ปลัด มท. เปิดอบรม “หลักสูตร P-CAST” เน้นย้ำ “สามัคคีคือพลัง ทำงานเป็นทีม บูรณาการ 7 ภาคีเครือข่ายร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคมไทย  ด้าน “เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี” เข้าร่วมอบรมด้วย

วันที่ 22 พ.ค. 66   เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม War room ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารระดับสูง กระทรวงมหาดไทย หลักสูตร “ผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ระดับจังหวัด 76 จังหวัด พร้อมบรรยายพิเศษเรื่อง “ทำไมต้อง P-CAST (Province Change Agent for Strategic Transformation)” โดยมี รศ.สุตเขตต์ นาคะเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ผู้แทนกรม ร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดและภาคีเครือข่าย ร่วมรับฟังจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า ขอกราบนมัสการขอบพระคุณพระคุณท่านทุกรูปที่เป็นภาคีเครือข่ายมาร่วมรับการอบรมของกระทรวงมหาดไทย และขอขอบคุณคณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งภาคีเครือข่ายวิชาการ ซึ่งวันนี้มี รศ.สุตเขตต์ นาคะเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะอาจารย์จากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รวม 84 ท่าน ผู้มีหัวใจที่รุกรบ แสดงออกถึงแรงปรารถนา (Passion) อย่างสุดซึ่งในการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย ที่ให้เกียรติร่วมรับฟังการอบรมพร้อมกับผู้เข้ารับการอบรมทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และตนรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นภาพบรรยากาศครึกครื้นของพวกเราที่เข้ารับการอบรมอย่างพร้อมเพรียงกัน

“ปัจจุบันเราอยู่ในโลกของการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง อันนับเป็นความท้าทายสำคัญของประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่ทว่าก็เป็นโชคดีของพวกเราทุกคนที่เมื่อปี พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทาน ส.ค.ส. ให้แก่ประชาชนไทย มีภาพแผนที่ประเทศไทยที่รอบ ๆ มีระเบิดอยู่ 4 ลูก มีความหมายว่าประเทศไทยอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงของภัยพิบัติธรรมชาติ โรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ และสงคราม และใน ส.ค.ส. พระราชทาน ได้เขียนตัวอักษรบนแผนที่ประเทศไทย “สามัคคีเป็นพลัง ค้ำจุนแผ่นดืนไทย” ซึ่งพระองค์ท่านทรงเตือนสติพวกเราประชาชนชาวไทยมากว่า 19 ปีแล้ว และพบว่าหลายปีผ่านไปประเทศไทยก็ได้เผชิญปัญหาดังกล่าวมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยสภาวะโลกร้อน สถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรน่า 19 วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง หรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมไปถึงความขัดแย้งทางสังคมของผู้เห็นต่าง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพและทางโครงสร้างของสังคม ทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน และด้วยพระปรีชาญาณและพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านที่ทรงเตือนให้พวกเราไม่ประมาท หรือเรียกว่า “แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์” โดยพระราชทานหลักการพึ่งพาตนเอง 100% ครอบคลุมปัจจัย 4 ของชีวิต ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ที่มีมากกว่า 40 ทฤษฎี 4,741 โครงการ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่และพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่สิ่งที่เรียกว่า “โคก หนอง นา” แต่สิ่งที่สำคัญของการฝ่าวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้ตามที่พระราชทานมานั้น คือ “หลักความสามัคคี” การทำงานร่วมกับคนอื่น รวมถึงภาคีเครือข่าย ตามหลัก “บวร” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการประสบความสำเร็จที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) เป้าหมายที่ 17 คือ การเป็นหุ้นส่วน (Partnership) โดยกระทรวงมหาดไทยได้พยายามขับเคลื่อนพลังภาคีเครือข่ายร่วมกับองค์การสหประชาชาติ มหาวิทยาลัย รวมทั้งมหาเถรสมาคม โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้โปรดเมตตาประทาน 2 สมเด็จพระราชาคณะผู้เป็นหลักชัย ได้แก่ ฝ่ายสาธารณูปการ โดย  เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ โดย เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เพื่อรวมพลังของวัดที่เคยเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยในอดีต ให้ดำรงคงอยู่เป็นสถานที่ที่สะอาด เป็นสัปปายะสถาน ศูนย์กลางสรรพวิทยา คือ เป็นครู คลัง ช่าง หมอ และเป็นกำลังสำคัญร่วมกับทางราชการในการช่วยสงเคราะห์ประชาชน สนองพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ปลัด มท. กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เน้นย้ำว่า “ความสำเร็จอย่างยั่งยืน จะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบจาก Partnership ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย” ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการ Change for Good ทำสิ่งที่ดี ให้กับพี่น้องประชาชน จึงเป็นที่มาของการจัดอบรมหลักสูตรนี้ให้กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ให้ได้มาใช้ชีวิตร่วมกับภาคีเครือข่าย ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ โครงการอำเภอนำร่อง มาสู่ อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน การอบรมอธิบดี รองอธิบดี กระทรวงมหาดไทย และล่าสุด คือ การอบรมผู้ตรวจราชการกระทรวง กรม กระทรวงมหาดไทย และในวันนี้ คือ “โครงการอบรมผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และทีมจังหวัด” โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ ทำให้ทุกท่านเป็นผู้ผลักดันร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการสร้างทีมภาคีเครือข่ายอย่างจริงจัง และช่วยผลักดันให้นายอำเภอในพื้นที่ทำงานอย่างเป็นทีม มีเป้าหมายสูงสุดคือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้พี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน มีปัจจัยสำคัญ คือ “คนที่มาจากทุกภาคส่วน” ซึ่งเป็นทีมที่เต็มพร้อมไปด้วยใจปรารถนา (Passion) ที่จะทำเพื่อพี่น้องประชาชน เพื่อส่วนรวมให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน พวกเราชาวมหาดไทยทุกคนจึงต้องทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแม่เหล็กและโซ่ข้อกลาง ที่จะนำภาคีเครือข่ายไปลงพื้นที่เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งลำดับแรกคือ “การคัดเลือกคน คัดเลือกทีม” ให้เหมาะสมกับงาน และเมื่อได้ทีมแล้ว ร่วมด้วยช่วยกันทำ 4 ประการ ได้แก่ 1) “ร่วมพูดคุย” ที่ต้องเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอและยาวนานต่อเนื่อง โดยมีวาระกำหนดการอย่างชัดเจน เช่น การประชุมเป็นประจำทุกเดือน 2) “ร่วมคิด” ต้องมีเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนที่มาร่วมได้พูดคุยแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ มีเป้าหมายเพื่อพี่น้องประชาชน 3) “ร่วมทำ” ทุกคนที่ประชุมหารือ ต้องช่วยกันทำ แบ่งงานกันทำ และ 4) “ร่วมรับประโยชน์” ร่วมรับความสุขใจที่ได้ทำเพื่อส่วนรวม และร่วมรับความเจริญที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่” เพราะ “คน (Human)” เป็นปัจจัยสำคัญ Key success ของทุกการทำงาน ดังที่ ดร.อินาโมริ สอนว่าการมีทัศนคติที่ดี และแรงปรารถนา แม้ความรู้จะน้อยแต่มี Passion จะเป็นตัวขับเคลื่อน Attitude ให้เกิดขึ้น คือ เรายอมเหนื่อยไปเชื้อเชิญคนในพื้นที่มาเป็นทีม มีภาคีเครือข่ายมาเติมเต็มความรู้ความสามารถ ทำให้ทีมเข้มแข็งเช่นเดียวกับทุกท่านที่มาอบรมในวันนี้ เพราะทุกท่านมีทัศนคติ มีแรงปรารถนา ที่จะบำบัดทุกบำรุงสุขให้พี่น้องประชาชน และทำสิ่งที่ดี Change for Good ให้เกิดขึ้นในจังหวัดบ้านเกิดเมืองนอนและประเทศชาติ ด้วยการช่วยกันทำให้เกิดการมีส่วนร่วมดังที่ได้กล่าวไป ทั้ง 4 ประการ ซึ่งพวกเราต้องเปิดใจให้กว้างและช่วยกันมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ดังนั้นการจับมือร่วมกันบนพื้นฐานมิตรภาพในการทำสิ่งที่ดี และการเป็น Active Member ช่วยกันทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เกิดขึ้นได้ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่พวกผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยผลักดันให้เกิดขึ้นกับพวกเราชาวมหาดไทย ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาผู้เดือดร้อนที่ประสบปัญหาครัวเรือนตามค้นหาแบบพุ่งเป้า TP MAP และ ThaiQM ด้วยการทำให้คนเหล่านั้นมีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งการช่วยเหลือแบบ Quick Win หรือยาฝรั่ง เพื่อให้ผ่านพ้นไปก่อน และต้องมียาไทยที่จะช่วยให้ช่วยเหลือและพึ่งพาตัวเองได้ นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ น้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาขับเคลื่อนให้ทุกครัวเรือนทั่วประเทศเกิดหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างการพึ่งพาตนเอง ซึ่งการส่งเสริมผ้าไทยก็นับเป็นส่วนหนึ่ง เป็น Knowhow ในส่งเสริมเครื่องนุ่งห่ม เพื่อให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ในยามวิกฤต ยามเกิดภัยคุกคาม หากประชาชนมีความรู้ สามารถทำได้โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องจักร เป็นความมั่นคงด้านเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มอย่างยั่งยืน

ผู้ว่าราชการจังหวัด จึงเป็นผู้นำที่ต้องทำก่อน ด้วยการขับเคลื่อนพื้นฐานความเท่าเทียม โดยมีผู้ตามที่เป็นทีม เป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องมาอบรม P-CAST เพื่อขยายผลไปสู่หมู่บ้าน/ชุมชน ให้ครบทุกหมู่บ้าน (Village Cast) ซึ่งเราจะทำให้ทีมจังหวัดทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เป็นโค้ชลงไปให้คำแนะนำและให้กำลังใจ ก็จะเกิดความยั่งยืนในทุกครัวเรือน ขอให้ทุกท่านช่วยกันเป็นทีมที่ดีของผู้ว่าราชการจังหวัดในการพูดคุยหารือเป็นประจำ เพื่อวิเคราะห์หาแนวทางในการบำบัดทุกบำรุงสุขพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืนและท้ายที่สุดจะได้ร่วมรับประโยชน์และความสุขที่เกิดขึ้น ด้วยสมองและสองมือของพวกเรา และขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จความเจริญและใช้ชีวิตในการศึกอบรมอย่างตั้งใจเพื่อไปทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply