“ณพลเดช” หนุนพาคนเชียงรายกลับบ้าน “เปิดจุดพักคอย 2,000 เตียง” เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย พร้อมผลักดันเตรียม “พุทธมณฑล-เชียงราย” เป็นศูนย์กลาง
เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม 2564 ดร.ณพลเดช มณีลังกา ในฐานะที่ปรึกษาสมาพันธ์สมาคมส่งเสริมและพิทักษ์พระพุทธศาสนา จังหวัดเชียงราย และ อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากที่ตนเป็นชาวเชียงรายมาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็ก จากในภาวะนี้ชาวเชียงรายที่มาอยู่เมืองหลวงและเมืองใหญ่ต่างๆ หลายคนติดโควิด19 ซึ่งขณะนี้หลายคนต้องประสบปัญหาเตียงไม่พอ หลายคนป่วยหนัก บางคนถึงกับต้องมาเสียชีวิตในเมืองหลวงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตนเห็นว่าจังหวัดเชียงรายมีพื้นที่กว้างขวาง มีวัดจำนวนมาก ผนวกกับ สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เผยแพร่ประกาศสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชที่ 2/2564 เรื่อง ประทานพระดำริให้วัดที่มีศักยภาพร่วมมือกับทางราชการในการช่วยเหลือประชาชนโดยระบุเนื้อหาว่า
ด้วย สถานการณ์แพร่ระบาดของโรค ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีความรุนแรงมากขึ้นอีกระลอก ก่อให้เกิดความเดือดร้อนของประชาชนอย่างกว้างขวาง เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงติดตามข่าวสารมาโดยตลอด พร้อมประทานพระดำริ ว่า วัดหลายแห่งในประเทศไทยมีอาคารสถานที่ โรงครัว อุปกรณ์ บุคลากร หรือปัจจัยอื่นๆ ซึ่งอาจช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการบรรเทาความเดือดร้อนในด้านต่างๆ เช่น การจัดเตรียมอาหาร การตั้งโรงพยาบาลสนาม การบริจาควัตถุปัจจัย หรือการเอื้อเฟื้อพื้นที่สำหรับบริหารจัดการด้านต่างๆ ได้ จึงขอให้คณะสงฆ์และวัดที่มีศักยภาพ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตามที่ได้รับการร้องขอ ตามที่ได้ประสานความเข้าใจร่วมกันกับชุมชนแล้ว และตามกำลังความสามารถ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลด้านสาธารณสงเคราะห์ อันเป็นหนึ่งในบทบาทหน้าที่สำคัญของคณะสงฆ์ต่อไป ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านต่างๆ ของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และของทางราชการอย่างเคร่งครัด โอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช โปรดให้เชิญรับสั่งประทานพรและกำลังใจแก่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน จิตอาสา และผู้ทุ่มเทเสียสละสรรพกำลังเพื่อบำบัดบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนทุกภาคส่วน ให้ประสบสวัสดิภาพและอิ่มเอิบในกุศลจริยาซึ่งได้บำเพ็ญ อันจักเป็นพลังสร้างสรรค์ประโยชน์สุขส่วนรวมให้ทวีคูณยิ่งขึ้นในสังคมไทยสืบไป
ดร.ณพลเดช ยังกล่าวต่อไปว่า จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่า เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นห่วงประชาชนมาก ตนเห็นว่าหากย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ ยามประเทศชาติมีภัยแม้เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมานี้ ได้เกิดเหตุการณ์อหิวาตกโรคระบาดในปีมะเส็ง พ.ศ. 2424 ตรงกับสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระสงฆ์และวัดล้วนเป็นกำลังหลักที่มาช่วยแก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ จนถือเป็นเหตุให้ในอดีตวัดคือศูนย์กลางของชุมชน เนื่องด้วยวัดและพระสงฆ์ เป็นผู้มี “อัตถจริยา” ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อธรรม “สังคหวัตถุ 4” ทั้งนี้จะเห็นว่าหากเกิดโรคระบาด ประเทศชาติเกิดอุบัติภัย หรือแม้แต่ยุคที่มีภัยสงคราม พระสงฆ์ ต่างมีบทบาทอย่างมากในการแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ ดังในปรากฏในใบลานและจารึกโบราณต่างๆ ในการเข้ามามีส่วนร่วมของพระสงฆ์และวัดจนทำให้ประเทศไทยรอดพ้นภัยไปได้ทุกครั้ง ตนจึงเห็นว่าหากจะแก้ปัญหาโควิด19 โดยเริ่มจากวัดและพระสงฆ์ ผสมผสานกับยาสมุนไพรที่ประเทศไทยเรามีความพร้อมมากในยาแผนโบราณ ซึ่งสามารถนำมาช่วยเหลือประชาชนและแก้ปัญหาโควิดดังที่มีผู้ที่ติดโควิดในคุกได้ฟื้นไข้โควิด19จากฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีงานวิจัยสารแอนโดรกราโฟไลด์ หรือ AGP 1, 14-deoxy 11,12-didehydro andrographolide หรือ AGP2 ซึ่งก็จะช่วยแก้ไขไปได้ระหว่างเรารอวัคซีน สำหรับจังหวัดเชียงราย มีพื้นที่กว้างขวาง อากาศดี มีวัดวาอารามจำนวนมาก เหมาะที่จะเชิญคนเชียงรายที่ติดโควิด กลับบ้านเพื่อไปพักฟื้นซึ่งจะดีกว่าที่อยู่แออัดกันอยู่ในเมืองหลวง เมื่อกลับไปพักฟื้นหายเร็วนั่นก็คือ ผู้ป่วยจะได้วัคซีนติดตัวชั้นดีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีน ลดงบประมาณให้กับประเทศและพร้อมที่จะกลับไปเป็นกำลังให้กับประเทศชาติ เพื่อกู้พิษเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึงนี้
ดร.ณพลเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความคิดนี้ตนจึงได้ไปหารือกับ พระรัตนมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นที่น่าดีใจว่า ท่านจะนำโครงการ นำคนเชียงรายกลับบ้าน โดยประสานไปยังแต่ละอำเภอซึ่งมีทั้งหมด 18 อำเภอ โดยเบื้องต้นมีข้อกำหนดว่าให้เจ้าคณะอำเภอรับผิดชอบในแต่ละอำเภอให้สามารถรองรับจุดพักคอยจำนวน 100 เตียงต่ออำเภอ ซึ่งหมายความว่าจะสามารถรองรับได้ทั้งหมด 1,800 เตียง ตนจึงขอเพิ่มเติมอีก 200 เตียงโดยจัดตั้งที่พุทธมณฑลจังหวัดเชียงรายเพื่อเป็นศูนยกลาง ซึ่งหมายความว่าจังหวัดเชียงรายจะสามารถรองรับผู้ป่วยที่กลับไปบ้านเพื่อพักฟื้นที่จุดพักคอยได้ถึง 2,000 เตียง ตนจึงขออนุโมทนากับ พระรัตนมุนี ที่เอื้อเฟื้อและจะเริ่มโครงการในทันที และตนเห็นว่าทุกจังหวัดควรพลักดันให้วัดเป็นจุดพักคอยดังเช่นจังหวัดเชียงราย โดยนำวัดและพระสงฆ์มาช่วยกันสนับสนุน
“สิ่งนี้จะเป็นคุณูปการ,คุโณปการต่อประเทศชาติ และเป็นกุศลใหญ่เป็นผลต่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตนหากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงมีพระชนชีพอยู่ พระองค์คงลงมาช่วยด้วยตัวของพระองค์เอง ดังมีปรากฎในพุทธประวัติในเรื่องที่ พระอานนท์และพระพุทธเจ้าทรงพยาบาลภิกษุอาพาธ ทั้งนี้พระองค์ทรงกำหนดบทบัญญัติอาบัติทุกกฏ ในกรณีไม่พยาบาลภิกษุป่วยอีกด้วย” ดร.ณพลเดช กล่าว
Leave a Reply