้าหน้าที่พัฒนาการชุมชนอำเภอ เพราะทีมงานได้รับโทรศัพท์ จาก นพต.หรือ นักพัฒนาการพื้นที่ต้นแบบ คนหนึ่งว่า

        “ทุกแปลงขุดของโคก หนอง นา  มีอะไรให้ถามผม ทุกจุดผมรู้หมด ”

        ทีมงานพยายามต่อรองนโยบายของอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ที่ต้องการให้ พูดคุยกับคนของกรมการพัฒนาชุมชนระดับผู้ปฎิบัติการหรือพัฒนาการอำเภอ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานและสื่อสารให้สังคมภายนอกได้รับรู้ สุดท้าย นพต. คนเดิมบอกว่า

       “ถ้าอย่างนั้นคุณก็ไปหาคนของกรมการพัฒนาชุมชนเอาเอง”

         ทีมงานลงพื้นที่ 20 กว่าจังหวัดทั่วประเทศ ครั้งนี้ครั้งแรกที่เจอเหตุการณ์ประหลาดแบบนี้ การลงพื้นที่ลังเลและหวาดหวั่นเล็กน้อย   แต่สุดท้าย “ตัดสินใจไป”

ตลอดเส้นทางไปสู่อำเภอโป่งน้ำร้อน และ อำเภอสอยดาว สองข้างทางเต็มไปด้วยสวนลำใยที่กำลังออกผลและออกดอกเต็มสะพรั่ง สลับกับโรงงานคนต่างด้าวที่เราคุ้นเคยกับคำว่า “ล้งจีน” ในขณะที่เวลาขับรถเส้นในหมู่บ้านจะมีสวนทุเรียนเป็นหย่อม ๆ

        “ที่ดินตรงนี้เป็นที่ดิน สปก. มีทั้งหมด 48 ไร่ เดิมปลูกลำไยไว้ทั้งหมด ตอนนี้ดูแล้วลำไยไปไม่รอด เห็นไหมตอนนี้ลำไยเต็มต้น เชื้อราเริ่มลง เริ่มเน่า ราคาตกต่ำถูกกำหนดด้วยผู้ค้าจีนหมด ทำแล้วไม่เหลือ ในอดีตมิใช่แบบนี้

         เมื่อกรมการพัฒนาชุมชนท่านชวนให้ทำโคกหนองนา ก็เลยตัดไปประมาณ 3 ไร่ ทำโคกหนองนา ตอนนี้ขุดสระเรียบร้อยแล้ว ต้นไม้ลงแล้ว ส่วนใหญ่เป็นไม้เศรษฐกิจ อยากทำพืชแบบผสมผสานหาเลี้ยงครอบครัว ปลูกผักปลอดสารพิษ..”   เอก ประดิษฐ์ ชาวอำเภอโป่งน้ำร้อนในวัย 48 ปี เล่าให้ทีมงานฟัง

เอก ประดิษฐ์

        ที่ดินของเอก ตั้งอยู่บนภูมิประเทศเป็นเนิน การขุดสระและคลองไส้ไก่ ค่อนข้างได้มาตรฐานสวยงาม ตอนที่ทีมงานไปเดินดูมีต้นปอเทืองกำลังงอกเต็มพื้นที่

        “เอก” บอกความคาดหวังในอนาคตว่า “นอกจากได้กินอาหารปลอดสารพิษแล้ว สิ่งหนึ่งที่อยากให้กรมการพัฒนาชุมชนเข้ามาดูแล คือ ช่องทางการตลาดผักอินทรีย์ปลอดสารพิษ ตรงนี้จะทำอย่างไร ให้คนทำโคกหนองนา มีรายได้จากตรงนี้เลี้ยงครอบครัวได้.”

        ในขณะที่ “ดรุณี อำลอย” พัฒนาการอำเภอโป่งน้ำร้อน ซึ่งตามลงไปในพื้นที่กับทีมงานด้วย ได้บอกกับทีมงานว่า ที่โป่งน้ำร้อนมีคนเข้าร่วมโครงการโคกหนองนาทั้งหมด 53 แปลง มีทั้งขนาด 1 ไร่และ 3 ไร่ส่วนใหญ่ที่ดินเป็น สปก.

        “ ตอนแรกเรามีปัญหาเรื่องแบบมาก ต้องโทรปรึกษากับอาจารย์ รักษ์เผ่า พลรัตน์ ที่ปรึกษาบ่อย ๆ  เนื่องจากพวกเราคนของกรมการพัฒนาชุมชนไม่รู้เรื่องการขุดสระ ดูแบบ วัดที่ดิน ปริมาณดินที่ขุด เราไม่รู้เรื่อง ท่านจะให้ความรู้กับเราตรงนี้ได้ เวลาช่างท้องถิ่นเขามาถามเรา ส่วนผู้รับเหมาที่นี่มี 2 ราย ไม่มีปัญหาเรื่องการขุด  ผู้รับเหมาที่นี่เป็นคนท้องถิ่น ช่วยกันมากกว่าจะคำนึงถึงรายได้..”

        เมื่อทีมงานถามถึงการยกเลิกของประชาชน “ดรุณี” บอกว่า เราในฐานะหน่วยงานรัฐ เมื่อประชาชนขอยกเลิก เราก็ไปทำอะไรเขาไม่ได้ แต่เราต้องให้เขาเขียนคำแจ้งความประสงค์ยกเลิกแปลง เพื่อรายงานผู้บังคับบัญชา ส่วนหน้าที่เราคือ ต้องหาแปลงใหม่เข้ามาสวมแทน บางคนยกเลิก เพราะบางแปลงมีต้นไม้เยอะ ทุเรียนราคาดีก็อาจเสียดาย ไม่อยากโค่น จึงขอยกเลิก

ดรุณี อำลอย พัฒนาการอำเภอโป่งน้ำร้อน

        “เรื่องโคกหนองนา กรมพัฒนาชุมชนทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกันมาก็เยอะแล้วหลายปีแล้วแต่มันไม่ค่อยเป็นรูปธรรม ปัญหาการทำงานทุกงานย่อมมีปัญหาแต่เราต้องตั้งสติว่าเราต้องแก้ปัญหายังไง บางทีงานของพช. มันมีภาคี เราทำงานเราช่วยเหลือคนไว้เยอะแล้วทีนี้เขาเห็นเราตั้งใจเขาก็มาช่วยเรา อำเภอโป่งน้ำร้อนเรามีภาคี และเขามาช่วยตรงนี้ได้เยอะ

       อย่าง นพต.(นักพื้นที่ต้นแบบ) ของเรามี 10 คน ก็ช่วยงานเราได้เยอะ  เราไม่จ้างเขามาอยู่ฟรี ๆสะบาย ๆ แต่ให้เขามาช่วยโคกหนองนา แล้วน้อง ๆได้ใจเจ้าของแปลงทุกแปลง เพราะน้อง ๆ ลุยเต็มที่ ฝนตกแดดออกเขาก็ทน บางคนลงไปดูแปลงโดนหินบาดแก้วบาดเขาก็ยังอดทน..

         และเรื่องสุดท้าย หากเป็นไปได้อยากให้ทางผู้บริหารกรมจัดสรรเรื่องป้ายแต่ละแปลงให้เจ้าของแปลงโคกหนองนาด้วย เพราะตรงนี้มันคือการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกรมของเรา ”

         ที่อำเภอสอยดาวทีมงานได้คุยกับ  “แซม” อภิวัฒน์ พรหมรินทร์  ผู้เข้าร่วมสมัครโครงการโคกหนองนาบนเนื้อที่ 3 ไร่ ซึ่งพื้นที่แบ่งเป็นสัดส่วนดูสวยงาม มีสระน้ำ 2 สระที่มีปลาหลากหลายชนิดมีนาข้าว และปลูกพืชผักแบบผสมผสานไว้หลายชนิดล้วนเป็นพืชผักสวนครัว ในขณะที่มีต้นไม้เศรษฐกิจแซมอยู่ข้าง ๆ หลายต้น

อภิวัฒน์ พรหมรินทร์ (แซม)

         “ แซม” บอกว่า เดิมทำงานประจำ หลังจากออกมาก็ทำเกษตร ปลูกยางพารา ลำไย บนพื้นที่ 17 ไร่ ใช้เคมีตลอด  ใช้ทุนเยอะ ได้ไม่คุ้มเสีย ตอนหลังไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ก็ปรับลดสารเคมีลง อย่างยางพารานี่ ใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง สารเคมีล้วน ๆ ตอนหลังปรับลด ตอนนี้เป็นแบบผสมผสาน ซึ่งอนาคตลดลงแน่นอน สวนลำไย ต้องมีบ้างพวกสารเร่งดอก แต่อนาคตคิดว่าจะโค่นทิ้งแล้ว เพิ่มเป็นปลูกผักผสมผสานคุ้มกว่าเยอะ

           แซมและภรรยาพาเราเดินดูรอบ ๆ บริเวณบ้านซึ่งเลี้ยงเป็ดเอาไว้ รวมทั้งมีการเลี้ยงจิ้งหรีดและไส้เดือนไว้เป็นรายได้เสริม

         อย่างจิ้งหรีดนี้ ตอนนี้ขายอยู่กิโลกรัมละ 100 บาท หากฟักตัวแล้ว 40-45 วันก็นำออกขายได้ ส่วนไส้เดือนขายมูลเขาประมาณ 30-35 บาท ตรงนี้รายได้เดือนหนึ่งรวมทั้งผักที่ปลอดสารพิษด้วยก็ตกประมาณ 15,000 -20,000 บาท  ไม่นับรายได้จากสวนยาพาราที่กรีดเองกับภรรยามีประมาณ 800 ต้นและผลลำไย

          เรื่องโคกหนองนานี้ในมุมมองของผม ผมว่ามันตอบโจทย์มากเลยครับ ก็คือมันตอบโจทย์ได้ทุกอย่างในนี้ที่ว่าอนาคตมันพึ่งพากันได้หมดแน่ ถ้าจะให้ผมอยู่ก็คือ ผมว่าผมอยู่ได้ก็พึ่งพาอาศัยข้างนอกน้อยที่สุด ก็คือเรามีข้าว มีปลา ไข่เป็ดเราก็มี แล้วอาหารเป็ดเราก็มี เรื่องปุ๋ยเรา ผสมกับอาหารที่เราซื้อมาครึ่งต่อครึ่งเพื่อลดต้นทุน ต่อไปถ้าเราลดเรื่องอาหารที่เราซื้อมาเนี่ย ผมว่าเรามีข้าวแล้ว ถ้าเราสีข้าวเองก็จะมีรำมาผสม เราก็สามารถลดต้นทุนได้เยอะเลย 80-90 % แล้ว  ซึ่งอนาคตวาดฝันไว้ว่าจะทำเป็นศูนย์เรียนรู้ให้คนในชุมชนแถวนี้มาศึกษา แต่ตอนนี้เราต้องทำให้เขาเห็นว่า การปลูกผักปลอดสารพิษทำอย่างไร น้ำในสระไม่ให้มีสารพิษเจือปนต้องจัดการอย่างไร..”

         ในขณะที่ “นักพัฒนาชุมชน” อย่าง น.ส.สุภัค  พันธุ์เสนาะ ซึ่งเริ่มเข้ามาเป็นครอบครัวของกรมการพัฒนาชุมชน จากการเป็น นพต. หรือนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ หลังจากกรมการพัฒนาชุมชนเปิดสอบจึงสอบเป็นนักพัฒนาชุมชน ซึ่งได้ทำหน้าที่มาดูแลแปลงโคกหนองนาในอำเภอสอยดาวซึ่งมีทั้งหมด 51 แปลง ทั้งขนาด 3 ไร่และ 1 ไร่

น.ส.สุภัค  พันธุ์เสนาะ

       “ จบปริญญาตรีภูมิศาสตร์ สาขาพัฒนาเพื่อการจัดการทรัพยากร จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อสอบได้ทางจังหวัดก็ส่งมาดูแลที่นี่ ปัญหาหลักที่เจอคือ คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจคำว่าโคกหนองนา เราพูดเป็นทฤษฎีบางทีเขาไม่เชื่อก็ต้องพามาดูแปลงคนที่ทำแล้วประสบความสำเร็จอย่างพี่แซมนี้ ให้เขาดูเป็นตัวอย่างลงมือจริงทำให้เห็นจริง ชาวบ้านจึงยอมรับ   เรื่องที่สองก็เป็นเรื่องแบบแปลนของสระ บางแบบที่กรมกำหนดมาไม่ตรงกับภูมิศาสตร์พื้นที่อันนี้ก็ต้องปรับ อย่างของพี่แซมนี้ลึก 14 เมตรเลย ที่อำเภอสอยดาวนี้ที่ดินมันจะมี 3 ประเภทคือ ดินเหนียว  ดินร่วนปนทราย และก็ดินทราย..นอกนั้นก็อาจมีปัญหาเรื่องเบิกจ่ายช้า เพราะมันต้องผ่านขบวนการตรวจสอบเยอะ ”

       เมื่อทีมงานถามถึงการทำงานร่วมกับชาวบ้านยากลำบากหรือไม่ เพราะกรมการพัฒนาชุมชนไม่มีความรู้เรื่องโคกหนองนา ซ้ำช่างที่ดูแบบ ควบคุมการขุดก็ไม่มี เธอบอกว่า

        “ไม่ยากนะคะ คือเหมือนเราคุยกันเราให้ใจกับเขา เขาก็ให้ใจกับเรา ถามว่าเหนื่อยไหม มันก็เหนื่อยแต่ก็สนุก เป็นความรู้ใหม่ ๆ แลกเปลี่ยน เราอาจจะรู้เรื่องทฤษฎีเยอะ แต่เขาอาจจะรู้ในการปฏิบัติ เราสามารถเอามาแลกเปลี่ยนแนะนำกันได้  การทำงานตรงนี้ บางคนอาจมองว่ามันเป็นงานที่เหนื่อยที่ลำบาก ต้องการไปทำงานที่ดี ๆ ในห้องแอร์ ทำงานเอกสาร เงินเดือนสูง ๆ แต่การทำงานแบบนั้นมันต้องเจอกับภาวะกดดันจากทั้งงานทั้งคนรอบข้างทั้งเพื่อนร่วมงาน คือทุกสิ่งทุกอย่างเลย แต่พอมาอยู่ตรงนี้รู้สึกผ่อนคลายเหนื่อยก็จริงแต่พอเราพักก็หาย  ไม่เครียด แต่สุขด้วย..”

          การลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อไปดูความสำเร็จและรับฟังปัญหาของชาวบ้าน รวมทั้งไปฟังเสียงสะท้อนของเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน ผู้ปิดทองหลังพระให้โครงการนี้ขับเคลื่อนไปด้วยความราบรื่น ท่ามกลางความต้องการและความคาดหวังของชาวบ้านรวมทั้งเป้าหมายของผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

        ในขณะเดียวกันโครงการโคกหนองนา นอกจากต้องผ่านระบบการใช้งบประมาณจากหน่วยงานในท้องถิ่นและชาวบ้านแล้ว ยังต้องผ่านระบบการตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) อย่างเข้มข้น

          การลงพื้นที่แบบนี้จึงเห็นภาพเจ้าหน้าที่ของกรมการพัฒนาชุมชนส่วนใหญ่ทุ่มเทกับการรับใช้ประชาชนและระมัดระวังในการใช้งบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง จึงไม่แปลกใจที่ปีงบประมาณที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 ได้ถึง 6 รางวัลซึ่งเป็นหน่วยงานแรกและหน่วยงานเดียวของกระทรวงมหาดไทย ด้วยความตั้งใจและทุ่มเทการทำงานของคนกรมการพัฒนาชุมชนในการทำงานรับใช้ประชาชน ผู้เป็นเจ้าของภาษีที่แท้จริง!!

      

Leave a Reply